xs
xsm
sm
md
lg

ปกป้องทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง : ปกป้องความหวังการเป็นครัวโลกและเมืองท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ’ นับเป็นแนวคิดสุดท้ายสังคมไทยในยุคอุตสาหกรรมหนักนานาประเภทพาเหรดเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ด้วยแทบเป็นไปไม่ได้ที่ท้องถิ่นโดยลำพังจะสามารถตั้งรับกับการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมที่ฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มที่โดยผลักภาระมลพิษด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่แบกรับ ถ้าขาดการประสานพลังจากภาคีเครือข่ายภายนอกที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

การขาดเครื่องมือกลไกกฎหมายและนโยบายไม่เพียงทำลายสุขภาวะกาย จิต สังคม และปัญญาของชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น ทว่ายังเป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการเคลื่อนไหวในทางปัญญาของขบวนการทางสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ที่เข้าในพื้นที่ทั้งในรูปแบบของโครงการและนโยบายที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลซึ่งมักทำให้ชุมชนแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายได้ง่าย ด้วยแม้ผลการศึกษาจะพบว่าถ้าดำเนินโครงการ แผนงาน หรือนโยบายจะทำให้ชุมชนต้องแบกรับภาระด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน แต่ก็มีผู้คนบางส่วนในชุมชนเหล่านั้นยอมรับกับเงื่อนไขเหล่านั้นภายใต้นามของการพัฒนา ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว

สถานการณ์เช่นนี้กำลังกลืนกินประเทศไทยในทุกภูมิภาค เฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้และตะวันออกที่การลงทุนจากอุตสาหกรรมหนักที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็วจนทรัพยากรทะเลที่เป็นถิ่นฐานที่อยู่และทำมาหากินของคนชายฝั่ง รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชาชนทั้งประเทศกำลังถูกทำให้ ‘เข้าไม่ถึง’ ทั้งๆ ที่โดยหลักการเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-วัฒนธรรมแล้ว ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงทรัพยากรนี้ได้ไม่ต่างกัน

กระนั้นปัจจุบันทะเลและชายฝั่งที่เป็นฐานทรัพยากรอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญกำลังถูกทำให้เป็น ‘สมบัติส่วนบุคคล’ ที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง รวมถึงกำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์จากการเดินหน้าของแผนพัฒนาระดับชาติ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยึดครองทะเลและชายหาดเป็นสมบัติส่วนตัวในรูปของรีสอร์ตและโรงแรมราคาแพงลิบลิ่ว ดังที่เกิดกับเกาะภูเก็ตและสมุยซึ่งเคยสวยด้วยทะเลครามและร่ำรวยอาหารทะเลรสเลิศสำหรับทุกคน แต่มาวันนี้มีแต่นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเท่านั้นที่จะไปเที่ยวได้โดยไม่ขัดเขิน ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็มักมีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นที่ได้รับการต้อนรับ

ดังนั้นการมุ่งมั่นเดินหน้ามติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งบนแนวคิดว่าทรัพยากรทะเล และชายฝั่งเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติที่ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงโดยชอบจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของสังคมไทยในวันที่การเพรียกหาสิทธิเสรีภาพเป็นกระแสสูง และต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจด้วยนโยบายสาธารณะที่มีความสมเหตุสมผล ตลอดจนดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักความเสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมาย (everyone equal before the law) ที่คนข้นแค้นจักต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นประชาชนชั้นสองเหมือนดังที่ผ่านมาที่ภาครัฐรุกไล่แต่คนจนยากหากแต่หลิ่วตาให้กับกลุ่มทุนและการเมืองที่ถึงจะรุกพื้นที่ทะเลและชายฝั่งอย่างชัดเจนก็ไม่ถูกดำเนินคดี หรือไม่ก็ไม่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คงปล่อยให้ชายหาด ป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ เป็นสมบัติส่วนบุคคลต่อไป

แต่ทว่าถึงวันนี้แล้วแนวคิดเรื่องทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ และการห้ามปิดกั้นชายหาดสาธารณะและการยึดครองทะเลหรือทรัพยากรทะเลและชายฝั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ยังคงไม่มีผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยตรงแต่อย่างใด มีแต่เห็นชอบในหลักการทั่วไปเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ก็มีแนวโน้มที่ดีเมื่อกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งกำลังติดตามเอกสารมติที่ส่งคณะรัฐมนตรีเพื่อจะดำเนินการตามมติสมัชชาปฏิรูปต่อไป ในขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องให้การบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมีธรรมาภิบาลสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนร่วมกันบริหารจัดการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนโดยมุ่งประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ขัดกับเสถียรภาพความมั่นคงของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพมาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (sustainable tourism) ที่สอดผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับการเป็นครัวโลก (kitchen of the world) ของทุกคน

นอกเหนือจากภาครัฐแล้ว ภาคประชาสังคมโดยเครือข่ายภาคใต้ก็ได้รณรงค์เผยแพร่มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในระดับจังหวัดและภาคใต้เพื่อเคลื่อนไหวต่อไป เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน 7 จังหวัดก็มีมติร่วมกันในการคัดค้านนโยบายการถมทะเลและแผนพัฒนาชายฝั่ง รวมทั้งยังมีปฏิบัติการเพชรเกษม 41 เพื่อจะหยุดยั้งแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้อีกด้วย ถึงแม้ว่าปัจจับุบันผลสะเทือนจากปฏิบติการเข้มข้นเหล่านี้จะยังไม่สามารถยกเลิกแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทั่วทุกภาคหรือโครงการพิเศษใดๆ ได้ จนอาจสูญเสียความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นครัวโลกและเมืองท่องเที่ยวในที่สุด

ซึ่งถึงที่สุดแล้วความหวังของสังคมไทยในการรักษาฐานทรัพยากรอาหารและแหล่งท่องเที่ยวโดยการประกาศคุ้มครองเขตพื้นที่ทะเลและชายฝั่งก็ยังคง ‘มลังเมลือง’ อยู่ได้ด้วยภาคประชาสังคมไม่ยอมจำนนต่อการรุกคืบเข้ามาของทุนท้องถิ่น ทุนชาติ และทุนข้ามชาติ ที่ใช้กฎหมายและนโยบายรัฐในการจัดการความขัดแย้งแหลมคมของคนในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาต่อกรกับกลุ่มทุนธุรกิจ-การเมืองที่ฉวยใช้ทรัพยากรท้องถิ่นไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับชุมชนท้องถิ่นที่จะตามมาทั้งทางด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ปฏิบัติการตามมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ซึ่งว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งบนแนวคิดที่ท้าทายสังคมไทยว่าทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยไม่จำนนต่อผู้มีอำนาจทางการเมืองและทุน รวมถึงการปกป้องพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งในฐานะแหล่งผลิตอาหารบนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชานและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับการรับรองความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่จัดวางสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ทางสังคม จะเป็นกลไกสำคัญยิ่งยวดในการรักษาฐานทรัพยากรอาหารและแหล่งท่องเที่ยวที่จะทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น ‘ครัวโลกและเมืองท่องเที่ยว’ ที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น