xs
xsm
sm
md
lg

HOME : มะเดี่ยว-ชูเกียรติ กับหนังไทยคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ในทางภาษา มีคำสองคำที่มีคำแปลว่า “บ้าน” เหมือนกัน นั่นก็คือ House กับ Home ผมรู้สึกตั้งแต่แรกได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้แล้วว่า เพราะอะไร หนังถึงเลือกใช้คำว่า Home แทนที่จะเป็น House นั่นก็เพราะว่า ในขณะที่คำๆ หนึ่งหมายถึงตัวบ้านที่เป็นตึกหรืออาคาร ไร้ความรู้สึกนึกคิดไร้ชีวิตไร้จิตวิญญาณ แต่ Home นั้นตรงกันข้าม เพราะความหมายเชิงลึกของมัน กินความหมายถึง “บ้าน” ที่ประกอบไปด้วยครอบครัวพ่อแม่ลูก ความรักความผูกพัน และเรื่องราวสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นภายใต้ชายคาแห่งนั้น

แน่นอนครับ “HOME” ของผู้กำกับอย่าง “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ก็มีความหมายไม่ต่างไปจากนั้น เพราะนอกเหนือไปจากจะมี “ความรัก ความสุข ความทรงจำ” เหมือนกับชื่อภาษาไทยของหนัง ใน HOME หลังนี้ ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย

หลังจากห่างหายเว้นวรรคไปจากหนังยาวเกือบ 5 ปีเต็ม โดยมีหนังสั้นคั่นเวลาเรื่องสองเรื่อง (ฝัน หวาน อาย จูบ และ หลุดสี่หลุด) มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์สนั่นเมืองด้วย “รักแห่งสยาม” กลับมาอีกครั้งกับหนังซึ่งน่าจะขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ไทยที่ดีที่สุดของครึ่งแรกปี 2555 ได้อย่างไม่ยากเย็น

เหมือนว่าในความเศร้าก็มีแสงเงาที่สวยงาม HOME นำพาเราไปเกาะติดก้าวตามเรื่องราวของสามตัวละครที่แบ่งแยกเป็นตอนๆ ออกจากกัน ก่อนจะถูกผูกร้อยให้มาบรรจบพบกันอย่างบางเบาแนบเนียน ซึ่งอันที่จริง ถ้าจะมองอย่างตื้นเขินที่สุดและบอกเล่าง่ายที่สุด ก็คงต้องบอกว่า งานชิ้นนี้พูดถึงเรื่องความรักใน 3-4 ช่วงเวลาอายุ ช่วงที่หนึ่งเป็นช่วงแรกพบแรกรัก ผ่านเรื่องราวของ “เน” (จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล) นักเรียน ม.6 ที่กำลังใช้วันสุดท้ายในชั้นมัธยมถ่ายภาพโรงเรียนไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งทำให้เขาได้พบกับรุ่นน้องจอมกวนอย่าง “บีม” (กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา)

รักช่วงที่สองนั้นเป็นเรื่องของ “ปรียา” (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) กับ “เสี่ยเล้ง” (เจมส์ เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์) ที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานลั่นระฆังวิวาห์ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน รักช่วงที่สามแม้ไม่โดดเด่นนักแต่ก็มีความสำคัญ นั่นก็คือเรื่องระหว่าง “เหว่า” (ณัฐพงษ์ อรุณเนตร์) กับ “ชมภู่” (ทิพปภา แซ่โง้ว) ที่อยู่กินกันมาระยะหนึ่ง ทั้งเหว่าและชมภู่อาศัยอยู่กับป้าบัวจัน (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) ซึ่งถือเป็นรักช่วงที่สี่ของชีวิต เป็นความรักที่เคยอยู่ร่วมและจากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ...

สำหรับคนที่ได้ดู จะพบครับว่า ถึงแม้หน้าหนังเรื่องนี้จะออกทางดราม่าอย่างเด่นชัด แต่ทว่าอรรถรสโดยภาพรวมนั้น หนังมีอารมณ์หลากหลาย ไม่เว้นแม้กระทั่งความขบขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงตอนแรกที่มีตัวละครหลักเป็นเด็กหนุ่มสองคนนั้น แม้จะไม่ได้มีการมายิงมุกอะไรกันเหมือนหนังตลกทั่วไป แต่ด้วยภาษาท่าทีของตัวละครก็ทำให้เราอดอมยิ้มร่วมไปด้วยไม่ได้ เช่นเดียวกับฉากเมคเลิฟระหว่างคู่รักซึ่งเป็นหลานของป้าจันซึ่งหลายคนอาจตั้งคำถามว่าใส่เข้ามาทำไม เอาเข้าจริง อารมณ์ ณ จุดนั้นมันไม่ได้อุบาทว์ลามกอะไรเลยครับ และพูดตรงๆ มันน่าขำด้วยซ้ำไป การเล่นกับความขำทำนองนี้ ใครที่เคยดู “ฮู อากง” (หนังสั้นตอนหนึ่งในเรื่อง “หลุดสี่หลุด”) จะพบว่า ความฮาของตัวหนังนั้น ก็ไม่ได้มาจากการเล่นหรือพูดมุกตลกเช่นเดียวกัน นี่คือ Sense of Humor ที่ยากนักจักหาได้ในหนังไทยส่วนมากซึ่งความตลกถูกครอบงำด้วยความเชื่อที่ว่าต้องพูดคำตลก คำหยาบๆ หรือทำอะไรบ้าๆ บอๆ

หนังแต่ละตอนนั้นมีจุดดีจุดด้อยแตกต่างกันไป ขณะที่หลายคนอาจไม่ชอบความเนิบช้าและเน้นการพูดคุยเป็นส่วนใหญ่ในตอนที่หนึ่ง แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะมองว่า นี่เป็นชั้นเชิงในการนำเสนอ ก็ไม่เสียหาย เพราะหนังค่อยๆ ตะล่อมให้เราค่อยๆ ก้าวเข้าไปสัมผัสกับพัฒนาการความรู้สึกของตัวละครที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย

ความน่าคิดถึงของหนังตอนแรกนี้ ผมคิดว่า อยู่ที่ “พื้นฐานตัวละคร” ของทั้งสองคนซึ่งพ้องกันและกันอยู่ในที เพราะขณะที่เด็กรุ่นพี่อย่าง “เน” ไม่เก่งกับการเข้าสังคมจึงทำให้ค่อนข้างโดดเดี่ยวไร้เพื่อน ส่วน “บีม” นั้นก็มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนโรงเรียนไปเรื่อยๆ แม้เขาจะบอกว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้เขามีเพื่อนใหม่ได้เรื่อยๆ แต่ความรู้สึกถึงการมี “เพื่อนแท้” นั้นก็ดูเหมือนจะห่างไกล

ดังนั้น มันจึงเป็นเหมือนการ “ถูกที่ถูกเวลา” ที่คนสองคนได้โคจรมาพบกัน แน่นอนว่า มันอาจจะเป็นวันเพียงวันเดียว แต่วันเดียววันนั้น จะยังคงดำรงอยู่ตลอดไป ไม่ใช่แค่ในกล้องถ่ายรูป แต่เป็น “ในความทรงจำ” ที่วันเวลามิอาจลบเลือน...

ผมชอบตอนที่หนึ่งรองจากตอนที่สอง เพราะมองว่า ลำพังแค่การแสดงของคุณต่าย-เพ็ญพักตร์ ก็ได้ใจไปเต็มๆ นี่คือการแสดงอีกหนึ่งบทบาทที่คาดหวังรางวัลได้เลย ไม่ว่าจะมองสักกี่ครั้ง เธอทำให้ป้าจันดูน่าสงสารและมีหัวใจที่น่ากราบไปด้วยในขณะเดียวกัน ความลุ่มลึกในด้านอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดสถิตอยู่ในการแสดงของคุณต่ายอย่างที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ ผมเชื่อของผมเองว่า ทุกๆ ฉากที่ป้าจันร้องไห้ คนดูทั้งหลาย ถ้าไม่น้ำตาซึมตามไปด้วย ก็น่าจะเศร้าๆ กันไปบ้าง

ความรักของป้าจันที่มีต่อสามี เป็นรักแท้ที่น่าเทิดทูน ถ้ามีใครสักคนรักคุณเหมือนที่ป้าจันรักสามี คุณเป็นคนโชคดีมากที่สุดคนหนึ่งในโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้หนังตอนนี้ดูลึกและซึ้งกว่าตอนอื่นๆ ก็เพราะว่า เอาเข้าจริง หนังไม่ได้แตะแค่เพียงเรื่องรักแท้ หากแต่ยังขยายขอบเขตตัวเองไปสู่ความเข้าอกเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งซึ่งยังคงอยู่ในความทรงจำของผมก็คือ ตอนที่ป้าจันเดินหลบออกมาจากศาลาฟังพระสวดศพแล้วไปพบและพูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเพิ่งสูญเสียลูกชาย เธอทำใจไม่ได้และไม่คิดว่าลูกชายตายไปแล้วจริงๆ มองมุมนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับป้าจันที่ยังคงทำเสมือนหนึ่งว่าสามีไม่เคยจากไปไหน

นี่เป็นเรื่องของการปลดปลง ปล่อยวาง และเข้าใจ ตลอดรายทางของชีวิต มันมีความเจ็บปวดรอเราอยู่เสมอ ณ จุดใดจุดหนึ่ง และเมื่อเราต้องสูญเสียคนดีๆ ในชีวิตไป นอกเหนือจากความทรงจำที่สวยงามเกี่ยวกับเขาเหล่านั้นที่จะยังคงหลงเหลืออยู่ เราเองก็ต้องยอมรับและอยู่ร่วมโดยไม่ปล่อยให้ใจตัวเองป่วยไข้จนใช้ชีวิตไม่ได้...

ครับ, ในขณะที่เรื่องราวของป้าจันบอกเล่าถึงรักแท้แบบครองคู่จนตายจาก คนที่ไปแล้วก็ไปลับไม่กลับคืน ส่วนคนที่อยู่ก็แบกรับและดูแลส่วนที่เหลือ เรื่องราวระหว่างปรียากับเสี่ยเล้งก็เหมือนกับเรือที่กำลังออกจากจุดสตาร์ท งานแต่งงานที่เต็มไปด้วยความขลุกขลักเปรียบเสมือนสัญญาณที่บ่งบอกว่าชีวิตนับจากนี้ จะยากกว่าเดิมอีกหลายเท่า

“อู้” กันซื่อๆ เลยครับ โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบตอนนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันดูขาดๆ เกินๆ ในหลายจุด ผมว่าหนังใส่ “ปัญหา” มาจากหลายทิศทางเกินไปจนก่อให้เกิดการแตกกระจัดกระจายไร้น้ำหนัก ทั้งเรื่องรักเก่าในวันก่อนที่ย้อนกลับมากวนใจของปรียา ทั้งเรื่องแม่เสี่ยเล้งที่ดูเป็นคนเรื่องมากปากเสีย ไหนจะยังเรื่องของน้องชายปรียา (พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) ที่ดูเหมือนว่าจะมาขโมยซีนพี่สาวซึ่งเป็นตัวละครหลักไปซะดื้อๆ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงตัวเสี่ยเล้งเองที่ดูเฉยชาเหมือนไร้ชีวิตแต่กลับมาแสดงความโรแมนติกชนิดที่ “หล่อเกินจะเชื่อถือได้” (ผมใช้คำว่า “มันดูลิเกไปหน่อย” ก็น่าจะตรงที่สุดแล้ว) เช่นเดียวกับการร้องไห้ของปรียาที่ดูจะเปลืองน้ำตามากไปจนดูล้นเกิน

เพราะเช่นนี้ จึงโฟกัสได้ยากว่าหนังจะบดขยี้บี้เน้นตรงจุดไหนหรือเรื่องของใครกันแน่ แต่พูดแบบนี้ ไม่ได้บอกว่าหนังไม่ดีนะครับ หนังตอนนี้ก็มีดีในตัวเองทั้งในด้านเนื้อหาและอารมณ์ เฉพาะอย่างยิ่ง บทของพิช-วิชญ์วิสิฐ เหมือนจะเป็นบทเสริมเล็กๆ แต่กลับเป็นผู้เก็บงำบางสิ่งอันนำไปสู่การปะทุระเบิดของเรื่องราว

ว่ากันอย่างถึงที่สุด เมื่อดูหนังจบและกลับมาทบทวนหวนคิด ผมเห็นภาพกว้างๆ ว่า “อดีต” และ “ความหลัง” นั้นดูเหมือนจะเป็นประเด็นโครงสร้างที่คุมหนังทั้งเรื่องไว้ เราจะมองเห็นภาพของตัวละครที่มีความหลังในแบบฉบับของตัวเองต่างๆ กันไป ปัญหาก็คือแต่ละคนจะบริหารความหลังของตัวเองอย่างไร จะนึกถึงความหลังในฐานะความทรงจำอันแสนงามเหมือนเด็กหนุ่มคนนั้น? จะจมดิ่งนิ่งอยู่ในห้วงอดีตแบบเดียวกับป้าจัน? หรือจะปล่อยให้ความหลังหวนกลับมาฉุดรั้งทำลายปัจจุบันแบบเดียวกับปรียา?

พูดก็พูดเถอะครับ หนังไทยคุณภาพระดับนี้ นานๆ ทีจะมีให้ดูกันสักครั้งนะครับ โดยส่วนตัว ผมมองว่า มะเดี่ยว-ชูเกียรติ นั้น เชื่อมือได้แล้วในระนาบของการทำหนัง หรืออย่างน้อยที่สุด ผมวัดเอาจากตัวเองที่ดูหนังไทยทุกเรื่องตั้งแต่ต้นปีมานี้ บอกเลยครับว่าผมชอบ HOME มากที่สุด

แน่ล่ะครับ มันอาจไม่ใช่ HOME ที่เพอร์เฟคต์หรือหรูหราระดับร้อยล้านพันล้าน หากแต่เป็น “บ้าน” หลังเล็กๆ หลังหนึ่งซึ่งยังต้องซ่อมแซมรูโหว่รอยรั่วอยู่หลายจุด แต่ก็เป็น HOME หลังนี้นี่แหละครับที่จะนำพาเราก้าวเข้าไปสู่ห้วงแห่งความคำนึง คิดถึงเรื่องดีๆ กับคนดีๆ ในชีวิต ที่ยังคงสถิตอยู่ใน “HOME แห่งความทรงจำ” ของเราไม่รู้เลือน...

เพลงประกอบ








กำลังโหลดความคิดเห็น