xs
xsm
sm
md
lg

"ปู-ปลอด"โวเอาอยู่ กทม.เฝ้า4จุดเสี่ยงท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลยันเดินหน้าซ้อมปล่อยน้ำเข้ากรุงฝั่งตะวันออกวันนี้ แม้จะมีฝนตก เทศบาลนครรังสิต ประกาศให้ชาวบ้านริมคลองยกของขึ้นที่สูง หวั่นได้รับผลกระทบ "ปู-ปลอด"เจ้าเก่า โวปีนี้เอาอยู่ กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วมแน่ หลังผลซ้อมปล่อยน้ำผ่านฉลุย ด้านเพื่อไทยกับกทม. จวกกันเละ ซัดอีกฝ่ายวางยา "สุขุมพันธุ์"ประกาศ 13 พื้นที่เฝ้าระวัง 4 จุดเสี่ยงท่วม ส่วนฝนถล่มกรุง ทำจราจรอัมพาตกว่า 6 ชั่วโมง ขณะที่ระนอง สระแก้ว พิจิตร เริ่มเจอน้ำทะลักแล้ว

จากกรณีที่รัฐบาลได้ทดสอบเปิดน้ำเข้ากรุงเทพฯ โดยได้ปล่อยน้ำมาจากเขื่อนขุนด่านปราการชล มาตามคลองระพีพัฒน์ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อให้น้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลาวานนี้ (6 ก.ย.) พบว่าน้ำในคลองรังสิตได้ทยอยเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติ โดยเฉพาะศาลาเจ้าปุนเถ้ากง ปากคลองหนึ่ง น้ำได้ท่วมลานหน้าศาลเจ้าแล้ว

นายเดชา กลิ่นกุสุม รองนายกเทศบาลนครรังสิต ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เทศบาล ออกประกาศให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ริมคลองให้เก็บข้าวของขึ้นที่สูงไว้ก่อน เนื่องจากขณะนี้ ฝนได้ตกลงมาทั้งวันทั้งคืน ทำให้น้ำในคลองรังสิต ได้เพิ่มสูงขึ้น อาจจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จากทางกรมชลประทานปล่อยลงมาเพิ่มขึ้นมาอีก และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ระดับน้ำสูงเท่าในคลองรังสิต ถ้ายังมีการปล่อยน้ำมากขึ้น จะทำให้ชาวบ้านที่อยู่ริมคลองเดือดร้อน จึงขอให้ทางชลประทานคอยดูระดับน้ำด้วย ทั้งนี้ ยังพบว่า คนในชุมชนบางบัว-บางเขน ก็กังวลต่อการทดสอบน้ำเช่นเดียวกัน

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ในฐานะผู้รับผิดชอบนำน้ำเข้าระบบทดสอบของ กทม.ฝั่งตะวันออก ในวันที่ 7 ก.ย. กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มนำน้ำเข้ามาจากคลองรังสิต มาเข้าประตูน้ำคลองสองสายใต้ ย่านสายไหม ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำหน้าประตู 1.2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยที่ตกลงไว้กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต้องการปริมาณน้ำเข้าระบบในระดับหน้าประตู 1.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อให้มีปริมาณน้ำวิ่งเข้าคลองลาดพร้าวในระดับ 3-4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เป็นระดับที่ กบอ.และกทม.ต้องการทดสอบระบบการระบายที่เพิ่มอุปกรณ์ใช้เครื่องผลักดันน้ำ ไล่น้ำเข้าอุโมงค์ระบายน้ำลงคลองแสนแสบ ตรงจุดนี้ เป็นปัญหาในการระบายน้ำออกทะเลในปี 2554 เพราะเปิดประตูระบายน้ำแล้ว แต่น้ำไม่ไหลเข้ามาลงอุโมงค์

โดยการทดสอบครั้งนี้ ต้องการผลจากเครื่องผลัดกันน้ำติดตั้งตลอดแนวคลองลาดพร้าวและคลองบางเขนมีทั้งหมด 19 เครื่อง โดยกรมชลฯ ได้ติดตั้งเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำเรียกว่า “ริเวอร์แค็ทหรือแมวน้ำ” จำนวน 2 เครื่องหน้าประตูและท้ายประตู เป็นระบบยิงเลเซอร์ลงถึงระดับผิวดินก้นคลอง ต้องการวัดอัตราและกระแสการไหลของน้ำแท้จริงได้ทันที โดยเครื่องรายงานตลอดเวลา ซึ่งจะได้ผลแม่นยำของระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อนำมาปรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ส่วนจะมีผลกระทบต่อพื้นที่หรือไม่นั้น คาดว่าไม่น่าเกิดขึ้น เพราะระดับน้ำในลำน้ำขณะนี้อยู่ต่ำกว่าตลิ่งเกินเมตร รวมทั้งระดับน้ำที่ปล่อยเข้าเพียง 3 ลบม. ต่อวินาที จะไม่ทำให้เกิดปัญหาล้นคลองแน่นอน อย่างไรก็ตาม กรณีฝนตก เป็นหน้าที่ของ กบอ. กับ กทม. ร่วมกันพิจารณาตัดสินใจอย่างไร ซึ่งกรมชลฯ มีหน้าที่นำน้ำเข้าระบบตามที่ กบอ.ต้องการเท่านั้น

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ กบอ. กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 6 ก.ย. พื้นที่กรุงเทพฯ ได้เกิดฝนตกหนัก ต่อเนื่องจนถึงช่วงเย็น จนกระทั่งหลายฝ่ายเกรงว่าปริมาณฝนจะทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการทดสอบระบายน้ำในวันนี้ (7 ก.ย.) ยืนยันว่า การทดสอบระบายน้ำจะยังคงเดินหน้าต่อ แม้ในช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.ย. จะยังมีฝนในช่วงเช้า แต่ปริมาณฝนจะไม่มากเท่าวันที่ 6 ก.ย. โดยฝนจะตกในพื้นที่กทม. เขตหนอกจอก คลองสามวา และมีนบุรี เป็นหลัก

ทั้งนี้ ฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำหลังประตูน้ำคลองสองสายใต้ ซึ่งเป็นจุดกำหนดปล่อยน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันออกในวันที่ 7 ก.ย. เพิ่มสูงขึ้น แต่น้ำดังกล่าวสามารถระบายออกได้จากการเปิดประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ตลอดจนการใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำออกได้ทัน โดยใช้เวลาไม่นาน

"โจทย์ของการระบายน้ำในฝั่งตะวันออกที่ดูเหมือนว่าจะยากกว่าฝั่งตะวันตก เนื่องจากพบปัญหาการรุกล้ำเข้าอยู่อาศัยของประชาชน แต่ด้วยสภาพคลองลาดพร้าว ที่มีคลองสำรองขนาดใหญ่อย่างคลองบางเขน และคลองบางบัว ช่วยในการแบ่งน้ำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคลองสำรองฝั่งตะวันตก อย่างคลองแวก และคลองบางไผ่ ที่มีขนาดเล็กกว่า" ดร.รอยลอธิบาย

**“ปู”มั่นใจน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายสุวัฒนา จิตตลดากร คณะอนุกรรมการแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ วิพากษ์วิจารณ์ว่าปฏิบัติการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำของรัฐบาลนั้น ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากน้ำที่ใช้ในการทดสอบมีปริมาณที่น้อย เมื่อเทียบกับมวลน้ำในสถานการณ์จริง ว่า ขอเรียนประการแรกว่า การทดสอบการระบายน้ำ จะมีทั้งข้อห่วงใยและข้องกังวล ซึ่งในส่วนของการยอมรับ ถ้าจะทดสอบให้มากกว่านี้อาจจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำ แต่เรามีความเป็นห่วงว่าพี่น้องประชาชนจะมีความกังวล ซึ่งตัวเลขทางวิชาการกับระดับปริมาณที่เราปล่อย ถือว่าเป็นตัวเลขทางวิชาการที่รับได้ ในการที่จะสะท้อนสภาพคูคลองหรือสภาพระบบการระบายน้ำ เมื่อเทียบกับข้อมูลทางวิชาการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การมาของน้ำเมื่อเกิดอุทกภัยจะแตกต่างจากการที่รัฐบาลปล่อย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ใช่ แต่สิ่งที่เราเข้าใจมากขึ้น คือ เราสามารถไปคำนวณทางวิชาการ ประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงของพื้นที่ปลายน้ำเท่าไร ก็จะต้องไปดูตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างที่ผ่านมา น้ำเต็มเขื่อนและเราไม่สามารถที่จะระบายไปได้ อย่างวันนี้เราสามารถที่จะคำนวณย้อนไปว่า ถ้าน้ำอยู่บริเวณไหนต้นน้ำหรือกลางน้ำ เราจะต้องเริ่มปล่อยน้ำอย่างไร ก็เป็นข้อหนึ่งที่เราจะนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงเรื่องของการระบายน้ำตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อเป็นการเตรียมตัว

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การทดสอบการระบายน้ำเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม การทดสอบยังเหลือในพื้นที่ของฝั่งตะวันออกที่จะต้องทดสอบในวันที่ 7 ก.ย.นี้ อีกครั้ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้ให้ทางคณะอนุกรรมการ กบอ.ที่นำโดย ดร.รอยล จิตรดอน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ประเมิน ซึ่งถ้ามีปัญหาเราก็พร้อมที่จะหยุดการทดสอบ เพราะฉะนั้นขอเรียนให้ประชาชนสบายใจว่าทุกอย่างเราทำด้วยความระมัดระวัง และได้สะท้อนในข้อห่วงใยของพี่น้องประชาชนทุกขั้นตอน

**“ปลอด”เจ้าเก่าก็มั่นใจ

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้สด ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า รัฐบาลมีความพร้อมก่อนทดสอบปล่อยน้ำมากน้อยแค่ไหน ทั้งการสร้างแนวคันกั้นน้ำคลองปะปา ขุดลอกคลองลาดพร้าว ประตูกั้นน้ำ 14 บาน บริเวณภาคตระวันออก คลองระพีพัฒน์ คลองรังสิต คลองหกวา ที่เสียหายมีการซ่อมแซมถึงไหน รวมทั้งบริเวณแม่น้ำบางปะกง ที่มีสถานีสูบน้ำ ได้ไปดูหรือไม่ว่ามีความพร้อมใช้งานได้ทุกรู้หรือไม่ ซึ่งในวันที่ 7 ก.ย.จะมีการปล่อยน้ำแล้ว ทั้งหลายเหล่านี้ มีความพร้อมหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ทำถือว่าเป็นแค่การตลาดและโกหกสีขาวเท่านั้น

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่จนถึงขณะนี้มีการเบิกจ่ายเพียง 900 ล้านบาทเท่านั้น และกำลังจะหมดอายุ ในวันที่ 30 มิ.ย.2556 หากครบเวลา จะต่ออายุ พ.ร.ก.ดังกล่าวอีกหรือไม่ เพราะการไม่ดำเนินโครงการ แต่ต้องนำเงินมาเก็บไว้เป็นเงินคงคลังจะต้องเสียดอกเบี้ย ปีละ 4-5 พันล้านบาท

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้แจงว่า มีความพร้อมในการเตรียมรับมือในการปล่อยน้ำฝั่งตะวันออก ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ซึ่งมีการดำเนินการทั้งระยะสั้น และระยะยาว ยืนยันว่าปีนี้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่ ซึ่งในส่วนของคันกั้นน้ำคลองปะปา ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อไม่ใช่คลองระบายน้ำ แต่ที่ผ่านมาน้ำท่วมเพราะเป็นการเอ่อล้นของน้ำ ส่วนประตูระบายน้ำ 14 บาน บอกตรงๆ ว่าไม่รู้ เพราะไม่อยากโกหก แต่เชื่อว่าน่าจะซ่อมเสร็จแล้ว ทั้งนี้ หากสมาชิกอยากรู้ตนก็จะไปสอบถามรายละเอียดมาให้อีกที ในส่วนคลองลาดพร้าว อยู่ระหว่างการขุดลอกโดยหน่วยงานทหารพัฒนา ยืนยันว่าจะสามารถทำเสร็จตามกำหนด

อย่างไรก็ตาม การทดสอบน้ำครั้งนี้ เป็นพียงการทดสอบแค่ 10-20% เพื่อนำไปคำนวณการระบายน้ำทั้งระบบ ในส่วนของพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้รัฐบาลยังไม่คิดต่ออายุ หากคิดจะต่อเมื่อไรจะบอก ซึ่งในส่วนของการกู้เงินก็พยายามหาวิธีเพื่อที่จะไม่ให้เสียดอกเบี้ย ซึ่งส่วนนี้เป็นการกู้เงินจากในประเทศ

**จวกกันเละวางยากันเอง

จากนั้นนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย ถามกระทู้สดเรื่องเดียวกันว่า วันนี้กทม. พร้อมหรือไม่กับการรับมือน้ำที่มาจากภาคเหนือ โดยเฉพาะในส่วนของอุโมงค์ยักษ์ของกทม. ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอุโมงค์ดัมมี่หรืออุโมงค์จริง จะสามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมทั้งการบริหารงานของกทม. ในการป้องกันน้ำท่วมจะสามารถทำได้หรือไม่ ที่ผ่านมา นายธีรชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรือดันน้ำไม่สามารถใช้ช่วยระบายน้ำได้ แต่มาวันนี้ กทม. โดยผู้ว่ากทม. ได้สั่งเครื่องเรือดันน้ำเข้ามาใช้งาน จึงอยากสอบถามว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ และในระยะยาวจะแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม.อย่างไร

ทั้งนี้ นายปลอดประสพ ยังได้ตอบคำถาม ของนายจิรายุ โดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมจะช่วยเหลือ กทม. ในการบริหารจัดการน้ำ เบื้องต้นได้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการ และมอบเครื่องสูบน้ำ เรือดันน้ำ เพื่อใช้ในการระบายน้ำ โดยล่าสุดได้มีการอนุมัติงบประมาณ จำนวน 300 ล้านบาท เพื่อให้ไปใช้ในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

**ฝนตก30มม.สั่งหยุดทดลอง

นายปลอดประสพ ได้กล่าวย้ำถึงการทดสอบระบบระบายน้ำพื้นที่ตะวันออกในวันที่ 7 ก.ย.ว่า เชื่อว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุจากการทดลองระบายน้ำ เพราะเจ้าหน้าที่ กทม. และกรมชลประทาน ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีฝนตกเกิน 30 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จะสั่งหยุดทันที โดยจะสามารถหยุดได้ภายใน 5 นาที ขอให้ประชาชนอย่ากังวล

***กทม.เฝ้าระวัง4 พื้นที่เสี่ยงท่วม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมกับสำนักการระบายน้ำถึงความพร้อมการระบายน้ำของกบอ. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ว่า กทม.มีมาตรการรับมือการซ้อมแผนระบายน้ำฝั่งตะวันออกในวันที่ 7 ก.ย. โดยกำหนดจุดที่เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสิ้น 13 จุด ประกอบด้วย 1.ถนนสายไหม 2 .ถนนพหลโยธิน 3.ถนนแจ้งวัฒนะและชุมชนริมคลอง 4.ถนนพหลโยธินคลองบางบัวและชุมชนริมคลอง 5.ถนนประเสริฐมนูกิจ บริเวณบ่อสูบน้ำชุมชนริมคลอง 6.ถนนเสนานิคมบริเวณบ่อสูบน้ำและชุมชนริมคลอง 7.ชุมชนริมคลองบางบัวจากถนนประเสริฐมนูกิจแยกวังหิน 8.ถนนโชคชัย 4 ซอยเสือใหญ่อุทิศและชุมชนริมคลอง 9.วัดลาดพร้าวและชุมชนริมคลอง 10.ถนนลาดพร้าวและชุมชนริมคลอง 11.ถนนลาดพร้าวม 64 และแยกสุทธิสาร 12.ถนนลาดพร้าว 80 แยก 22 และซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 26 และ13.ถนนประชาอุทิศ

ขณะที่พื้นที่เสี่ยงท่วม 4 จุด ประกอบด้วย 1.ชุมชนพัฒนาหมู่ 1 เขตสายไหม 2.ชุมชนบางบัว เขตบางเขน 3.ชุมชนวัดลาดพร้าวเขตลาดพร้าว และ4.ชุมชนตรงข้ามวัดลาดพร้าว เขตจตุจักร

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงที่มีการโจมตีในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า กทม.ลักไก่เปิดระบายน้ำก่อนที่จะมีการซ้อมจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กทม. ได้ประสานกับเจ้าหน้าหน้าที่ระดับสูงของกรมชลประทานมาตลอดว่าจะมีการซ้อมย่อยในช่วงเช้าวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งการกล่าวหาลักษณะนี้เป็นการทำลายบรรยากาศความร่วมมือระหว่าง กทม.กับรัฐบาล เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล และ กบอ. ก็ไม่เคยมาถาม กทม. แต่ไม่เป็นไร ตนถือว่าโตๆ กันแล้ว

อย่างไรก็ตาม การทดสอบระบายน้ำในวันที่ 7 ก.ย. มีข้อสังเกตว่าจะเป็นการยกภาระให้ กทม.รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวเหมือนครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น จากระบบระบายน้ำฝั่งตะวันออกในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ไม่มีการเปิดเครื่องสูบน้ำ ฉะนั้น หากจะมีการทดสอบจริง กบอ.ก็ควรจะทดสอบให้ทั่วถึงทั้งระบบ ไม่ควรเลือกปฏิบัติ

**ฝนถล่มกรุงจราจรอัมพาตกว่า6ชม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ. FM 91 คลื่นเพื่อข่าวสารความปลอดภัยและจราจร กองตำรวจสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รายงานสภาพจราจร ภายหลังจากมีฝนตกพรำ สลับกับฝนตกหนัก ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเวลา 18 ชั่วโมงต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย.2555 ว่า ถนนทุกสาย ไม่มีน้ำท่วมขัง แต่เส้นทางสายหลัก พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เวลา 06.00-12.00 น. มีสภาพจราจรติดขัดคับคั่ง เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือ ถนนวิภาวดีรังสิต จากสุทธิสาร ถึงดินแดง, พหลโยธิน จากแยกลำลูกกา ถึง แยกลาดพร้าว,รามอินทรา จากต่างระดับวงแหวนตะวันออก ถึงวงเวียนบางเขน, แจ้งวัฒนะ จากปากเกร็ด ถึงหลักสี่ ทั้งเข้า และออก, งามวงศ์วาน รัตนาธิเบศร์ รวมถึงถนนชัยพฤกษ์ เส้นทางเชื่อมต่อ ระหว่าง จังหวัดนนทบุรี กับกรุงเทพฯ , และถนนรัชดาภิเษก ส่งผลกระทบต่อเนื่องเข้าไปฝั่งธนบุรี

ขณะที่ ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ พบว่า ถนนเสรีไทย, รามคำแหง, ศรีนครินทร์, วงแหวนตะวันออก, พระราม 9, ประดิษฐ์มนูธรรม และทางด่วนพิเศษสายฉลองรัช หรือรามอินทรา-อาจณรงค์ ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักที่ประชาชน นิยมใช้เดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ติดขัดคับคั่งตลอด 6 ชั่วโมง เช่นเดียวกับ พื้นที่ใจกลางเมือง ย่านธุรกิจ อาทิ ถนนเพชรบุรี จากคลองตัน ถึงใต้ด่วนเพชรบุรี, ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม 4 จากพระโขนง ถึง สีลม สาทร ส่วนทางด่วนพิเศษขั้นที่ 1 หรือทางด่วนเฉลิมมหานคร ทั้ง 3 ทิศทาง จากดินแดง, บางนา และ ดาวคะนอง เข้ามายังใจกลางเมือง ผู้ใช้เส้นทางต่างหงุดหงิดกับปัญหารถติดที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีทางหลีกเลี่ยง ส่วนพื้นที่ ฝั่งธนบุรี ถนนจรัญสนิทวงศ์ สิรินธร บรมราชชนนี เพชรเกษม พระราม 2 ราชพฤกษ์ และถนนสุขสวัสดิ์ เส้นทางสายหลัก มีสภาพรถติดคับคั่งเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ. FM 91 ยังได้รายงาน การรับแจ้งอุบัติเหตุจราจร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงที่มีสภาพอากาศ ฝนตกพรำ สลับหนัก เช้าวันที่ 6 ก.ย. เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 49 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวน 37 คน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากฝนหยุดตก เมื่อเวลา 12.00 น. การจราจรบริเวณจุดที่คับคั่งก็เริ่มคลายตัว และเคลื่อนตัวได้ตามลำดับ

***น้ำป่าทะลักท่วมแล้ว3จังหวัด

ทางด้านสถานการณ์น้ำท่วมตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ระนอง หลังจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืนได้ทำให้เกิดน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วม ต.บางหิน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ทั้ง 5 หมู่บ้านประกอบด้วย ม.1 ,2,3,4,5 โดยน้ำป่าได้เริ่มไหลทะลักเข้าท่วม ต.บางหิน ใน 5 หมู่บ้านตั้งแต่ช่วงเช้าโดยในพื้นที่ ม. 2 บ้านบางหิน ได้รับความเสียหายมากที่สุดพบมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร

ที่ จ.สระแก้ว หลังน้ำป่าไหลจากเทือกเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เข้าสู่พื้นที่ของ อ.วังสมบูรณ์ อ.คลองหาด อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว โดยปริมาณความสูงของน้ำประมาณ 50 ซม. โดยราษฎรได้รับความเสียหายกว่า 20 หลังคาเรือน ส่วน อ.วังน้ำเย็น ที่บ้านคลองใหญ่ กว่า 10 หลังคาเรือน ต่อมากระแสน้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านตากฟ้า ต.ซับมะกรูด อ.คลองหาด โดยเข้าไปที่สำนักสงฆ์วังแก้ว ระดับน้ำสูงระดับเอว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เร่งความช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ 3 รูป ออกจากพื้นที่ เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรง

ที่ จ.พิจิตร ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชน หมู่ที่ 1 ต.วังทรายพูน โดยได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่ทางการเกษตรในเขตตำบลหนองปลาไหล
กำลังโหลดความคิดเห็น