xs
xsm
sm
md
lg

เปิด“ผช.ปลัดกระทรวง” เทียบเท่าระดับ 9 ประสานบน-ล่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(12 มิ.ย.55) นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบตำแหน่ง “ผู้ช่วยปลัดกระทรวง” ตามที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวง (ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น) โดยให้ ก.พ. อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวง (ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น) โดยใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอและมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับไปพิจารณาดำเนินการ หากมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้แก้ไขปรับปรุงความในมาตรา 21 วรรคสอง ว่าให้มีตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงด้วย
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้บัญญัติให้มีตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติด้วยก็ได้ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 42 (9) บัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งระดับ 9 ได้แก่ ตำแหน่ง (ข) ผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือทบวง ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี หรือผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ก.พ. ได้กำหนดให้มีตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการในกระทรวง ทบวง กรม ตามที่กฎหมายกำหนดให้มีได้ ซึ่งจะมีจำนวนเท่าใดนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 4 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ การกำหนดชื่อตำแหน่งในสายงานและระดับตำแหน่ง มีทั้งสายงานนักบริหาร (ตำแหน่งนักบริหาร ระดับ 9) และสายงานหลักของส่วนราชการ เช่น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งานบุคคล 9 เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณ 9 เป็นต้น
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่และปรับปรุงการบริหารงานของกระทรวง และส่วนราชการทั้งระบบ เป็นการบริหารงานในรูปกลุ่มภารกิจ มุ่งเน้นการกระจายอำนาจจากหัวหน้าส่วนราชการไปสู่หน่วยปฏิบัติให้มากที่สุด เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติราชการลงโดยให้มีสายการบังคับบัญชาเท่าที่จำเป็น ทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้น
โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้มีตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการ ไว้ในกฎหมายในส่วนของการบริหารราชการระดับกระทรวงและแต่ละกระทรวงเมื่อมีการจัดกลุ่มภารกิจแล้ว จะมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงบริหารกลุ่มภารกิจในฐานะเทียบเท่าปลัดกระทรวง ประกอบกับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 บัญญัติให้กรณีที่มีการจัดระเบียบราชการของกระทรวงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ถ้ากระทรวงนั้นมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงและผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกินกว่าจำนวน ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นกรณีที่ไม่สามารถย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นในกระทรวงนั้น หรือในกระทรวงอื่นที่เหมาะสมได้ให้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงและผู้ช่วยปลัดกระทรวงดังกล่าว ยังคงมีต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี
ประกอบกับปัญหาการกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการที่ ก.พ. กำหนดไปแล้วไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้านบริหารตามเจตนารมณ์ของ ก.พ. แต่มุ่งเน้นงานด้านบริหารวิชาการในภารกิจหลักของส่วนราชการ และบางส่วนราชการได้รับมอบหมายให้ตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อรองหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอนการควบคุม บังคับบัญชา สั่งการอีกทั้ง ก.พ. ได้กำหนดตำแหน่งระดับ 9 ให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก ซึ่งเทียบเท่ารองอธิบดีอีกด้วยแล้ว
ดังนั้น การปฏิรูประบบราชการและการประกาศใช้พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ เป็นผลให้ส่วนราชการต้องปรับบทบาทภารกิจ จัดโครงสร้างและอัตรากำลังให้สอดคล้องกับความจำเป็นของส่วนราชการ รวมทั้งได้ปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการเป็นตำแหน่งต่างๆ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของภารกิจ เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษา 9 ชช. หรือ 10 ชช. เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น