xs
xsm
sm
md
lg

จับเท็จ! เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียมของไทย (จากคำสัมภาษณ์อธิบดี)

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

กระทรวงพลังงาน โดยอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (นายทรงภพ พลจันทร์) ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย (30 พ.ค.55) เกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 22 แปลงในเร็วนี้พอสรุปได้ว่า

(1) การประมูลครั้งนี้ค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมค่อนข้างมากก็ตาม เพราะผลประโยชน์ตอบแทนของไทยจากปิโตรเลียมเมื่อเทียบกับทั่วโลกอยู่ในระดับกลาง ทั้งที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก (2) ผลประโยชน์ตอบแทนต่อประเทศทั้งระบบ ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลตอบแทนเป็นสัดส่วนรายได้ถึงร้อยละ 55-60 ผู้ประกอบการได้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 40-45 และ (3) ในปี 2554 รัฐบาลได้ผลตอบแทนจากสัมปทานปิโตรเลียม 147,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าภาคหลวง 60,000-70,000 ล้านบาทและภาษีเงินได้ 80,000 ล้านบาท

ในบทความนี้ ผมจะใช้ข้อมูลจากเอกสารของกระทรวงพลังงานและเอกสารจากหน่วยงานของรัฐบาลแคนาดามาแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลทั้ง 3 ข้อในคำสัมภาษณ์นี้เป็นความเท็จ ดังนั้น ถ้าสังคมไทยเพิกเฉยปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปตามแผนของกระทรวงพลังงานแล้ว ผลประโยชน์ที่คนไทยควรจะได้รับอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกับอารยประเทศก็จะหายไป

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกับ “ผลประโยชน์ตอบแทนต่อประเทศทั้งระบบ” ว่าคืออะไรบ้าง โดยปกติ บริษัทที่ได้รับสัมปทานให้ทำการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) จะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของประเทศจำนวน 3 รายการ คือ หนึ่ง ค่าภาคหลวงในอัตราประมาณ 12.5% ของราคาที่ขายได้ (ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่อยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก-จะแสดงหลักฐานต่อไป) สอง ภาษีเงินได้ของบริษัทหลังจากหักต้นทุนค่าดำเนินการไม่เกิน 50% ของรายได้ (หลังจากหักค่าภาคหลวงแล้ว) ทั้งนี้อัตราภาษีไม่น้อยกว่า 50% และสาม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ (หรือโบนัส-รายการนี้เพิ่งบัญญัติขึ้นใหม่ใน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ฉบับที่ 4 ปี 2532 หมายเหตุ รายการนี้ใช้ในกรณีที่บริษัทมีกำไร มีอัตราการคำนวณที่ละเอียดยิบ ผมในฐานะที่เป็นอาจารย์คณิตศาสตร์อ่านแล้วยังรู้สึกงงๆ) ผลรวมของทั้งสามรายการนี้ เรียกว่า ส่วนแบ่งที่รัฐบาลได้รับ (government take) ตารางข้างล่างนี้แสดงข้อมูลต่างๆ ในปี 2548 และ 2553 โดยเริ่มต้นจากมูลค่าปิโตรเลียมที่ปากหลุม

จากตารางดังกล่าวเราจะเห็นว่า ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับอยู่ที่ประมาณปีละ 29% ของมูลค่าปิโตรเลียมเท่านั้น ส่วนที่เป็นก้อนใหญ่ประมาณ 71% เป็นส่วนที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้รับไป (หรือ company take) ท่านผู้อ่านได้เห็นแล้วว่า ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอ (ซึ่งเป็นข้อมูลของกระทรวงพลังงาน) รวมทั้งที่คำนวณได้นั้นเป็นคนละเรื่องกับที่ท่านอธิบดีให้สัมภาษณ์ (ในข้อที่ 2) ว่า ทั้งระบบรัฐบาลไทยได้รับผลประโยชน์ 55-60%

สำหรับในหัวข้อที่ว่าผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับอยู่ในระดับกลาง (เมื่อเทียบกับประเทศอื่น) และแหล่งของไทยมีขนาดเล็กนั้น จากรายงานเรื่อง Our Fair Share: Alberta Royalty Review Panal เป็นของจัดหวัด Alberta ประเทศแคนาดา (กันยายน 2007) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงการเพิ่ม “ส่วนที่รัฐบาลได้รับ” ของประเทศต่างๆ จากปี 2002 (2545) ถึงปี 2549 พบว่า ทุกประเทศ (ในแผนผัง) ได้รับในอัตราเดิมที่มากกว่า 45% ทั้งนั้น แล้วได้เพิ่มไปสู่อัตราใหม่ที่สูงขึ้น เช่น ประเทศจีนเคยได้ 90% เพิ่มเป็น 92% ในขณะที่ประเทศไทยได้รับเพียง 29.98% เท่านั้น

มาถึงประเด็นที่ว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก เรื่องนี้ก็เป็นเท็จอีก เช่น แหล่งลันตา สิมิลันและสุรินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ 9,686 ตารางกิโลเมตร อยู่บริเวณอ่าวไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มผลิตเมื่อ มกราคม 2551 ได้ก๊าซวันละ 6 ล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมัน 3,312 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของน้ำมันที่คนไทยใช้ นี่หรือเล็ก! ในทางตรงกันข้าม ผมเคยค้นพบว่า แหล่งน้ำมันในสหรัฐอเมริกา โดยเฉลี่ยแต่ละหลุมสามารถเจาะน้ำมันได้เพียงวันละ 10 บาร์เรลเท่านั้น (ขออภัยที่ผมไม่มีเวลาย้อนไปหาหลักฐานอ้างอิง)

มาถึงคำสัมภาษณ์ในข้อที่ 3 ที่ว่าไทยได้ค่าภาคหลวง 6-7 หมื่นล้านบาท ผมตรวจสอบข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้วพบว่า ค่าภาคหลวงอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านเท่านั้น (โดยมีมูลค่าปิโตรเลียมเท่ากับ 377,665 ล้านบาท) สำหรับที่ว่าภาษีเงินได้ 8 หมื่นล้านบาทนั้น ผมยังค้นข้อมูลของกรมฯ ไม่พบ แต่ท่านผู้อ่านสามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลปี 2553 ในตารางได้ครับ มันไม่น่าจะถึง 6 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำ

สรุป นอกจากผู้ให้สัมภาษณ์ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติตามหน้าที่แล้ว ยังได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อคนไทยทั้งประเทศทั้ง 3 ข้อเลยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น