xs
xsm
sm
md
lg

เป็นภิกษุอวดอ้างคุณวิเศษ : เหตุให้ผิดศีล

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระภิกษุหรือผู้บวชในพระพุทธศาสนา ตลอดเวลาที่ครองเพศบรรพชิตจะต้องถือปฏิบัติศีล 227 ข้อ ซึ่งมีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 1 และ 2 อันมีชื่อเรียกว่า ภิกขุวิภังค์ และศีลทั้ง 227 ข้อนี้ได้มีบทลงโทษหรือที่ทางพระวินัยเรียกว่า ต้องอาบัติ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดหนักเบาขึ้นอยู่กับบทบัญญัติแห่งสิกขาบทนั้นๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. หนักที่สุด เทียบได้กับโทษประหารชีวิตในทางโลก และโทษประเภทนี้ได้บัญญัติสำหรับภิกษุผู้ล่วงละเมิดปราชิก 4 ประการ เพียงประการใดประการหนึ่งถือว่าขาดจากความเป็นภิกษุทันที ไม่ว่าผู้อื่นจะรู้หรือไม่รู้ และภิกษุนั้นยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม

2. โทษอย่างกลาง เทียบได้กับการคุมขัง หรือการถูกจำคุก อันได้แก่อาบัติสังฆาทิเสส มี 13 ข้อ ใน 13 ข้อนี้ภิกษุล่วงละเมิดเพียงข้อใดข้อหนึ่งกำหนดโทษให้ต้องอยู่กรรมเพื่อเป็นการลงโทษระยะหนึ่งจึงจะพ้นโทษได้

3. โทษอย่างเบา เทียบได้กับโทษปรับ และว่ากล่าวตักเตือน อันได้แก่อาบัติที่เหลือจากปราชิก และสังฆาทิเสส เช่น นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92 และเสขิยวัตร 75 เป็นต้น

จากจำนวนสิกขาบทและบทลงโทษที่นำมากล่าวโดยย่อข้างต้น ก็เพียงเพื่อให้เห็นว่าอาบัติใดที่ภิกษุพึงระวังอย่างมาก และจะต้องไม่ล่วงละเมิด ถ้าต้องการจะเป็นนักบวชที่บวชเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้า และเพียงแต่ดูบทลงโทษก็จะเห็นได้ว่าปราชิก 4 ประการเป็นอาบัติที่นักบวชในพุทธศาสนา ทั้งภิกษุ และภิกษุณีต้องระวังมากที่สุด

ปราชิก 4 ประการคือ

1. เสพเมถุน อันได้แก่การร่วมเพศกับหญิงหรือชาย หรือแม้กระทั่งกับสัตว์

2. ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ โดยที่ของนั้นมีราคาเกิน 5 มาสก (ประมาณ 1 บาท) ขึ้นไป

3. ฆ่าเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่ามนุษย์ โดยที่สุดแม้กระทั่งฆ่าตัวเอง เป็นอันต้องห้ามทั้งสิ้น

4. อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน เมื่ออวดไปแล้ว แม้จะออกตัวสารภาพทีหลังก็ต้องอาบัติปราชิก

ทั้ง 4 ประการดังกล่าวมานี้เป็นศีลที่มีบทลงโทษหนักที่สุด เพราะแม้ผิดเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นอันขาดจากเพศภาวะของนักบวชในทันที และจะบวชใหม่อีกไม่ได้ตลอดชีพ

ถึงแม้ว่าปราชิก 4 ประการเป็นอาบัติที่มีโทษหนัก แต่ในความเป็นจริงที่มีอยู่ในวงการสงฆ์ไทยมีพระภิกษุอยู่ไม่น้อยที่ประพฤติตนหมิ่นเหม่ หรือเข้าข่ายผิดศีล 4 ประการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 4 จะเกิดขึ้นบ่อยๆ กับพระภิกษุในสายปฏิบัติและมีผู้คนศรัทธานับถือมาก ทั้งนี้น่าจะมีเหตุอนุมานในเชิงตรรกะได้ดังนี้

1. พระภิกษุในสายพระป่า หรือที่เรียกว่า อรัญวาสี ถ้าลงมือปฏิบัติโดยไม่ผ่านการเป็นผู้เรียนในทางทฤษฎี หรือที่เรียกว่าสายปริยัติก่อนสุ่มเสี่ยงที่จะหลงเข้าใจผิดว่าตนเองได้บรรลุคุณวิเศษได้ง่าย หรือที่ทางบาลีเรียกว่า สัญญาวิปลาส คือเข้าใจว่าตนเองได้ฌานขั้นนั้นขั้นนี้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ และถ้าอยู่ในภาวะนี้แล้วพูดไปให้ใครฟัง ถ้าหวังลาภสักการะก็อยู่ในข่ายเป็นปราชิกได้ แต่ถ้าไม่หวังผลใดๆ พูดไปด้วยเข้าใจผิด และรู้ตัวกลับใจทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายผิดศีลข้อนี้

อีกประการหนึ่ง พระภิกษุในอรัญวาสีจะมีญาติโยมเคารพนับถือมาก และถ้าพระผู้ที่ปฏิบัติอ่อนไหว และหลงเชื่อคำเยินยอของคนรอบข้างที่ชอบอวดอ้างคุณวิเศษของอาจารย์ด้วยหวังจูงใจให้คนมาศรัทธา เพื่อเป็นที่มาของลาภสักการะ ทั้งภิกษุผู้ได้รับการยกย่องไม่ห้ามปราม และเห็นดีเห็นงาม ในบางรายถึงกับออกปากยอมรับในสิ่งที่ลูกศิษย์อวดอ้างก็เข้าข่ายเป็นปราชิกได้เช่นกัน แต่ถ้ารู้แล้วห้ามปรามโดยพูดตามความเป็นจริง โดยไม่กลัวการเสื่อมลาภก็เป็นสิ่งดี และรอดพ้นจากการต้องอาบัติข้อนี้ได้

2. ในปัจจุบันสังคมไทยผู้คนไม่น้อยที่เข้าวัดนับถือพระด้วยศรัทธาอาศัย หรือนับถือเพราะเห็นว่าได้ประโยชน์จากการนับถือ เช่น เข้าไปแล้วทำตัวเป็นคนใกล้ชิดแล้วหาหนทางทำเครื่องรางของขลัง โดยอาศัยชื่อเสียง และศรัทธาของผู้ที่ตนเองเข้าหาแล้วกอบโกยผลประโยชน์จากการขายวัตถุมงคล ซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นขณะนี้

ในกรณีเช่นนี้ สิ่งแรกที่ผู้บวชจะยิ่งมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเอาใจสังคมที่มีแนวโน้มใช้พระหาประโยชน์มากขึ้น โดยที่พระเองก็เห็นดีด้วย ดังที่ได้เกิดขึ้นกับเกจิอาจารย์หลายๆ รูปมาแล้ว และล่าสุดที่เกิดขึ้นก็คือ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ลงข่าวผ่านเว็บไซต์ว่าได้ไปพบสตีฟ จ็อบส์ เจ้าพ่อคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นคนร่ำรวยติดอันดับโลก และได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อไม่นานมานี้ ว่าได้ไปเกิดเป็นเทวดากึ่งมารบนสวรรค์ และเมื่อข่าวนี้ออกไปปรากฏว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้รู้หลายๆ ท่าน และไปในทำนองเดียวกันว่าเสี่ยงได้ประโยชน์จากข่าวหรือเอาเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ ของบรรดาครูบาอาจารย์ออกเผยแพร่ในทำนองอวดอ้างคุณวิเศษให้แก่ผู้ที่ตนเองนับถือเพื่อจูงใจให้คนอื่นศรัทธา และเข้ามาถวายลาภสักการะ แต่ถ้าพระผู้ที่ถูกเขานำไปอวดอ้างรู้แล้วไม่ห้ามก็เข้าข่ายร่วมกันหลอกลวง ไม่ถึงขั้นผิดศีลข้อนี้ แต่ถ้ารู้แล้วเออออไปกับเขาในลักษณะยอมรับว่าตนเองมี ตนเองเป็น ก็เข้าข่ายอวดคุณวิเศษและผิดอาบัติปราชิกข้อ 4 ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุที่สังคมไทยมีลักษณะที่ว่ามานี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าโอกาสที่พระภิกษุจะต้องอาบัติปราชิกข้อ 4 ต่อการผิดศีลในข้อปราชิกที่ว่าด้วยการอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน หรือแม้ว่าจะมีคุณวิเศษ แต่ถ้าบอกอนุปสัมบันคือคฤหัสถ์ก็ต้องปาจิตตีย์อยู่ดี

โดยสรุปก็คือ ไม่ว่าจะมี หรือไม่มีคุณวิเศษ ก็ผิดศีลอยู่ดี

คำว่า คุณวิเศษ ในที่นี้หมายถึงการได้บรรลุฌานขั้นนั้นขั้นนี้ และการอ้างว่าได้ไปพบเห็นผู้ที่ไปเกิดในโลกอื่นได้นั้นจะต้องได้ทิพยจักษุญาณเท่านั้น และผู้ที่จะได้ญาณได้นั้น จะต้องมีศีลบริสุทธิ์ และฝึกสมาธิจนได้บรรลุฌาน 4 และได้สมาบัติ 8 จึงจะทำสิ่งที่อวดอ้างเช่นนี้ได้

อีกประการหนึ่ง ผู้ที่จะบรรลุธรรมได้จะดำเนินตามมรรค 8 เริ่มด้วยสัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ คือเห็นความจริงตามอริยสัจ 4 และที่สำคัญคือเห็นตามความเป็นจริง หรือที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ คือเห็นว่าสังขารไม่เที่ยง เห็นว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา (สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ)

แต่เท่าที่เคยปรากฏเป็นข่าวสำนักธรรมกายเคยสอนว่า พระนิพพานเป็นอัตตาคือเที่ยง ซึ่งก็เข้าข่ายเห็นผิดในข้อที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ และเมื่อเริ่มต้นกับมรรค 8 ผิดกันแล้ว การปฏิบัติจะไปถูกทางได้อย่างไร ขอให้ชาวพุทธทั้งหลายช่วยกันหาคำตอบด้วยเถิด
กำลังโหลดความคิดเห็น