ลองสำรวจประวัติศาสตร์ดูก็จะพบว่า ‘ขอทาน’ นั้น มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นอาชีพเก่าแก่อย่างหนึ่งของโลก เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมที่ตกทอดกันมาช้านาน พวกเขาดำรงชีวิตด้วยการขอรับบริจาคเศษเงินของผู้เดินทางผ่านไปผ่านมา มีลักษณะโทรมซอมซ่อดึงดูดความรู้สึกสงสาร อาจจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าขาดวิ่น เนื้อตัวมอมแมม ความบกพร่องทางร่างกาย หรือบางรายหอบลูกจูงหลานมานั่งขอรับทานกันก็มีให้เห็น
วิธีหาเงินของขอทาน กลายๆ ว่าเป็นการขายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อแลกความอยู่รอด แลกเศษเงินประทังชีวิต แต่เป็นเรื่องยากหากจะแยกแยะว่า บุคคลหนึ่งมาขอทานนั้นอับจนหนทางในการทำกินจริงๆ หรือเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมีความน่าสงสารเป็นจุดขาย
แน่นอนว่าด้วยรูปลักษณ์ของขอทานก็กระตุ้นการบริจาคของผู้พบเห็นได้ไม่น้อย เพราะที่แน่ๆ ในแต่ละวันคงต้องได้เศษเงินอาจมากน้อยต่างกันไป ซึ่งหากเก็บเล็กผสมน้อยบางทีอาจร่ำรวยกว่าผู้บริจาคหลายๆ ท่านก็เป็นได้
ตัวอย่างกรณีขอทานผู้มีร่างกายไม่สมประกอบป่วยโปลิโอ ‘ลุงเอี่ยม’ หรือ เอี่ยม คัมภิรานนท์ อายุ 62 ปี ที่บริจาคเงินร่วม 1 ล้าน แก่วัดไร่ขิง จ.นครปฐม ก็สร้างความฮือฮาต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะคงอดแปลกใจกันไม่ได้ว่าทำไมผู้ประกอบอาชีพขอทานถึงมีเงินจำนวนมากมายขนาดนี้
แต่ถ้าย้อนพิจารณาถึงอุปนิสัยของคนไทยที่มีความเมตตากรุณา ขี้สงสาร ก็คงไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักที่การให้ทาน จะทำให้ขอทานคนหนึ่งกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมา
ย้อนรอยวัฒนธรรมขอทาน
ถึงแม้ ‘ขอทาน’ จะไม่ถูกยอมรับกันว่าเป็นอาชีพก็ตาม แต่ในปัจจุบันกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นขอทานถือว่า มีรายได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ แรกเริ่มของขอทานนั้นไม่ได้มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจนนัก หากแต่มีการเขียนในหนังสือไว้บ้างว่า ในหนังสือ A Caveat or Warning for Common Cursitors, vulgarly called vagabomds เขียนโดย โธมัส เฮอรืแมน ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1566 ในช่วงก่อนอังกฤษสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการเขียนถึงเรื่องราวของชีวิตคนเร่ร่อนมีลักษณะคล้ายกับขอทาน และต่อมามีบทละครโอเปร่าที่ชื่อ the begger’s opera เกี่ยวกับขอทานซึ่งแต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1728 โดยจอร์น เกรย์ นอกจากนี้จากที่แจ็คสัน เจ สไพโวเกล นักประวัติศาสตร์ยุโรปกล่าวไว้ว่า
‘ความยากจนเป็นปัญหาที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนในศตวรรษที่18 ทั้งในเมืองและในชนบท ขอทานในโบรอลญ่า ของสเปนมีมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ขณะที่ไมท์ในเยอรมันพบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มีประชากรเป็นขอทานหรือโสเภณี และในฝรั่งเศสกับอังกฤษในช่วงสิ้นสุดศตวรรษ มีการประมาณกันว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีชีวิตขึ้นอยู่กับเงินการกุศลหรือของบริจาคเพื่ออาหารในการดำรงชีวิตเลยก็ว่าได้’
ลักษณะโดยทั่วไปของขอทานในปัจจุบันนั้น อยู่ด้วยเงินจากการขอทาน และจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ตามลานจอดรถ ตามที่วารสารสาธารณสุขของแคนาดาระบุไว้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ พวกขอทานจะได้รับเงินเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปแล้วพวกเขาต้องการรายได้ที่มั่นคง และออกไปจากชีวิตที่เป็นอยู่ แต่โดยมากแล้วพวกรู้สึกว่าไม่สามารถปฏิบัติวิชาชีพใดๆ ได้ เพราะมีอาการทางจิตและอาจพิการด้วย ทั้งนี้ลักษณะของขอทานจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ในบางประเทศขอทานต้องใช้ความอดทน ซึ่งมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุนให้เกิดขอทานเป็นอาชีพ ซึ่งมาจากประเพณีทางศาสนา ที่มีค่านิยมบอกว่าคนที่ให้ทานมากๆ จะได้รับความนับหน้าถือตาและเลื่อมใส
ยังมีเรื่องเล่าของขอทาน ‘วังปาฏิหาริย์’ เขตชุมชนแออัดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อครั้งอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ลักลอบเข้าเมืองและผู้อพยพจากชนบท ผู้คนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการเป็นขอทาน บางคนแสร้งทำเจ็บป่วย หรือเป็นโรคเพื่อเรียกความเห็นใจ ครั้นเมื่อกลับบ้านก็เลิกทำ และกลายเป็นคนปกติ ราวกับเป็นเรื่องอัศจรรย์ และก็ถูกนำมาทำเป็นนิยายเรื่อง ‘คนค่อมแห่งนอเทรอดาม’ โดย วิกเตอร์ ฮูโก
มองข้างฝั่งไปยังประเทศจีน หากเอ่ยถึงขอทานสิ่งที่ตามมาคงจะหนีไม่พ้น พรรคกะยาจก ซึ่งจากบทความที่เขียนโดย สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ในยุคราชวงศ์ อาชีพยาจกนั้นแตกต่างจากขอทาน ด้วยไม่ได้ถูกมองอย่างต่ำต้อยอย่างในสมัยปัจจุบัน ความเชื่อที่ว่าจักรพรรดิ์ผู้ทรงธรรม มีหน้าที่ในการอุดหนุนอาณาประชาราษฏร์ ซึ่งรวมถึงยากจกผู้เดือดร้อน ทำให้จักรพรรดิ์จำต้องให้การช่วยเหลือยาจก บางพระองค์ถึงกับสร้างโรงทาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่มีอาหารบริบูรณ์ นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องการทำบุญ ยังทำให้คนจำนวนไม่น้อยสละทรัพย์แก่ยาจก
ในยุคนั้นมียาจกเป็นจำนวนมากจนเกิดการจัดตั้งองค์กร และความสัมพันธ์ภายในองค์กรยาจกอย่างเป็นระบบ กระทั่งรัฐจำเป็นต้องต่อรอง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการ เพื่อความมั่นคง โดยในสมัยราชวงศ์ชิง ขุนนางท้องถิ่นจะให้อำนาจหัวหน้ากลุ่มยาจกในท้องที่ ได้รับสิทธิผูกขาดเรี่ยไรทรัพย์ ทำให้ผู้คนไม่สามารถร้องเรียนได้ เมื่อถูกยาจกเรี่ยไร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเช่นยาจกมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือรัฐเล็กๆ น้อยๆ คอยเป็นสายสืบ หรือหัวหน้ายาจกจำต้องควบคุมพลพรรคมิให้ประกอบอาชญากรรม มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษ
โดยรอยต่อของการเป็น ยาจกกับขอทานในประเทศจีนนั้น เกิดจากช่วงเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ ที่มีความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก ทำให้รัฐเริ่มจัดการกับขอทานอย่างจริงจัง แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยเพราะขอทานหรือยาจกนั้นมีอำนาจพอสมควร ถึงขั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งในปฏิวัติประเทศร่วมกับพระมาแล้ว อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นคือขอทานเริ่มถูกมองในทางที่ไม่ดีนัก และไม่เป็นที่ยอมรับ
นอกจากนี้จากการสำรวจโดยนักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการทั้งจีนและตะวันตก พบว่า ขอทานในเมืองใหญ่ ปัจจุบันพบว่ามีการจัดตั้งเป็นองค์กรภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ กล่าวคือขอทานคนหนึ่งมักสังกัดกลุ่มขอทาน ที่มาจากท้องที่เดียวกัน สมาชิกในกลุ่มมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีหัวหน้าขอทานเป็นผู้ดูแลปกป้องสวัสดิภาพของสมาชิก อาทิ การรังควานจากขอทานกลุ่มอื่น การแย่งพื้นที่ การถูกจับกุมของตำรวจ หรือการถ่ายทอดและเปลี่ยนเทคนิคการเรียกลูกค้า
การเติบโตของขอทานตามวิถีพุทธ
“หลักของความเมตตากรุณา ชาวพุทธถูกสอนอยู่ในวัฒนธรรมที่เรียกว่า เมตตากรุณา ความมีน้ำใจในวัฒนธรรมชาวพุทธที่สะสมมาเป็นพันๆ ปี ทำให้เห็นคนที่ตกทุกข์ได้ยากแล้วอยากช่วยเหลือ เห็นคนที่น่าสงสาร คนพิการ คนที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เราก็อยากที่จะบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้พ้นจากความทุกข์”
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก อธิบายถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขอทานเติบโต โดยเฉพาะในสังคมที่พุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อาจมองได้ว่ากลุ่มขอทานนั้นแสวงหาประโยชน์ความมีจิตใจดีงามของชาวพุทธ ขอทานจำนวนหนึ่งอาศัยความเมตตาของชาวพุทธกอบโกยผลประโยชน์จนเกิดความมั่งคั่งร่ำรวย และก็เกิดแก๊งขอทานที่เป็นแก๊งอาชญากรรม ลักพาเด็กมาทารุณกรรมทำเป็นขอทานเพื่อเงิน
“ขอทานไม่ควรเป็นอาชีพ เพราะว่าหมดทางทำมาหากินแล้วจึงขอผู้อื่น และผู้อื่นเห็นสงสารก็ให้ ขอทานมีรายได้เดือนหนึ่งเป็นแสนขณะที่ผู้ให้ผมคิดว่าโดยเฉลี่ยเงินเดือนก็สักหมื่นเดียว ผมคิดว่าเป็นการเอาเปรียบความเมตตากรุณาของผู้คน โดยการทำตัวให้น่าสงสารมาขอคนอื่น เอาความน่าสงสารตัวเองเป็นจุดขาย และแสวงหาประโยชน์จากความเมตตากรุณาของคนอื่น”
ในมุมมองของ ทวีวัฒน์ กลุ่มขอทานนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ซึ่งทางรัฐบาลเองควรมีมาตราการจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อสะสางปัญหาที่คั่งค้างต่างๆ
“รัฐควรเข้ามาจัดระเบียบขอทาน ใครก็ตามที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้และอยู่ในฐานะขอคนอื่นกิน ผมคิดว่าน่าจะมีหน่วยงานเข้ามาดูแลและลงทะเบียนบุคคลเหล่านี้ ขอทานควรเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ การขอทานน่าจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เหล่านี้มันก็จะแก้ปัญหาขอทานได้เดือนละเป็นแสน แต่ขณะเดียวกันคนทำงานขอขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้นกลับยากลำบาก เฉลี่ยแล้วเดือนละไม่ถึงหมื่นด้วย ขณะเดียวกันขอทานมีเงินบริจาคให้วัดเป็นล้าน มันไม่ยุติธรรมสำหรับคนให้
“ผมคิดว่าเมื่อมีการจัดการปัญหาขอทานแล้วมันจะช่วยในเรื่องอาชญากรรมลักพาเด็กไปตัดแขนตัดขาไปทารุณเด็กให้ดูพิการเพื่อมาเป็นขอทาน แก๊งเหล่านี้ก็มั่งคั่งร่ำรวยจากการประกอบอาชีพขอทานที่ทำเป็นขบวนการ อีกอย่างประเทศเรากำลังก้าวสู่ความเป็นอารยประเทศภาพลักษณ์ไม่ควรจะมีขอทาน”
ต่างทวีปแต่ไม่ต่างวาระ
ต้องยอมรับว่า ขอทานนั้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งแต่ละที่อาจมีพฤติกรรมการขอเงินบริจาคต่างกันไปบ้างแต่วัตถุประสงค์ของพวกเขานั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จารุณี วิเชียรแก้ว สาวนักเดินทางที่ได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวมาแล้วเกือบทั่วโลก ทั้งอเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, อินเดีย, ยุโรป หรือในแถบเอเชียใกล้ๆ ก็ฉายภาพของขอทานและวณิพกที่เธอไปเห็นมาในแต่ละภูมิภาคให้เราฟัง
“อย่างที่อเมริกาเหนือนั้น ส่วนมากเราจะเห็นพวกโฮมเลสมากกว่า แต่เขาจะสงบเสงี่ยม ไม่จู่โจมเหมือนที่อินเดีย คือเขาไม่เดินมาขอเราดื้อๆ แต่ส่วนใหญ่จะมีการแสดงเล็กๆ น้อยๆ แลกกับเงินที่เราจะให้ อย่างแย่ที่สุดก็นอนอยู่เฉยๆ กับสัตว์เลี้ยงแล้วก็มีที่ใส่สตางค์ตั้งไว้ ต่างกับที่อินเดียซึ่งทุกคนรู้กันดีว่า มีขอทานมากและเป็นแนวจู่โจมแล้วก็มาอย่างต่อเนื่องคือถ้าให้คนแรกคนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ก็จะเข้ามาหาเราเรื่อยๆ กฎก็คือถ้าเป็นที่อินเดียนี่ห้ามให้เลย ไม่อย่างนั้นจะไม่จบ แล้วเขาไม่ได้มีแต่คนมาขอเงินนะ มาขออาหารก็มีเพราะเขาอยู่กันลำบากจริงๆ แต่พอออกไปนอกเมืองใหญ่ขอทานก็จะไม่ค่อยมีสักเท่าไหร มีแต่คนมาตื๊อขายของ”
แม้ใครๆ มักจะนึกว่า ขอทานที่อินเดียนั้นมีสถานการณ์ที่หนักหน่วงที่สุด แต่ จารุณี กลับบอกกับเราว่าเท่าที่ไปเห็นมา มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“แต่ทั้งนี้ที่อินเดียนี่ ยังไม่เท่ากัมพูชา ที่นั่นโหดมากทั้งจู่โจม มีเล่ห์เหลี่ยมเยอะเลย ที่นั่นขนาดเรานั่งกินข้าวอยู่ เขาก็เดินมาหาเลย ทำท่าหิวแล้วทำท่าทางเหมือนถามเราว่าขอไก่ในจานได้ไหม พอให้ไปเขาก็ไปแบ่งกับเพื่อนๆ แล้วก็ไปขอโต๊ะอื่นต่ออีกเรื่อยๆ แตกต่างกับที่ลาว เพราะที่นั่นนั้นแทบจะไม่มีขอทานเลย เพราะนโยบายของรัฐที่นั่นเขาค่อนข้างเด็ดขาดมากกับเรื่องนี้ จะมีเจ้าหน้าที่มาดูแลอย่างจริงจัง ถ้าอยากจะให้จริงๆ เขามีสำนักงานบริจาคของรัฐบาลเลย
“ส่วนอเมริกาใต้นี่ เราเคยไปที่เปรู ที่นั่นจะมีคนสองกลุ่มคือชาวพื้นเมืองที่เป็นอินคาดั้งเดิม กับคนสเปนิชที่เพิ่งเข้าไปโดยพวกสเปนนี่จะมีเงินนิดหน่อย ซึ่งคนที่มานั่งขอทานจะเป็นเด็กและคนชราชาวพื้นเมือง มีทั้งขอเฉยๆ และแต่งตัวพื้นเมืองมาให้เราถ่ายรูปด้วยและเก็บเงิน ที่ยุโรปก็จะเป็นแนวเปิดหมวกเหมือนๆ กับอเมริกาเหนือ ก็แล้วแต่บางประเทศกัน คือสภาพของขอทานหรือวณิพกนั้นแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม”
..........
อย่างไรก็ตาม แม้ขอทานจะอยู่เคียงคู่โลกมาช้านาน แต่ดูเหมือนวัฒนธรรมการขอในรูปแบบดังกล่าว จะไม่เป็นที่ยอมรับเสียเท่าไหร่ กลับมามองที่ประเทศเทศไทย ก็คงกล่าวได้ว่าการเติบโตของกลุ่มขอทานนั้นเป็นผลมาจากความมีเมตตาที่ชาวพุทธถูกหล่อหลอมกันมา ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ใจบุญทั้งหลายกลายเป็นเหยื่อการบริจาคทาน แน่นอนว่าภาครัฐเองก็คงต้องพิจารณาปัญหาของขอทาน และจัดระเบียบกันอย่างจริงจังเสียที
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร