xs
xsm
sm
md
lg

รัฐฯเหิมตัดงบ โครงการหลวง ครม.ดันTORน้ำท่วม3แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- นายกฯ กราบบังคมทูล “ในหลวง” รัฐบาลจะเร่งทบทวนงบอุดหนุน กทม.ประจำปี 56 แล้ว หลังวาระแรกตัดงบเหี้ยนไม่เว้นโครงการพระราชดำริ แก้จราจรรอบ รพ.ศิริราช และแก้ปัญหาน้ำท่วม ด้านผู้ว่าฯสุโขทัย สั่งระดมกำลัง จนท.ที่อพยพชาวบ้าน 2 หมู่บ้านออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย หลังคันดินกั้นน้ำยมพังนับ 100 เมตร ทำน้ำทะลักท่วมลึกสุดกว่า 2 เมตร ขณะที่น้ำจากสุโขทัยทะลักเข้าท่วมไร่นา "บางระกำ" ขยายวงกว้าง "ปู" เปลี่ยนแผนทัวร์ลุ่มน้ำกะทันหัน จับตาครม.เห็นชอบร่างทีโออาร์จัดการน้ำ 3 แสนล้าน เอื้อกลุ่มทุน!

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ผ่านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 ในวาระแรกเมื่อ เร็วๆ นี้ และได้มีการตัดงบอุดหนุน กทม.ออกกว่าครึ่งหนึ่งของที่ขอไป ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้มอบหมายให้ตนเป็นตัวแทน กทม.เข้าชี้แจงเพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาใหม่ในวาระ 2 และ 3 ก่อนนำเข้าสู่ขั้นตอนการขอความเห็นชอบของรัฐสภานั้น ทั้งนี้ มีโครงการสำคัญที่ กทม.จำเป็นต้องขอให้รัฐบาลอนุมัติงบอุดหนุนหลายโครงการด้วยกัน โดยเฉพาะด้านการดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการคมนาคม-แก้ไขปัญหาการจราจร การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการจัดการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ งบประมาณดำเนินการจัดการศึกษาภาคบังคับให้แก่เด็กนักเรียนในสังกัด กทม.กว่า 360,000 คน ซึ่ง กทม.ขอไป 11,966 ล้านบาทเศษ แต่กลับได้รับมาเพียง 6,973 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช มูลค่าโครงการ 673 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างและจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานต่อเชื่อมถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 กับสะพานพระราม 8 มูลค่าโครงการ 1,600 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรโดยรอบ รพ.ศิริราช ขณะเดียวกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วาระแรกทางรัฐบาลได้ตัดงบโครงการออกทั้ง 2 โครงการ รวมทั้งได้ตัดงบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 500 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าว ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยรับปากว่า จะจัดสรรงบให้ กทม.ดำเนินการด้วย

“เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระหว่างรอรับการเสด็จพระราชดำเนินเปิดพระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ได้สอบถามไปยังรัฐบาลผ่านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อแจ้งขอให้มีการทบทวนงบอุดหนุน กทม.ประจำปี 56 ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองก็ได้กราบบังคมทูล ยืนยันว่า ทางรัฐบาลจะเร่งจัดสรรงบกลาง สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับอรุณอัมรินทร์-ศิริราช ให้ทาง กทม.รับไปดำเนินการตามที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริก่อนหน้านี้โดยเร็วที่สุดด้วย”นายธีระชน กล่าว

****สั่งอพยพชาวบ้านริมน้ำยม

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สุโขทัยวานนี้ (12 มิ.ย.) ยังไม่พ้นวิกฤต หลังแนวคันดินกั้นแม่น้ำยมบริเวณหมู่ 5 ต.ยางซ้าย อ.เมืองสุโขทัย ถูกกระแสน้ำกัดเซาะพังเป็นทางยาว 100 เมตร ส่งผลให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรหมู่ 5 ต.ยางซ้าย และหมู่ 2 ต.ปากพระ ที่อยู่ติดกันบางจุดระดับน้ำท่วมลึกกว่า 2 เมตร ชาวบ้าน 120 ครอบครัว หรือกว่า 350 คนกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

โดยนายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ให้ความช่วยเหลือในการอพยพชาวบ้านจำนวน 21 ครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายกลางกระแสน้ำยม ให้หนีมาพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวบริเวณริมถนนสายปากพระ-ยางซ้าย เพื่อความปลอดภัยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังฝนตกในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ส่งผลให้น้ำได้ไหลลงสู่คูคลองตามธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ หมู่ 9 บ้านตะแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในภาคเหนือ น้ำจากแม่น้ำปิง จ.กำแพงเพชร จาก จ.สุโขทัย ได้ไหลผ่านมายังแม่น้ำยม และคลองกล่ำ คลองเกตุ อ.บางระกำ ได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำที่ท่วมในเขต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ของหมู่ 9 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ เสียหายกว่า 2,000 ไร่แล้ว

**แฉ“ปู”หนีทัวร์"บางระกำโมเดล"

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า กำหนดการทัวร์นกขมิ้นดูน้ำท่วมพื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก วันนี้ (13 มิ.ย.) ได้มีการเปลี่ยนแปลงกระทันเมื่อประมาณเที่ยงวานนี้ โดยเปลี่ยนจากเดิมกำหนดลงพื้นที่ด้วยรถยนต์ตรวจงานที่ "บึงขี้แล้ง" อ.บางระกำ เป็น "บึงสะเดา" อ.วังทอง พร้อมดูงานการขุดลอกคลองระบายน้ำ 2 สายตามโครงการป้องกันและแก้ปัญหาอุกทกภัยเร่งด่วน

ทั้งนี้ นายกฯ ยังมีกำหนดการเดินทางออกจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทเช่นเดิม เพียงแต่ยกเลิกการตรวจงานที่ "บึงขี้แล้ง" ตามแผนงานบางระกำโมเดล หันไปดูงาน "บึงสะเดา" อ.วังทอง แทน และยังคงกำหนดการเดินทางต่อไปยัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และต่อไปที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ค้างแรมเหมือนเดิม

ส่วนสาเหตุการเปลี่ยนแผนดูโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ “บางระกำโมเดล”ซึ่งกำลังเจอกับปัญหาน้ำท่วมนาข้าวชาวบ้านอยู่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้ ยังไม่แน่ชัด ทราบเพียงว่าหลังจากนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะตรวจงานลักษณะส่วนลงหน้าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ระบุว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้มลิง "บึงสะเดา" อ.วังทอง ดูดีกว่า

สำหรับงานขุดลอกบึงสะเดา-บึงกกไม้แก้ว และงานขุดคลองต่างๆ เป็นโครงการบรรเทาน้ำท่วมขังในเขต อ.วังทอง ถือเป็นงานเร่งด่วนที่ลดน้ำท่วมในเขต จ.พิษณุโลก ระบายลงสู่แม่น้ำน่าน จ.พิจิตร อยู่เหนือโครงการปิดทองหลังพระ และอยู่ต่ำกว่าโครงการอ่างเก็บน้ำคลองชมพู อ.เนินมะปราง โดยเป็น 1 ใน 3 ของโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเร่งด่วนได้รับความเห็นชอบจากนายกฯแล้วเมื่อ 14 ก.พ.55

"บึงสะเดา" เป็นบึงขนาด 230 ไร่มีการขุดลอกแล้ว 34 ไร่ เก็บน้ำได้ 3 แสนลูกบาศก์เมตร และยังมีบึงกกไม้แกงอีก 80 ไร่ พร้อมกับคลองเชื่อมจำนวนมาก แต่ปัจจุบันตื้นเขิน ซึ่งโครงการนี้จะต้องขุดต่ออีก 135 ไร่และขุดบึงกกไม้แกง 28 ไร่ ขุดให้ลึกเฉลี่ย 4 เมตร พร้อมลอกคลองเชื่อม 2 สายกว้าง 30-40 เมตร ยาว 16 กม.งบประมาณ 69,879,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ มี.ค.-ส.ค.55 เป้าหมายรับน้ำได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แผนระยะยาวที่จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำต่อคือโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง ลักษณะเป็นเขื่อนดิน กว้าง 10 เมตร ยาว 1,100 เมตร สูง 49.50 เมตร ความจุกักเก็บ 86.26 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 90,300 ไร่ โดยราคาค่าก่อสร้าง 1,032 ล้านบาท

ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากแผนระยะสั้นและระยะยาวคือเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาอุทกภัยในเขต ต.หนองพระ อ.วังทอง และใช้น้ำในฤดูแล้งแก่เกษตรกรอยู่ในพื้นที่โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีน้ำเพื่อการเกษตร 3 พันไร่

**ชี้สถานการณ์ช่วงนี้แค่น้ำท่วมฉับพลัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงปัญหาที่จ.สุโขทัยว่า เท่าที่ได้รับรายงานวันนี้เป็นเหมือนการทดสอบระบบและการรองรับน้ำ ในส่วนของประตูหลักๆ นั้น ได้ดำนินการติดตามและดำเนินการซ่อมหมดแล้ว อย่างกรณีของ จ.สุโขทัย ที่เจอปัญหาคันดินขาดนั้นเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องไปเก็บงานในท้องถิ่นอีกที เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าปริมาณของมวลน้ำที่เข้ามานั้นมีมากน้อยแค่ไหนและคันดินของชาวบ้านจะรับได้หรือไม่"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการน้ำในปีนี้เราจะดูตามหลักความสมดุล โดยจะรักษาระดับขั้นต่ำของปริมาณน้ำในเขื่อนไว้โดยดูความเหมาะสมว่าบางส่วนต้องผันไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม เราจะไม่ยึดหลักเหมือนปีที่ผ่านมาว่าเป็นระดับน้ำที่นิ่ง คณะกรรมการจะนำตัวเลขต่างๆมาวิเคราะห์อีกครั้งโดยดูที่ปริมาณว่าถ้าเกินก็จะปล่อยค่อยๆระบายลง แต่ถ้าปริมาณน้ำฝนน้อยลงก็จะเก็บรักษาไว้ ปัจจุบันได้มีการติดตามระดับน้ำฝนอย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าปีนี้น้ำจะไม่มีการท่วมอีก น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ต้องบอกว่าน้ำท่วมในขณะนี้เป็นเรื่องของน้ำท่วมฉับพลันซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการแก้ปัญหารัฐบาลจะทำอย่างดีที่สุด แต่สิ่งที่ยืนยันได้คือเราจะไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขังนาน จะเร่งระบาย จะไม่ท่วมขังนานเหมือนปีที่ผ่านมา"

**เห็นชอบร่างTORจัดการน้ำ 3 แสนล.

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ.กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ กบอ. เสนอร่างทีโออาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนทั้งใน เเละต่างประเทศ เข้ามาดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานระบบบริหาจัดการน้ำ 3 เเสนล้านบาท โดยจะมีการเชิญชวนบริษัทเอกชนเหล่านี้ใน 1 เดือนเข้ามาร่วมเสนอโครงการเเละให้เวลา 3 เดือน ในการรวบรวมข้อมูล ต่อจากนั้นรัฐบาลจะใช้เวลา 1 เดือนในการพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 3 กลุ่มบริษัท โดยจะเชิญกรรมการที่มาจาก กบอ. ข้าราชการประจำเเละเกษียณไปเเล้ว มาร่วมคัดเลือก จากนั้นจะให้เวลาจัดทำเเผนในระบบ เช่น ไอที กฎหมาย ชลประทาน การเตือนภัย โดยจะเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงต้นปี 56 เเละไม่กระทบกับโครงการที่ดำเนินการไปเเล้วในปีนี้ในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น