“ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาล” ยื่นหนังสือค้านสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ชี้ค่าสัมปทานยังราคาเดิมไม่แก้ไข ทำคนไทยจ่ายค่าใช้พลังงานสูง แนะนายกฯ ฟังความเห็นประชาชน จี้สภาแก้กฏหมายให้สอดคล้องสถานการณ์ ด้าน ส.ว.กทม.เผยพลังงานอ้างเฉยเปลี่ยนแปลงไม่ได้
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น. พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาล เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของกระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิง ตามที่กำหนดเขตพื้นที่สำรวจปิโตรเลียมจำนวน 22 แปลงต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดย พญ.กมลพรรณกล่าวว่า การให้สัมปทานดังกล่าวยังคงคิดค่าสัมปทานเท่าเดิมคือสัดส่วนร้อยละ 5-15 ไม่ได้มีการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม เมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานและมีรายได้นับแสนล้านบาท ขณะที่คนไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระงับการให้สัมปทานเพื่อรับความเห็นของประชาชน ขณะที่รัฐสภาควรแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ปัจจุบัน
ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า ปัจจุบันราคาปิโตรเลียมสูงกว่าในอดีต กรรมาธิการเคยสอบถามไปยังกระทรวงพลังเรื่องการปรับค่าสัมปทานให้สูงขึ้นโดยถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับราคาสัมปทานให้เหมาะสม ซึ่งกระทรวงพลังงานแจ้งว่าค่าสัมปทานเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในอดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต่อมาเมื่อจะให้สัมปทานใหม่ในครั้งนี้ได้มีการสอบถามไปยังกระทรวงฯ อีกครั้งก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิมคือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าสัมปทานได้ แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากภาษีกลับพบว่าสัดส่วนภาษีที่เก็บเข้ารัฐคำนวณจากกำไรสุทธิซึ่งหมายความว่าประเทศไทยยังมีรายได้จากการให้สัมปทานพลังงานต่ำเหมือนเดิม ทั้งที่ราคาพลังงานที่บริษัทเอกชนในแต่ละปีมีมูลค่าสูงแตกต่างกันมาก ทั้งนี้ ในการประชุมกรรมาธิการวันที่ 12 ก.ค. จะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาชี้แจงเรื่องราคาพลังงาน กรรมาธิการฯ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีพลังงานเนื่องจากที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เลี่ยงที่จะมาตอบกระทู้ถามในที่ประชุมวุฒิสภาตามที่เคยได้ตั้งกระทู้สอบถามเรื่องราคาก๊าซและราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายเครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการให้ดำเนินการตรวจสอบ