xs
xsm
sm
md
lg

จับตาสินชื่อรถยนต์ ธปท.เผยเริ่มผิดนัด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติแถลงผลประกอบการแบงก์โตตามสินเชื่อ เฉพาะกำไรสุทธิไตรมาส 2 ขยายตัว 4.9 หมื่นล้าน หรือเพิ่มขึ้น 20.7% คาดแนวโน้มสินเชื่อครึ่งปีหลังชะลอลงเล็กน้อย พอใจหลายธนาคารสำรองเพิ่มความแข็งแกร่งเงินกองทุน เผยหนี้เสียทั้งระบบลดลงแต่สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบุคคลเริ่มผิดนัดชำระหนี้

น.ส.นวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไตรมาสที่ 2 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 4.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 20.7% เป็นผลจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% รวมไปถึงรายได้มาจากดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) อย่างไรก็ตามธนาคารหันมากันสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 3,000 ล้านบาทและไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นอีก 6,700 ล้านบาท พร้อมทั้งออกหุ้นทุน 500 ล้านบาท และหุ้นกู้ด้อยสิทธิอีก 1.03 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสนี้ เพื่อให้เงินกองทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งรองรับความเสี่ยงในอนาคตที่เห็นว่าค่อนข้างมากในช่วงครึ่งหลังของปีและเห็นว่าการขยายตัวสินเชื่อแผ่วลงตามภาวะเศรษฐกิจ

“ในไตรมาสนี้ NIM ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 2.56% เกิดจากธนาคารพาณิชย์เร่งขยายสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งมีดอกเบี้ยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและรถยนต์ อีกทั้งมีการแข่งขันระดมเงินฝากสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบเงินฝากที่หลากหลายไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะอายุเงินฝากประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุน (Cost of fund) ของธนาคารปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตัว NIM ในไตรมาสถัดไป”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวถึง 14.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หดตัวทั้งเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจาก 14.8% มาอยู่ที่ 11.8% และเทียบกับไตรมาสสก่อนหน้าจาก 2.1% มาอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเห็นว่าสินเชื่อประเภทนี้ชะลอตัวลงในไตรมาส1-2 โดยเห็นว่าส่วนใหญ่ธุรกิจ SME กำลังจับตาทิศทางเศรษฐกิจอยู่ จึงยังไม่เร่งกู้เงินมากนัก ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขยายตัวได้ดีในทุกประเภท ยกเว้น สินเชื่อบริการแผ่วลงบ้าง ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคเร่งตัวสูงขึ้นมากสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ลดลงต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ลดลง 7.2 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดคงค้าง 262.8 พันล้านบาท เป็นการลดลงจากภาคธุรกิจเป็นสำคัญ แต่สินเชื่ออุปโภคบริโภคกลับเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์จาก 1.3% ขยับเป็น 1.4% ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากเมื่อยึดรถมาได้ก็สามารถขายได้เร็ว ราคาไม่ตกมากนัก ซึ่งธปท.ติดตามเรื่องนี้อยู่ ขณะที่หนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (Delinquent loan) ตัวธุรกิจบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 2% มาอยู่ที่ 2.1% รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ทรงตัวในระดับ 1.3% ในไตรมาสนี้และไตรมาสก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น