xs
xsm
sm
md
lg

ทุจริตสอบเข้าราชการ แก้ไขอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

ผลกระทบวงกว้างจากประเด็น “ทุจริตสอบนายสิบ” สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทย ยังอ่อนแอหลักคิดและหลักปฏิบัติ เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พาไปบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ใช้อยู่ นั่นยังชี้ให้เห็นว่าแผนพัฒนาฯ ยังไม่ถูกใช้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียังไม่มีตัวชี้วัดการดำเนินการ ทั้งยังขาดการสร้างระบบผดุงคุณธรรม จริยธรรมอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างสังคมแห่งธรรมาภิบาลสำหรับการบริหารบ้านเมืองที่ดี

การทุจริตสอบเข้าราชการ ซึ่งจะเป็นการสอบตำรวจนายสิบ นายร้อย ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ข้าราชการครู หรือข้าราชการอื่น ที่มีข่าวว่าจะมีการตรวจสอบก่อนการสอบอย่างเข้มข้น โดยใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย ติดตั้งกล้องวงจรปิด รวมทั้งตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อความสุจริต จะแน่ใจได้อย่างไรว่า มาตรการเหล่านั้น เป็นการป้องกันการทุจริตในการสอบได้สุทธิ หากจะไล่เรียงไปถึงวิธีการทุจริตในการสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโกงสอบ ด้วยรหัสสัญญาณด้วยมือ-เท้า ศีรษะ หรือใช้เสียง และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ นั่นยังพอทำเนาได้ว่าส่อทุจริตเชิงพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมชัด

แต่ถ้าจะสาวลงลึกถึงวิธีการทุจริตสอบเข้า ด้วยกระบวนการเด็กเส้น เด็กสาย เด็กนาย เด็กฝาก ลูกท่าน หลานเธอ และแป๊ะเจี๊ยะ ที่รับกินกันทั้งในที่แจ้งและที่ลับ นับว่าเป็นพฤติการณ์ทุจริตทั้งสิ้น ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการมีทั้ง “คนใน” ตำแหน่งใหญ่โต และ “คนนอก” ซึ่งเป็นมือปืนรับจ้าง จะว่าไปแล้ววงจรอุบาทว์ เหล่านี้มีอยู่ในสังคมไทยที่อ่อนแอ “ระบบการติดตามและตรวจสอบ” อย่างเข้มแข็ง และค่านิยมยอมรับ การอุปถัมภ์และเอื้อประโยชน์แบบสมยอม หากมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม เครือข่ายต่างๆ สื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการปลุกจิตสำนึกความเคารพในกติกาสังคม (Norm) ซึ่งเป็นความดีงาม ประเพณี วัฒนธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาดจริง ย่อมปลุกกระแสยับยั้ง การระบาดของโรคทุจริตให้อยู่ในวงจำกัดได้

...ประเทศไทยเสียเวลา งบประมาณและกระดาษมากเกินไปสำหรับการเขียนกฎหมาย และการก่อตั้งหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตและความโปร่งใส แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับ “ได้ไม่คุ้มเสีย” แถมยังสร้างความบอบช้ำให้กับระบบและมาตรฐานจริยธรรมทางสังคม จากวิธีการที่ซับซ้อนและแยบยลมากขึ้นของกระบวนการทุจริตทุกรูปแบบ

ยังเชื่อมั่นว่า เสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทยได้ ควรจะสร้างระบบติดตาม ตรวจสอบและประเมิน มาตรฐานทางจริยธรรมของระบบราชการและระบบงานทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง เพื่อรับรองผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนขั้นหรือพิจารณาความดีความชอบอย่างยุติธรรม ทว่ามัวประกาศนโยบายต้านทุจริตคอร์รัปชัน แต่ไร้มาตรการและกระบวนการติดตามตรวจสอบแล้ว ก็ยังคง “เหลวไม่เป็นท่า” อยู่เช่นเดิม ...เผลอหลับไปข้ามปี เยาวชนรุ่นใหม่กลับจะมีค่านิยมที่เชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติในอนาคตอันใกล้

ได้ฟังธรรมะเตือนสติของพระอริยสงฆ์รูปหนึ่ง เรื่องศีลห้า แก้ปัญหาสังคมไทยได้หลายเรื่อง ว่า ประกันชีวิตด้วยศีลข้อหนึ่ง ประกันทรัพย์สินด้วยศีลข้อสอง ประกันครอบครัวด้วยศีลข้อสาม ประกันสังคมด้วยศีลข้อสี่ และประกันสติปัญญาด้วยศีลข้อห้า จะแก้ปัญหาทุจริตการสอบนายสิบ ก็กลับไปดูความหมายและองค์ประกอบของศีลธรรมพื้นฐานข้อสอง ทั้งนี้ขออัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเตือนสติสัมปชัญญะของผู้ทุจริต คอร์รัปชัน (ที่มา...องค์กรเพื่อสร้างความโปร่งใส ในประเทศไทย) ว่า

“ถ้าทุจริตแม้นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ขอว่าให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต..สุจริต และมีความตั้งใจ มุ่งมั่นสร้างความเจริญ ก็ขอต่ออายุให้ถึง 100 ปี ส่วนคนไหนมีอายุมากแล้ว ขอให้แข็งแรง...ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทย รอดพ้นอันตราย...ภายใน 10 ปีประเทศไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญคือ ต้องหยุดการทุจริตและไม่ทุจริตเสียเอง...”
กำลังโหลดความคิดเห็น