xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อส.ค.เพิ่ม2.69% พาณิชย์เบาใจสินค้าเริ่มถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”เบาใจ กดเงินเฟ้อส.ค.เพิ่มแค่ 2.69% หลังราคาอาหารและสินค้าทั่วไปเริ่มทรงตัว คาดจะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อต่ำไปจนถึงสิ้นปี ทำให้เป้าทั้งปีโตแค่ 3.3-3.4% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีดขึ้น 5 เดือนติดต่อกัน

นายยรรงยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนส.ค.2555 เท่ากับ 116.28 สูงขึ้น 2.69% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2554 และสูงขึ้น 0.40% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2555 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) สูงขึ้น 2.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนส.ค.เท่ากับ 108.52 เทียบกับส.ค.2554 สูงขึ้น 1.76% เทียบกับก.ค.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.17% และเฉลี่ย 8 เดือน สูงขึ้น 2.23%

ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เป็นผลมาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 4.02% โดยสินค้าราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้ 17.23% เครื่องประกอบอาหาร 4.10% อาหารสำเร็จรูป 3.02% ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ลด 3.36% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 0.83% เป็นต้น ขณะที่หมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.84% โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 4.14% หมวดเคหสถาน (ค่าเช่าบ้าน) 2.70%

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายการสินค้า พบว่า สินค้าเดือนส.ค. ที่มีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ได้แก่ ข้าวสารหอมมะลิ (5 กก.) เพิ่ม 3.99% จากราคา 198 บาท/ถุง เพิ่มเป็น 210 บาท/ถุง ผักสด เพิ่มขึ้น 5.62% อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 3.86% โดยข้าวราดแกง 2 อย่าง มีจังหวัดเชียงรายแห่งเดียวที่ปรับเพิ่มขึ้นจานละ 5 บาท จาก 30 บาท เป็น 35 บาท ที่เหลือจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา ขอนแก่น ลพบุรี อยุธยา ราคาทรงตัวอยู่ที่จานละ 25-30 บาท เครื่องประกอบอาหาร เพิ่มขึ้น 4.10% เช่น ซอสหอยนางรม จากขวดละ 38.22 บาท เพิ่มเป็น 38.45 บาท ซีอิ้วขาว 39.67 บาท เป็น 39.74 บาท แต่มีสินค้าราคาลง เช่น ไข่ไก่ ลด 11.20% เนื้อหมู ลดลง 16.65%

ขณะที่หมวดของใช้ส่วนบุคคล ราคาเพิ่มขึ้น 0.88% เช่น กระดาษชำระ แชมพู ผ้าอนามัย น้ำยาระงับกลิ่นกาย ค่าไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 14.02% ค่าน้ำประปา 7.47% น้ำมันเชื้อเพลิง 4.14%

“เงินเฟ้อในเดือนส.ค. เป็นเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง และคาดว่าเดือนต่อๆ ไป ก็จะชะลอตัวลง โดยคาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 3 จะเพิ่มขึ้น 3% ไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 3% ทำให้ทั้งปี คาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวในระดับ 3.3-3.4% ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 3.3-3.8% โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลผลิตเกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติพาณิชย์มีการดูแลราคาสินค้าเข้มงวด สินค้าไม่ปรับขึ้นราคา อีกทั้งรัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง” นายยรรยงกล่าว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 3,241 รายจากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเดือนส.ค.อยู่ที่ 29.5 เพิ่มจากก.ค. 29.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 20.6 ลดลงจาก 21.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 35.4 เพิ่มจาก 34.2 โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น การเพิ่มรายได้เกษตรกรจากการจำนำข้าว การคืนภาษีรถคันแรก การขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แต่ค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นไม่เต็มนัก เนื่องจากกังวลต่อสถานการณ์การเมือง สถานการณ์รุนแรงในภาคใต้ และวิกฤติการเงินในยุโรปที่กระทบต่อภาคการส่งออกทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น