xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปทำจีดีพีหด จีน-อินเดียจ่อซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - วิกฤตหนี้ยุโรปเริ่มส่งผลกระทบไทยแล้ว สศค.ประเมินจีดีพีไตรมาส 2 ชะลอตัวต่ำกว่า 3.0% หลังพบยอดส่งออกไปยุโรปลดลงไปแล้วถึง 4.2% พร้อมจับตาภาวะเศรษฐกิจจีนและอินเดียที่มีทิศทางชะลอตัวอาจซ้ำเติมวิกฤตยุโรปได้
 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า สศค.คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาส 2 ปีนี้ จะขยายตัวไม่ถึง 3% จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 3% เมื่อปลายเดือนก่อน หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนที่ออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ โดยเฉพาะการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป แต่ทั้งปียังคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ตามประมาณการณ์ที่ 5.7% โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวของการบริโภค และการลงทุน ภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้

ทั้งนี้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในเดือนมิถุนายนที่หดตัวถึง 4.2% แต่เฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปติดลบในระดับสูงถึง 17.6% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย โดยสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ติดลบถึง 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"ไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกลดลงจากปัญหาการผลิต ที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งภาคยานยนต์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนเมษายน แต่การส่งออกมาหดตัวอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการผลิต แต่มาจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรป สะท้อนว่าเริ่มส่งสัญญาณต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิคส์ จากเดิมที่คาดว่า ส่งออกปีนี้จะขยายตัว 12.5% จะลดลงหรือไม่ จะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนกันยายน" นางสาวกุลยากล่าว

นางสาวกุลยา กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา 2 ประเด็นคือ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งสะท้อนการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมที่ยังหดตัว 2.8% การว่างงานในยุโรปที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.1% และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ที่ยังสะท้อนการชะลอตัว โดยเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ปีนี้ขยายตัวเพียง 7.6% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 3 ปี ตามการชะลอตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียกำลังประสบปัญหาทางด้านเสถียรภาพ โดยเฉพาะ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ที่สูงในระดับ 7.3%

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากในประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการคลัง ซึ่งมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภค การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีและเสถียรภาพเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ตลอดจนแรงกดดันของเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่ลดลง ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยด้วย ซึ่งหากจะให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมาย ก็ต้องให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังเร่งตัวมาก โดยไตรมาสที่ 4 คาดว่าการขยายตัวจะเป็นเลขสองหลัก ส่วนหนึ่งมาจากผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นเรื่องฐานที่ต่ำมากด้วย จากช่วงเดียวกันปีก่อนต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น