xs
xsm
sm
md
lg

พลังประชาชน : พลังปฏิรูปประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนับแต่นี้’ มีความหมายไม่เพียงแค่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเนื่องมาจากการตื่นตัวของประชาชนในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยที่สูญหายไป หากในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างก็ยังถูกท้าทายหนักหน่วงอย่างไม่เคยมาก่อนเช่นกัน สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทางสังคมกำลังสั่นคลอนจนหลายฝ่ายวาดหวังว่าจะเกิดการปฏิวัติถอนรากถอนโคนความอยุติธรรมทางสังคมในระดับโครงสร้างได้

อย่างไรก็ดี ที่จะก้าวไปถึงซึ่งความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรการเมือง ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรธรรมชาติ นั้นยังทอดตัวยาวเหยียดไกล ด้วยในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพกลับมุ่งไปที่การเข้าถึงทรัพยากรทางการเมืองเหนืออื่นใดจนมิติต่างๆ ทางสังคมถูกทอนลดลงจนเหลือพื้นที่สาธารณะในการเคลื่อนไหวไม่มากนัก อีกทั้งยังถูกหมางเมินหมิ่นแคลนและประเมินค่าจากภาคประชาสังคมที่ผูกพันตนเองอยู่กับกลุ่มก้อน ‘การเมืองเรื่องสีเสื้อ’ ว่าไม่ก้าวหน้า ปฏิรูปในสิ่งที่ไม่สำคัญ หรือไม่ก็ป้ายสีว่าขบวนการทางสังคมเหล่านั้นไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่เท่าเทียมกัน

ทั้งๆ ที่ความเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมเมืองไทยได้สั่งสมชุดประสบการณ์ทั้งด้านบวกและลบ ทั้งประสบผลสำเร็จและล้มเหลวรอบแล้วรอบเล่า แต่ทว่าถึงที่สุดก็สร้างคุณูปการสำคัญต่อสังคมไทยในหลากหลายมิติ นับตั้งแต่ยุคต้นการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืน สมัชชาคนจน จนถึงขบวนการทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง ที่ต่างก็ก่อรูปความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในด้านสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่มิติการเมืองหรือการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองเชิงสถาบันที่มักจะกีดกัน (exclusion) กลุ่มคนที่ไม่อยู่ในขอบข่ายการเมืองออกไป

บริบทความเป็นประชาธิปไตยในดีกรีที่เข้มข้นขึ้นเปิดโอกาสให้ข้อเรียกร้องเสนอแนะของประชาชนที่แม้จะเป็นคนปลายอ้อปลายแขมได้ส่งเสียงดัง (voice) มีกลไกและพื้นที่สาธารณะในการนำเสนอ คัดค้าน หรือต่อต้านนโยบายสาธารณะที่ไม่เป็นธรรมซึ่งมักผลักภาระด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพให้ชุมชนแบกรับได้ ไม่น้อยไปกว่าการต่อตัวทางความคิด มีจิตสำนึกการต่อสู้ และรวมตัวกันจัดตั้ง (mobilization)

ทั้งนี้ในภาวะวิกฤตสังคมไทยที่ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติหรือสงคราม หากแต่เป็นความขัดแย้งทางความคิดความเชื่อเช่นนี้ จึงนับเป็นช่วงเวลาท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ในการเคลื่อนขบวนของขบวนการทางสังคม (social movement) ว่าจะสามารถนำพาข้อเรียกร้องหรือเสนอแนะของตนเองทั้งในเชิงของประเด็น (issue based) หรือพื้นที่ (area based) ไปให้สาธารณชนรับรู้และตระหนักได้แค่ไหนในกลางสมรภูมิการสัประยุทธ์ทางการเมือง เนื่องจากพื้นที่การเมืองเรื่องความขัดแย้งขยายตัวกว้างขวางไปยังปริมณฑลอื่นๆ อันจะส่งผลกระทบต่อการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาสังคมจนอาจล่มสลายลง จนจำต้องยอมไปเกาะเกี่ยวกับการเมืองเพื่อจะทำให้ประเด็นนั้นๆ ถูกสังคมรับรู้แม้ต้องยอมลดทอนข้อเรียกร้องของตนเองลง หรือกระทั่งจำนนยอมผนวกเข้าเป็นชุดข้อเรียกร้องหรือเสนอแนะของกลุ่มก้อนทางการเมืองหรือพรรคการเมือง

ครั้นเมื่อเรื่องราวทางสังคมถูกจำกัดการรับรู้และตระหนักถึง ปัญหาสาหัสของคนคับแค้นขื่นขมจึงถูกทอนลดลงเหลือเพียงเสียงโวยวายน่ารำคาญจากการเรียกร้องไม่รู้จบสิ้น ส่งผลให้เสียงที่แตกต่างจากการพัฒนากระแสหลักที่คนส่วนน้อยระดับบนได้รับประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยสามารถเอารัดเอาเปรียบคนจนข้นแค้นได้ต่อเนื่องนั้นจางหายไปในที่สุด

ดังนั้นในการจะ ‘ปฏิรูปประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม’ จึงต้องปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรการเมือง ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีความเป็นธรรมกับคนเล็กคนน้อยมากขึ้น รวมถึงต้องเร่งทบทวนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อกำหนดอนาคตของขบวนการทางสังคมด้วยว่าประเด็นของการขับเคลื่อนไม่ควรคับแคบแค่การเมืองถึงแม้การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรก็ตามที

ที่สำคัญข้อเสนอแนะและประเด็นปฏิรูปประเทศไทยในระดับปรับเปลี่ยนระบบและโครงสร้างให้มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมควรมาจากกระบวนการที่ทุกภาคส่วนสังคมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนถึงผลิตออกมาเป็นชุดข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติการได้จริงเพื่อจะสามารถแก้วิกฤตสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จนถึงสุขภาพได้ในบริบทที่ทุนโลกาภิวัตน์กำลังรุกคืบเข้ามากลืนกินทุนทรัพยากรของสังคมไทยในทุกด้านผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมและการครอบงำทางความคิดทั้งในเชิงของระเบียบกฎหมายการค้าการลงทุน ข่าวสารข้อมูล จนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ดังการพยายามหลอมรวมทุกภาคส่วนสังคมเข้ามาสร้าง ‘มติฉันทามติปฏิรูปประเทศไทย’ ร่วมกันของขบวนการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มีทั้งเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ สมัชชาปฏิรูประดับจังหวัด และสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น เป็นเครื่องมือในการระดมความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปทรัพยากรการเมือง 4 ด้าน คือ โครงสร้างอำนาจ กระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และกองทัพ

การปฏิรูปทรัพยากรเศรษฐกิจ 7 ด้าน คือ ทุน แรงงาน การเกษตร ภาษี ตลาด พาณิชย์และอุตสาหกรรม และพลังงาน การปฏิรูปทรัพยากรสังคม 7 ด้าน คือ การศึกษา ศาสนธรรมและจิตวิญญาณ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ การสื่อสาร สาธารณสุข คุณภาพชีวิต และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ 6 ด้าน คือ ที่ดินเพื่อการเกษตร ทรัพยากรแร่ ป่า น้ำ ทะเลและชายฝั่ง และสิ่งแวดล้อมกับระบบนิเวศ เพื่อจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าได้ในภาวะความเชื่อถือศรัทธาระหว่างประชาชนที่สวมเสื้อสีต่างกันตกต่ำขีดสุดถึงขั้นทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

การมีภาคีเครือข่ายเชื่อมโยงจากทุกภาคส่วนสังคมเข้ามาปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทยที่บิดเบี้ยวในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมทางสังคมจากการที่ ‘หน้าต่างแห่งโอกาส-โครงสร้างโอกาสทางการเมือง-เฟื่องฟูเพื่อนมิตร’ กำลังเปิดกว้างจากการตื่นตัวตระหนักรู้ในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกสีเสื้อจึงเป็นจังหวะเวลาสำคัญสุดของขบวนการทางสังคมที่ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีการเคลื่อนไหวให้ไม่เพียงมีพลวัตสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปโดยไม่ทำให้ความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางอำนาจและโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมคลายตัวลงเท่านั้น ทว่ายังต้องระดมประชาชนเข้ามาร่วมและสนับสนุนให้ได้มากสุดด้วยเพื่อที่จะขยายเครือข่ายความยุติธรรมออกไปได้มากพอจะรื้อถอนโครงสร้างสังคมที่กีดกันกดทับผู้คนไว้ในความยากจน นอกหนือไปจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นหนทางเดียวที่จะได้มาซึ่งข้อเรียกร้องของกลุ่มตนเอง

ประชาชนทุกสีเสื้อจึงเป็นพลังปฏิรูปประเทศไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่วิถีทางการเมืองเรื่องเลือกตั้งหรือมีพรรคการเมืองสังกัด เพียงแต่จัดตั้งตนเองเป็นพลังในการสร้างเสริมสิทธิเสรีภาพที่ถูกลิดรอนละเมิดไป ในขณะเดียวกันก็กรุยทางสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม/ทางตรง ผ่านการเข้าร่วมเรียกร้องเสนอแนะในเวทีต่างๆ อย่างเป็นประจำเพื่อจะระดม ‘พลพรรคเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป’ ในระดับของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมที่จะต้องมีความเป็นธรรมมากขึ้น ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วจุดมุ่งหมายของขบวนการทางสังคมเช่นนี้อาจไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจเนื่องจากไปกระทบกับผลประโยชน์ของพวกเขาก็ตามที!
กำลังโหลดความคิดเห็น