xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนเสียงที่ไร้เสียงให้มีเสียง : การเคลื่อนขบวนนโยบายแรงงานแบบมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานควรถูกคำนึงถึงในทุกช่วงชีวิตของการเป็นรัฐบาลที่มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไม่ใช่เฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ต้องการคะแนนจัดตั้งรัฐบาล การจัดการชดเชยเยียวยาหลังภัยพิบัติธรรมชาติหรือวิกฤตเศรษฐกิจ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อผ่านพ้นสัญญาประชาคมของนโยบายประชานิยมก่อนได้เป็นรัฐบาลและการเคลื่อนขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงานในวันแรงงาน

คนเล็กคนน้อยที่กลายเป็นคนไร้ตัวตนในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมเพราะสูญเสียอัตลักษณ์ รากเหง้าวัฒนธรรม และ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ จากการถูกทอนลดคุณค่าเหลือเพียงฟันเฟืองขับเคลื่อนกลจักรอุตสาหกรรม ได้ทำให้สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันอันถูกวิเคราะห์ผ่านความรู้ทฤษฎีมุมเศรษฐกิจที่มีดัชนีชี้วัดเป็น GDP มากกว่าดัชนีคุณภาพความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเหลือเพียงแค่การขึ้นอัตราค่าจ้างเป็นสำคัญเพราะมีส่วนสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจในฐานะของต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับมากขึ้น

การเคลื่อนไหวเรียกร้องของแรงงานในนาม ‘สิทธิแรงงาน’ (Labor Rights) ที่ต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองจึงถูกนิยามตีความตามความเข้าใจของรัฐบาลและผู้ประกอบการ รวมถึงการรับรู้ของสาธารณะอย่างหยาบๆ ง่ายๆ เสมอมาว่าคือแค่การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำก็เพียงพอแล้วที่จะสามารถหยุดยั้ง ‘เสียงเรียกร้องซ้ำซากน่ารำคาญ’ ที่หวนคืนมาทุกครั้งในวันแรงงานได้ ซึ่งถึงที่สุดการขึ้นค่าจ้างรายวันก็ได้ไม่กี่สิบบาท ซ้ำร้ายหลายกรณียังถูกต่อรองล็อบบี้จากกลุ่มทุนธุรกิจจนเหลือไม่กี่บาทด้วย โดยระหว่างนั้นค่าครองชีพก็สูงขึ้นล่วงหน้าไปแล้วจนรายได้ที่ได้เพิ่มมานั้นน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้นมาก

ภาระค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมากจากภาวะข้าวยากหมากแพง และนโยบายหาเสียงที่เพิ่มต้นทุนรายจ่ายในการใช้ชีวิตและดูแลครอบครัวจึงไม่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มเพียงเล็กน้อยโดยนโยบายประชานิยมที่ให้ความหวังประชาชนระยะสั้นแต่ไม่ได้สร้างเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานระยะยาวจึงต้องการการปรับเปลี่ยนตั้งแต่แง่มุมการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะกระทั่งการติดตามประเมินผล

ภาพการเคลื่อนขบวนความผิดหวังระคนขมขื่นคับแค้นของผู้คนทุกวันที่ 1 พฤษภาคมบนถนนหนทางและสถานที่สาธารณะนับแต่ถนนราชดำเนินจนถึงทำเนียบรัฐบาล อันเนื่องมาจากไม่สามารถผลักดันข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิแรงงานด้านต่างๆ จากรัฐบาลในขณะนั้นๆ ให้ปฏิบัติตามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมกลุ่มแรงงานเพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองกับกลุ่มธุรกิจที่กุมอำนาจทุนและการเมืองที่ถือเป็นวิกฤตการณ์สำคัญที่ต้องแก้ไขคลี่คลายภายในระยะเวลาอันสั้นอันจะทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นได้

นัยสำคัญในการผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านแรงงานบนกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแรงงานที่ดีทั้งกับแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าว ในบริบทที่ประเทศไทยกำลังเปิดประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่การเคลื่อนย้ายแรงงานจะกว้างขวางมากขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพจากการมีแรงงานมีฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือเข้ามามากขึ้นจึงต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วนสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนที่จะต้องลดผลประโยชน์ส่วนตนบนความมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน

ดังนั้นการบูรณาการเป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) จึงต้องมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน (Human Rights and Fundamental Labor Rights) ทั้ง 1) การขจัดการใช้แรงงานบังคับ 2) เสรีภาพในการสมาคม 3) เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง 4) การไม่เลือกปฏิบัติในการทำงาน และ 5) การใช้แรงงานเด็กและสตรี รวมถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานด้านสังคมและเศรษฐกิจ คือ 1) เสรีภาพในการนัดหยุดงาน 2) มาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ 3) ความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพอนามัย

4) การชดเชยในกรณีที่มีการบาดเจ็บจากการทำงาน 5) ค่าจ้างขั้นต่ำ 6) ความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และ 7) การปกป้องแรงงานอพยพ เพื่อจะสามารถครอบคลุมทุกกลุ่มแรงงานที่เป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจากเคยถูกละเลยลดทอนลงเหลือเพียงฟันเฟืองเครื่องจักรอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกล่าวมาข้างต้นแล้ว การดำเนินการตามมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ยังต้องมุ่ง 1) เพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานโดยการผลักดันรัฐบาลให้สัตยาบันตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในปี 2555 นี้ ทั้งการรวมตัวในกลุ่มอุตสาหกรรม ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ระหว่างแรงงานประเภทเดียวกันและต่างประเภทกัน ระหว่างคนที่เป็นลูกจ้างและไม่เป็นลูกจ้าง รวมถึงการให้กระทรวงแรงงานออกระเบียบใหม่ในการเลือกตั้งของระบบไตรภาคีให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่แรงงานทุกคนออกเสียงได้ 1 คน 1 เสียง ตามมาตรา 84 (7) ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และการให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานหรือกองทุนการเงินของแรงงานตามมาตรา 84 (9)

2) การปรับโครงสร้างค่าจ้าง โดยผลักดันให้รัฐบาลและนายจ้างมีนโยบายชัดเจนเรื่องโครงสร้างค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงค่าครองชีพและฝีมือที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ ความเสี่ยงและลักษณะงานของลูกจ้าง ซึ่งจะเพิ่มขึ้นได้โดยวัดจากประสบการณ์ ฝีมือ และทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น สำหรับลูกจ้างที่เริ่มทำงานเป็นครั้งแรกให้มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน

3) การพัฒนาสมรรถนะ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงปรารถนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานเร่งรัดจัดตั้งองค์กรอิสระรับรองวิทยฐานะฝีมือแรงงานทุกประเภท และให้รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยจัดตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ต่อปี ให้ธุรกิจกู้ไปพัฒนาฝีมือลูกจ้างตามความต้องการและความจำเป็นของธุรกิจแต่ละราย โดยนายจ้างที่ใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้และฝีมือลูกจ้างสามารถนำเงินลงทุนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น

4) การคุ้มครองแรงงาน โดยให้กระทรวงแรงงานร่วมกับนายจ้างจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงานเพื่อจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการทำให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเลิกกิจการ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากกองทุน และลูกจ้างมีสิทธิได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงานในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ด้วย โดยรวมถึงการให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดให้มีการคุ้มครองแรงงานทุกประเภท อันรวมถึงแรงงานต่างด้าว และมีสวัสดิการตามความเสี่ยงของการประกอบอาชีพและการประกันสังคมถ้วนหน้าด้วย

ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ถั่งโถมแรงงานไทยทุกประเภทอันเนื่องมาจากการเสียสิทธิแรงงานและอำนาจการเจรจาต่อรองจากมาตรการกฎหมายและการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เลือกปฏิบัติของรัฐซึ่งเอียงข้างเข้ากลุ่มทุนจนผลประโยชน์ของแรงงานถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ท้ายสุดแม้พยายามจะส่งเสียง (voice) สะท้อนความอยุติธรรมทั้งที่เกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคลและโครงสร้างสังคม จนต้องปฏิบัติการผลักดันความคับแค้นขื่นขมออกมาบนท้องถนนเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากรัฐและทุนที่รวมถึงการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จำนวนเงินก็ถือว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับภาระค่าครองชีพที่ต้องแบกรับและมากกว่านั้นเมื่อคำนวณจากเม็ดเงินกำไรมหาศาลจากการประกอบกิจการของกลุ่มทุน

ทั้งนี้เพื่อจะบรรลุจุดมุ่งหมายในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เกิดกับแรงงานทุกประเภท ทุกภาคส่วนซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานที่มากกว่าการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะด้านแรงงานแบบมีส่วนรวมบนกระบวนการประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับทุกคนทั้งในฐานะ 1 คน 1 เสียง เพื่อเสียงที่ไร้เสียง (voiceless) จะกลายเป็นเสียงที่ทั้งสังคมต้องรับฟัง รวมทั้งยังเป็นพลังหลักของการปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมขับเคลื่อนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น