xs
xsm
sm
md
lg

“ชอกช้ำ” โมเดล

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

ทุกครั้งที่ได้อ่านหรือฟังข่าวนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย เดินทางไปไหนมาไหน มักมีคำว่า “โมเดล” ออกมาเป็นแนวคิดสำหรับการปลุกกระแสว่าจะมีการพัฒนาหรือแก้ปัญหาในพื้นที่เหล่านั้น แต่ผู้เขียนกลับมีความคิดเห็นต่างว่า มีการใช้คำว่า “โมเดล” อย่างพร่ำเพรื่อ และไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมต้องใช้คำว่าโมเดล รวมทั้งไม่เห็นความสำเร็จเชิงรูปธรรมชัดเจน จากผลการใช้คำว่าโมเดลในพื้นที่นั้น

คำว่า โมเดล มาจากภาษาอังกฤษ ว่า Model หากแปลให้เข้าใจอย่างง่ายหมายถึงแบบอย่างที่ดี ต้นฉบับ หรือต้นแบบ หากจะใช้คำว่า โมเดลนั้น มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าสร้างต้นแบบและแบบอย่างที่ดี ไม่ใช่ว่าจะมีการใช้คำว่า “โมเดล” เมื่อใดก็ได้ตามที่ตนคิดพูดเพ้อฝันไปไกลกว่าความเป็นจริง โดยขาดความเข้าใจ “ความหมายคำและภาษา” อย่างลึกซึ้ง หากจะทบทวนคำว่า “โมเดล” ที่มีการใช้จากผู้นำของประเทศ พบว่า คำแรกที่ใช้ในพื้นที่น้ำท่วม ได้แก่ “บางระกำโมเดล” ในช่วงมหาวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปลายปีที่แล้ว หลังจากประกาศคำว่า “บางระกำโมเดล” ผลปรากฏว่าหน่วยบรรเทาอุทกภัยต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและสื่อมวลชน คิดว่ารัฐจะดูแลชาวบ้านบางระกำในลักษณะเป็น “กรณีพิเศษ” จึงไม่ได้ให้การช่วยเหลือมากนัก แต่กลับตรงกันข้ามว่า “บางระกำโมเดล” ได้ปล่อยให้ชาวบ้านบางระกำทนทุกข์รับกับความชอกชำระกำอยู่หลายเดือนรับสภาวะน้ำท่วม จึงกลายเป็นที่มาของ “ชอกช้ำโมเดล”

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการใช้คำว่า “ซิดนีย์โมเดล” จากผลการไปเยือนประเทศออสเตรเลีย ที่ต้องการผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก ตามแนวคิดของรัฐบาลยุคก่อน และจะเห็นได้ว่ามีการใช้คำว่า “โมเดล” ในอีกหลายวาระ เช่น ใช้คำว่า “อยุธยาโมเดล” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการสร้างผนังกั้นน้ำท่วมใหญ่ ไม่ได้คาดการณ์ว่าจะใช้งบกี่พันล้าน และล่าสุดมีการใช้คำว่า “เชียงดาวโมเดล” ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า

แม้หลายคนคิดว่า บทความนี้ได้แสดงทัศนะวิพากย์การใช้ภาษาของผู้นำ เป็นเรื่องหยุมหยิม โดยเฉพาะคำว่า “โมเดล” ของผู้นำประเทศที่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ จนดูเหมือนว่าการสร้างต้นแบบ จะเป็นสิ่งที่ง่ายและกระทำได้ทุกพื้นที่ เมื่อมีการทัวร์นกขมิ้นของคณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งการลงพื้นที่โดยตัวผู้นำประเทศเอง

แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า การใช้ภาษาของผู้นำสำหรับการสื่อสารนั้น ย่อมเป็นการแสดงศิลปะทางความคิด วิสัยทัศน์ และภูมิรู้สำหรับภาวะผู้นำ ที่รู้จัก “เลือกสรรคำ” คล้ายกับการ “เลือกสรรคน” สำหรับเดินหมากและวางท่าที หากจะเสนอแนะให้มีการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ควรเลือกใช้คำ “ภาษาไทย” ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่ เพื่อการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนและเข้าใจว่า ผู้นำประเทศ ใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสาร อาจแสดงถึงความสามารถทางภาษา คล้ายว่า ฟังแล้วดูดี มีศักดิ์ศรีมากกว่าคำไทย แต่ไม่เด่นกว่าผลงานเชิงประจักษ์ ซึ่งสาระที่แท้ของการสื่อสาร “คำหรือข้อความ” นั้น อยู่ที่สารที่ส่งไปว่ามีความชัดเจน จริงใจและคงวาจาสัตย์ไว้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานในตำแหน่งที่ดำรงอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น