ชี้การเปิดเสรีการเงินอาเซียน สถาบันการเงินไทย ไม่น่าห่วงเพราะคุ้นเคยกับการลงทุนจากต่างชาติ ส่วนตลาดทุนไทยยังเปิดเสรีช้ากว่าทาง สิงค์โปรและมาเลเซีย เพราะยังห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักลงทุน
นางสาวเกตุสุดา สุประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนในเรื่องของการบริการทางการเงินว่า ธุรกิจบริการทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย ประกันภัย หลักทรัพย์และธนาคารนั้น หากเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นในปี 2015 มองว่าประเทศไทยอาจมีความล่าช้ากว่าประเทศสิงค์โปร์ และมาเลเซีย เนื่องจากยังมีความกังวลด้านความปลอดภัยของนักลงุทนจึงยังไม่สามารถดำเนินการเปิดเสรีได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะแตกต่างออกไปเนื่องจากประเทศไทยมีความคุ้นเคยกับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานนั้นอาจจะต้องมีการปรับตัวอีก
“เรามองว่าการเปิดเสรีทางการเงินที่จะเกิดขึ้น ตลาดทุนไทยจะเป็นแหล่งระดมทุนเงินทุนด้วยเช่นกัน” นางสาวเกตุสุดากล่าว
ทั้งนี้ แผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน การเป็นภูมิภาคที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยในส่วนของการเปิดเสรีทางด้านการเงิน หลักการเปิดเสรีบริการด้านการเงินคือการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกพัฒนาสาขาการเงินตามลำดับอย่างเป็นขั้นตอน และรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางการเงิน เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศมาชิก โดยประเทศใดที่มีความพร้อมเปิดเสรีสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อน และประเทศสมาชิกที่เหลือสามารถุเข้าร่วมได้ในภายหลัง
สำหรับในส่วนของประเทศไทย ได้ผูกพันที่จะเปิดตลาดบริการด้านการเงินภายใต้อาเซียนภายในปี ค.ศ. 2015 ได้แก่ 1) สาขาหลักทรัพย์ มีสาขาย่อยการค้าเพื่อบัญชีของตนเองหรือบัญชีของลูกค้า การบริการสินทรัพย์ และการบริการชำระราคาและส่งมอบสำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน 2) สาขาย่อยอื่นๆ ได้แก่ การให้คำปรึกษาและบริการเสริมอื่นๆ ด้านการให้บริการทางการเงิน