วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 22 ปี การเสียสละชีวิตของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ที่ตัดสินใจใช้กระสุนปืนปลิดชีพตนเอง เพื่อปลุกให้คนไทยและสังคมไทย หันมาสนใจการบุกรุกทำลายป่า และทำลายชีวิตสัตว์ป่า ที่เขารักและหวงแหน แต่เกินกำลังข้าราชการเล็กๆ อย่างเขา จะปกป้องคุ้มครองสิ่งที่รักและหวงแหนเพื่อส่วนรวมได้ แม้จะทุ่มเทอย่างสุดชีวิตจิตใจแล้ว
เสียงปืนหนึ่งนัดในเช้าตรู่วันที่ 1 กันยายน 2533 จึงเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่สะเทือนใจคนทั้งโลก ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ถูกเสียงปืนนัดนั้นกระตุ้นเตือนจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า ทำให้สังคมไทยและสังคมโลกส่วนหนึ่งตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ สัตว์ป่า และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะถูกบุกรุกทำลายมากขึ้นตลอดเวลา แรงสั่นสะเทือนจากการตายของสืบ นาคะเสถียร ในครั้งนั้น ได้มีส่วนส่งผลให้ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับยกย่องเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา
วันที่ 1 กันยายน 2555 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ผืนป่าตะวันตกมรดกโลกห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และอีกหลายองค์กรหลายหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับป่า ได้จัดพิธีรำลึกโดยการวางหรีด และมีพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ดวงวิญญาณของสืบและเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากการอนุรักษ์ปกป้องผืนป่า และที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณาจารย์และนิสิตร่วมวางหรีดแสดงความอาลัย สืบนาคะเสถียรในฐานะศิษย์เก่าและผู้ที่มีบทบาทในการดูแลผืนป่า พร้อมจัดเสาวนา สืบสานวันสืบ และนิทรรศการรักษ์ป่า
วันที่ 15 - 16 กันยายน 2555 นี้ กลุ่มนักอนุรักษ์และหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับป่า จะร่วมกันจัดงานรำลึก 22 ปี สืบ นาคะเสถียร โดยมีนิทรรศการและการเสวนาในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียร ผู้เขียนขอย้อนนำประวัติชีวิตโดยย่อของเขา มาบันทึกไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความเป็นมาของนักอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย
สืบ นาคะเสถียร หรือนามเดิม สืบยศ เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2492 ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี มารดาชื่อ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยคุณสืบ เป็นบุตรชายคนโต
เข้าเรียนชั้นประถมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี ช่วงปิดเทอมว่างจากการเรียนก็จะออกไปช่วยทางบ้านเสริมแนวคันนา เพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน ทำงานกลางแจ้งทั้งวัน แม้แดดจะร้อนก็มิเคยปริปากบ่น ครั้นเรียนจบชั้นประถม 4 ต้องจากครอบครัวไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในสมัยนั้น โดยมีผลการเรียนดีมาโดยตลอด
ปี 2511-2514 เข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความตั้งใจศึกษาและเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย โดยเป็นที่ทราบกันดีระหว่างหมู่เพื่อนผู้ใกล้ชิดว่า คุณสืบ เป็นผู้มีจิตใจรักงานศิลปะสูงส่งมีมนุษยสัมพันธ์และมีระเบียบในการดำเนินชีวิตในสมัยเรียนอย่างเป็นแบบแผน
ปี 2516 เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ได้เข้าทำงานที่กองสวนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ 2517 เข้าศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชา วนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา
ปี 2518 สืบสามารถสอบบรรจุเข้าเป็นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ โดยทำคะแนนได้ดีเยี่ยมเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งในขณะนั้นคนที่ทำคะแนนได้ดีจะมีสิทธิ์เลือกบรรจุอยู่กองไหนก็ได้ และโดยมากก็มักเลือกเป็นป่าไม้ เพื่อมีโอกาสก้าวหน้าไปเป็นป่าไม้จังหวัดหรือป่าไม้เขตในอนาคต แต่ในกรณีของสืบนั้น เขากลับเลือกกองอนุรักษ์สัตว์ป่า และในเวลาต่อมาก็ได้รับมอบหมายให้ไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว - เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี
ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว - เขาชมภู่ เป็นสถานที่ที่สืบได้เริ่มต้นอาชีพข้าราชการกรมป่าไม้อย่างเต็มตัว เล่ากันว่าเขาทุ่มเทให้กับงานด้านปราบปราม โดยลุยจับผู้ต้องหาทำลายป่าหรือพรานที่มาล่าสัตว์ในเวลากลางคืนได้นับร้อยราย สืบทำงานที่เขาเขียวได้พักหนึ่งก็สอบชิงทุนบริติชเคาน์ซิลไปเรียนต่อปริญญาโทด้านอนุรักษ์วิทยาได้ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นกลับมาประจำเป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ แต่ประจำได้ไม่นานก็ขอย้ายตัวเองกลับมาทำงานวิชาการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ด้วยเหตุผลที่ว่าเสียดายความรู้ที่ร่ำเรียนมา และรู้สึกว่างานวิจัยเป็นเนื้องานที่ตัวเองสนใจมากที่สุด
ปี 2526 กลับเข้าปฏิบัติราชการประจำ ฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
ปี 2529 ผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้สืบจนเป็นที่รู้จักของสาธารณชนในวงกว้าง คือการเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม อันเป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้ภายหลังสิ้นสุดโครงการ จะสามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้ทั้งสิ้น 1,364 ตัว ขณะที่สัตว์ป่าอีกจำนวนมากถูกน้ำท่วมตายอย่างน่าเสียดาย
ปี 2530 ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาพื้นที่ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้รับคำสั่งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกตำแหน่งหนึ่งเป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเตรียมเอกสารข้อมูลทางด้านบทความและภาพถ่าย ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ เพื่อคัดค้าน การสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติทุกรูปแบบ จนประสบผลสำเร็จสามารถต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้
ปี 2531 กลับมาปฏิบัติราชการที่ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ 2532 เข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
ปลายปี 2532 สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะเดียวกันก็ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งสุดท้ายสืบเลือกที่จะละทิ้งความก้าวหน้าทางวิชาการ และเดินทางสู่ผืนป่าห้วยขาแข้งด้วยใจมุ่งมั่นที่จะรักษาป่าและสัตว์ป่าที่เขารักและหวงแหนยิ่งชีวิต
ปี 2533 จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นวิทยากรบรรยาย และร่วมอภิปรายในโอกาส และสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ส่วนมากเป็นหัวข้อเรื่อง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาที่เกี่ยวข้อง การอพยพสัตว์ป่าตกค้างในเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นต้น เขียนเอกสารโครงงานเพื่อจัดการให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก คำพูดประโยคหนึ่งของสืบ ที่ติดหูคนฟัง ทุกครั้งที่บรรยายหรืออภิปราย คือ “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า....”
กลางคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2533 สืบเขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาลาตาย จัดการทรัพย์สิน อุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และสั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ครั้นเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบสวดมนต์ไหว้พระเพื่อเตรียมใจ แล้วใช้อาวุธปืนยิงตนเองหนึ่งนัดถึงแก่ความตายในบ้านพักที่ห้วยขาแข้ง
สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว
ผู้เขียนขอร่วมรำลึกวันครบรอบ 22 ปี ของการเสียสละของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า ผู้ยิ่งใหญ่และยังอยู่ในหัวใจของคนรักป่าและรักสัตว์ป่า และธรรมชาติ ทุกๆ คน ด้วยบทกวีบทนี้ครับ
เสียงปืนสะท้านผ่านป่าเขา ในเช้ามืดเปลี่ยวเหงาคนและสัตว์
ห้วยขาแข้งป่าปรกอันรกชัฏ เงียบสงัดสั่นสะท้านในกาลเวลา
หนึ่งชีวิตพลีสังเวยให้สั่นไหว ปลุกพงไพรให้ฟื้นคืนสัตว์ป่า
ขวางภัยพาลผลาญพร่าไพรพนา เตือนให้รู้คุณค่าป่าพงพี
คือตำนานแห่งสืบ นาคะเสถียร คือดวงเทียนละลายแท่งเปล่งแสงสี
รักป่า รักสัตว์ป่า ยิ่งชีวี และรักศักดิ์รักศรีแห่งราชการ
หนึ่งเปรี้ยงเสียงปืนสะท้านป่า คือหนึ่งการทายท้าการสืบสาน
หนึ่งชีวิตแลกพลีเพื่อปณิธาน ป่าสัตว์ป่าให้พ้นผ่าน ภยันตราย
สืบสานงานสืบ นาคะเสถียร สืบความเพียรความมุ่งมั่นอันชัดฉาย
สืบวิญญาณหาญกล้าที่ท้าทาย สืบความตายที่ไม่ตาย ตลอดกาล
ว.แหวนลงยา