xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อประธานธนาคารกลางเป็นปัญหา ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

       แนวคิดเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ
      ของประธานฯ วีรพงษ์ช่างน่าฉงนเป็นยิ่งนัก

ในเรื่องเกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ วีรพงษ์ รามางกูรในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์อย่างออกหน้าออกตาสนับสนุนให้นำเงินส่วนนี้มาใช้ลงทุน

วิสัยทัศน์อันเป็นที่มาของหลักการเหตุผลของวีรพงษ์ก็คือ “ประเทศของเราไม่ได้เป็นประเทศที่ลงทุนเกินตัวหรือเกินไป แต่เป็นประเทศที่ลงทุนน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับการทำมาหาได้ ถ้าเราจะเร่งรัดการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ถ้าจะขาดดุลสักปีละ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐติดต่อกันสัก 10 ปี ทุนสำรองที่มาจากลำแข้งตนเองก็จะหมดไปเพียง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ประเทศจะได้มีรถไฟความเร็วสูงใช้ทั้งประเทศ ได้ท่าเรือน้ำลึกใหม่ ได้สนามบินที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม ได้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมากขึ้น ประเทศก็จะเปลี่ยนโฉมก้าวขึ้นสู่ระดับการพัฒนาอีกระดับหนึ่ง เพราะความสามารถในการแข่งขันจะสูงขึ้น โดยไม่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินเลย ทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะยังมีเหลืออยู่อีกกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ” (“ประชาชาติธุรกิจ” 9-11 เม.ย. 55)

ที่มาของทุนสำรองระหว่างประเทศมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่หมายถึงส่งออก(ขาย)มากกว่านำเข้า(ซื้อ) และจากการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการกู้ยืมและการเข้ามาลงทุนของต่างชาติไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือยาว ดังนั้นเงินตราต่างประเทศจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของทุนสำรองระหว่างประเทศ

แต่เนื่องจากการชำระราคาในประเทศต้องทำเป็นเงินบาท การมีเงินดอลลาห์สหรัฐที่ได้จากการค้าขายหรือกู้มาจึงต้องแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเสียก่อน ดังนั้นดอลลาห์สหรัฐที่เพิ่มจึงมาพร้อมกับบาทที่เพิ่มในระบบเศรษฐกิจในจำนวนที่เท่าๆ กันผ่านอัตราแลกเปลี่ยน

เพื่อมิให้ ธปท.สร้างหนี้สินหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินบาทได้ตามอำเภอใจ กฎหมายตาม พ.ร.บ.เงินตรา ม. 16 จึงกำหนดให้ธนบัตรไทยที่ออกมาต้องมีทรัพย์สินที่กำหนดให้สามารถเป็นทุนสำรองเงินตราตาม ม. 30 ที่มีค่าเท่ากันเก็บเอาไว้เป็น “ทุนสำรอง” หนุนหลังเพื่อให้ผู้ที่ถือธนบัตรไทยมั่นใจว่ามีค่า และองค์ประกอบที่สำคัญของทุนสำรองเงินตรานี้ก็คือ เงินตราต่างประเทศ

ทุนสำรองระหว่างประเทศและทุนสำรองเงินตราจึงมีความเกี่ยวข้องกันเนื่องจากต่างก็มีเงินตราต่างประเทศเป็นองค์ประกอบหลัก

ทุนสำรองระหว่างประเทศในมือของ ธปท.จึงมิได้เป็น free hold ที่ปราศจากภาระผูกพันทั้งก้อนที่สามารถให้รัฐบาลหยิบฉวยไปใช้ลงทุนได้อย่างเสรีแต่อย่างใดไม่ เพราะส่วนหนึ่งผูกพันกับการเป็นทุนสำรองเงินตราในการออกเงินบาทมาใช้

วัตถุประสงค์หลักของการมีทุนสำรองระหว่างประเทศก็เพื่อไว้ใช้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศและเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หาได้เพื่อหวังผลเก็งกำไรจากการลงทุน เพราะจะสูญเสียสภาพของ “สำรอง” ไปเนื่องจากต้องมีภาระผูกพันจากการลงทุนไม่มากก็น้อย ทำให้สูญเสีย liquidity หรือสภาพคล่องที่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินได้อย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่เป็นคุณลักษณะสำคัญของ “สำรอง” พูดง่ายๆ ก็คือชื่อนั้นก็สื่อแล้วว่าเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศหาได้เป็นเงินทุนทั่วไปที่สามารถนำไปใช้จ่ายตามอำเภอใจไม่

กฎหมายจึงกำหนดให้เงินตราต่างประเทศที่สามารถเป็นทุนสำรองเงินตราได้ตาม ม. 30 ต้องพึงแลกเปลี่ยนได้และอยู่ในรูปของเงินฝากในสถาบันการเงินนอกประเทศหรือระหว่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าธนบัตรไทยที่ออกมาใช้ ในขณะที่ทรัพย์สินในประเทศ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสามารถเป็นทุนสำรองได้ไม่เกินร้อยละ 40 เท่านั้น

วีรพงษ์ไม่รู้หรอกหรือว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเพียงทรัพย์สินต่างประเทศของประเทศไทยส่วนหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของธปท.และมีหนี้สินคือเงินบาทผูกพันอยู่ ในขณะที่ภาพรวมทรัพย์สินต่างประเทศของไทย ณ ปี 2554 มีประมาณ 3 แสนล้านดอลลาห์สหรัฐแต่ก็มีหนี้สินต่างประเทศประมาณ 3.23 แสนล้านดอลลาห์สหรัฐ ทำให้สถานะสุทธิของประเทศไทยโดยรวมเป็นลูกหนี้ต่างชาติมิใช่เจ้าหนี้

ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่จึงเป็นเพียงภาพมายาที่นักการเมืองใช้หลอกตัวเองและคนอื่นๆ ให้เชื่อว่าเรามีเงินทั้งๆ ที่ในภาพรวมแล้วเงินที่เรามีส่วนใหญ่อาจได้มาจากการยืมต่างประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้ปรากฏโชว์ในทุนสำรองเหมือนเช่นช่วงก่อนวิกฤตปี พ.ศ. 2540

วีรพงษ์ไม่รู้หรอกหรือว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทรัพย์สินต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นเงินออมของภาคเอกชนที่หามาได้จากการอดออมค้าขายด้วยน้ำพักน้ำแรง และมีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้ประเทศกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแก้ไขวิกฤตฯ ในขณะนั้นมิให้เป็นเหมือนกรีซในปัจจุบันได้ ในขณะที่ภาครัฐเป็นฝ่ายที่ไม่ออม เอาแต่จะลงทุนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งแต่เพียงทำให้เค้ก (GDP) ก้อนใหญ่ขึ้นแต่ยังแบ่งได้ไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมก็คือในช่วง 2544 - 53 สมัยทักษิณและพวกมีอำนาจครองเมืองที่มียอดขาดดุลเงินสดของภาครัฐรวมแล้วเกือบ 9 แสนล้านบาท ในขณะที่การกระจายรายได้ไม่ได้ปรับตัว ยังรวยกระจุกและจนกระจายเหมือนเดิม แม้กระทั่งในปัจจุบันพฤติกรรมดังกล่าวก็ยังไม่เปลี่ยน

วีรพงษ์ไม่รู้หรอกหรือว่า หน้าที่ของธปท.นั้นทำหน้าที่ธนาคารกลางตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ใน ม.7 ของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดอย่างแจ้งชัดว่า เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบชำระเงิน แถมยังถูกห้ามตาม ม.9 มิให้ประกอบการค้า ให้กู้ยืม หรือดำเนินการใดเพื่อแสวงหากำไร การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนนั้นมันเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของธปท.ตรงที่ใด กฎหมายห้ามเอาไว้ใช่หรือไม่

ที่สำคัญวีรพงษ์ไม่ควรลืมก็คือ ม. 25 ที่คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือควบคุมดูแลเพื่อให้ ธปท.บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ใน ม.7 ที่กล่าวมาข้างต้น การออกมาแสดงความคิดเห็นมันขัดหรือแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ประธานฯ ธปท.ของตนเองหรือไม่ มันมีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นประโยชน์กับประเทศชาติตรงที่ใด
กำลังโหลดความคิดเห็น