xs
xsm
sm
md
lg

เห็นแก่ตัวไม่กลัวกฎหมายไร้หิริ : เหตุแห่งทุจริต

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ถ้ามองในแง่ของคำสอนทางพุทธศาสนา การที่บุคคลจะพูดหรือจะทำสิ่งใดๆ ทั้งที่เป็นกุศลคือฝ่ายดี และอกุศลคือฝ่ายชั่ว จะเริ่มจากใจคิดก่อนเสมอ กล่าวคือ ถ้าใจคิดดี สิ่งที่พูดและสิ่งที่ทำก็จะเป็นสิ่งดี

ในทางกลับกัน ถ้าใจคิดไม่ดี สิ่งที่พูดและสิ่งที่ทำก็จะเป็นสิ่งเลวหรือชั่ว

จากนัยแห่งคำสอนของพุทธข้อนี้บ่งบอกชัดเจนว่า คนที่ทำการอันเป็นทุจริต ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือวาจา เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องเป็นคนคิดแต่สิ่งชั่วสิ่งเลว ซึ่งแสดงออกให้เห็นทางกายและวาจาเสมอ

ดังนั้นการที่จะสังเกตว่าใครดี ใครเลว ถ้าไม่มีอะไรมาปิดบังให้คิดเห็นเป็นอย่างอื่น ก็จะมองเห็นและแยกแยะว่าใครดี ใครเลวได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทุจริต ก็คือคนที่มีความโลภหรือความโลภครอบงำ และแสดงออกถึงความอยากได้ออกนอกหน้าทั้งในทางการพูดและการกระทำ ยิ่งถ้าได้อยู่ในตำแหน่งที่ดีอำนาจรัฐด้วยแล้วจะยิ่งมองเห็นได้ง่าย ตลอดเวลาจะส่ายตามองหาลู่ทางเพื่อกอบโกย ไม่ว่าจะอยู่ในระบบภาคเอกชน หรือภาครัฐ

แต่ในที่นี้จะพูดถึงเพียงการโกงในภาครัฐ ดังนั้นข้อความต่อไปนี้ก็คือคำอธิบายขยายความลักษณะพฤติกรรมของคนโกงในภาครัฐ

“มีอำนาจรัฐ ไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่เกรงกฎหมาย ไร้หิริ และโอตตัปปะ” น่าจะเป็นคำอธิบายขยายความถึงลักษณะของคนโกงได้อย่างชัดเจนพอที่ผู้เกี่ยวข้องกับจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐนำไปเป็นแนวทางบรรจุแต่งตั้งบุคลากรให้เข้ามารับผิดชอบงานราชการในส่วนที่เสี่ยงต่อการโกงกินได้ โดยปฏิเสธที่จะรับบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ และรับบุคคลที่มีลักษณะตรงกันข้ามเข้ามา ถ้าทำได้ก็จะช่วยป้องกันการผลาญงบประมาณของประเทศได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เหตุให้เกิดการทุจริตในภาครัฐมิได้เกิดจากบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อันเอื้ออำนวยให้เกิดการโกงกินได้ ซึ่งพออนุมานได้ดังต่อไปนี้

1. ลักษณะงานและวิธีการดำเนินงาน ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงการทุจริตคอร์รัปชันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วนที่มีคนโกงทำงานอยู่ แต่ลักษณะงานที่เป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริตจำนวนมากมีอยู่ 2 ลักษณะงาน คือ

1.1 งานจัดซื้อและจัดจ้างทำของ อันได้แก่การจัดซื้อวัสดุและครุภัณฑ์ ซึ่งทั้งงานจัดซื้อขนาดเล็กด้วยงบทำการ เช่น วัสดุสำนักงานและครุภัณฑ์ขนาดที่ไม่ใหญ่โตนัก และวิธีการที่ก่อให้เกิดการโกงได้ง่ายๆ ก็คือ การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษโดยอ้างความเร่งด่วนและความจำเป็นในการใช้งาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ข้าราชการที่ทำงานในส่วนนี้ร่วมมือกับผู้ขายโก่งราคาขายรัฐ หรือถ้าไม่โก่งราคาก็จัดซื้อสินค้าด้อยคุณภาพในราคาตลาดเป็นการโกงงบประมาณ

1.2 ส่วนถ้าเป็นงานโครงการขนาดใหญ่อันเกิดจากนโยบายของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงทบวงกรมต่างๆ จะใช้วิธีประมูล และการที่จะแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบก็กระทำได้ โดยการเปิดโอกาสให้มีการฮั้วประมูลแหกตาเสนอราคาต่างกัน โดยที่มีผู้ประมูลรายหนึ่งเป็นผู้ชนะ แต่ต้องจ่ายค่าฮั้วประมูลกับบริษัทที่ยื่นประมูลเพื่อให้กระบวนการประมูลครบถ้วนสมบูรณ์ตามระเบียบเป็นรายๆ ไปแล้วแต่ตกลงกัน

ด้วยวิธีนี้ โอกาสที่รัฐจะจ่ายแพงกว่าความเป็นจริงหรือจ่ายถูกแต่ได้ของในราคาไม่มีคุณภาพ เนื่องจากผู้ชนะการประมูลลดสเปกในการจัดทำของลงก็เกิดขึ้นได้ หรือไม่ในบางรายเมื่อประมูลได้แล้วตนเองเห็นว่าไม่คุ้มค่าก็ขายงานให้บริษัทเล็กซึ่งมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำรับช่วงไปทำต่อ แต่ด้วยวิธีนี้รัฐเสี่ยงต่อการที่ผู้รับช่วงงานทิ้งงานหรือทำงานด้อยคุณภาพมีความเป็นไปได้สูง และเกิดขึ้นบ่อยๆ ในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่จนบัดนี้ยังใช้ไม่ได้ผล และยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากที่ล้มเหลวในทำนองนี้

2. บุคลากรที่มีส่วนก่อให้เกิดการทุจริต ในส่วนของบุคลากรแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ซึ่งร่วมกันทุจริตในลักษณะ 3 ประสาน ดังนี้

2.1 นักการเมืองหรือข้าราชการผู้ใหญ่ระดับหัวหน้าหน่วยงานในระดับกระทรวง และในระดับกรมพูดง่ายๆ ก็คือระดับปลัด และระดับอธิบดีนั่นเอง

ในส่วนของนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานระดับกระทรวง และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงนั้นๆ นักการเมืองจะเข้าไปมีส่วนในการทุจริตได้ก็โดยกำหนดนโยบายแล้วนำเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติ แล้วสั่งการให้หน่วยงานในความรับผิดชอบดำเนินการภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับ

ดังนั้นจึงพูดได้ว่า นักการเมืองเริ่มต้นการโกงด้วยการกำหนดนโยบายและสั่งการ พร้อมกับต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณในการจัดทำโครงการนั้นๆ ต่อมาข้าราชการประจำเมื่อรับโครงการมาดำเนินการก็มากำหนดขั้นตอนและวิธีการเพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์ในทิศทางที่นักการเมืองกำหนด เช่น จัดซื้อก็จะต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่เสนอประโยชน์ให้หรือภายใต้คำแนะนำให้ดำเนินการ

2.2 พ่อค้า ซึ่งเป็นผู้ขายหรือรับจ้างทำของ อันถือได้ว่าเป็นต้นเหตุเริ่มต้นของการทุจริตในภาครัฐก็ว่าได้ เพราะถ้าพ่อค้าจับมือกันไม่ยอมจ่ายใต้โต๊ะโอกาสที่ข้าราชการหรือนักการเมืองจะเรียกรับคงกระทำมิได้ง่ายๆ

ดังนั้นจึงถือได้ว่าในบรรดาบุคคลทั้ง 3 ประเภท พ่อค้าเป็นจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดการโกงในภาครัฐ และถ้าจะปราบเรื่องนี้จะต้องไม่ลืมประเด็นการควบคุมพฤติกรรมพ่อค้ามิให้เข้ามาจ่ายใต้โต๊ะแก่หน่วยงานราชการก่อนอื่นใด

2.3 หน่วยงานตรวจสอบในภาครัฐด้อยคุณภาพในการดำเนินงาน

เกี่ยวกับเรื่องนี้จะไปโทษบุคลากรในหน่วยงานตรวจสอบฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะโครงสร้างส่วนราชการที่กำหนดให้หน่วยงานตรวจสอบอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารสูงสุดแต่ละหน่วยงานนั้นก็เท่ากับทำให้หน่วยงานตรวจสอบไม่มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน และเมื่อใดก็ตามที่มีการตรวจพบว่ามีการทุจริตในหน่วยงาน และผู้บริหารสูงสุดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อนั้นจะออกรายงานตรวจสอบตรงไปถึงมาได้อย่างไร และถ้าขืนรายงานออกไปความปลอดภัยของตนเองก็จะไม่มีด้วย แล้วจะทำอย่างไร

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องแยกหน่วยงานตรวจสอบออกไปจากส่วนราชการ ให้ขึ้นตรงต่อ ป.ป.ช.หรือศาลยุติธรรมก็ได้ จะได้ไม่ต้องถูกจำกัดอำนาจให้ทำงานภายใต้การโกง และคนโกงคอยกำกับเฉกเช่นทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น