xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กรณีการล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความผิดปรกติโดยสามัญสำนึกอยู่หลายประการ 2 ประการเป็นอย่างน้อย

ประการแรก
รัฐสภาอาศัยมาตรา 291 ที่ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราของตัวเอง

ประการที่สอง รัฐสภาอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับได้ เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ความแปลกประหลาดจึงอยู่ที่สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้มาจากผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมาจากการลงประชามติของคนไทยทั้งประเทศ และมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะกลับไปลงมติเพื่อล้มล้างยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นั้นได้อย่างไร?

ซึ่งแน่นอนว่าหากรัฐสภาลงมติในวันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2555 ไม่ยอมรับการผูกพันจากคำสั่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่สั่งให้เลขาธิการแจ้งต่อประธานรัฐสภาเพื่อชะลอการลงมติวาระที่ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเป็นการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ตามปรกติแล้วรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้ในหมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 8 ว่าด้วยเรื่องการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเอาไว้ในมาตรา 154 ซึ่งเป็นกลไกในการคัดกรองกฎหมายก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 154 บัญญัติเอาไว้ว่า

“มาตรา 154 ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 150 หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา 151 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง

(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา


(2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า

ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเอาไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา 150 หรือมาตรา 151 แล้วแต่กรณีต่อไป”


ด้วยเหตุผลนี้พระราชบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมักจะรอให้ถึงการลงมติวาระที่ 3 เสียก่อน หลังจากนั้นหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาสามารถเข้าชื่อกันเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมการตรากฎหมายที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสามารถกระทำได้ทันก่อนที่จะมีการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธย

แต่เนื่องจาก “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ครั้งนี้ไม่ใช่เป็น “ร่างพระราชบัญญัติ” จึงทำให้มี”นักการเมืองหัวใส” บางคนหวังว่าจะไม่สามารถมีใครขวางได้ตามขั้นตอนที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 154 เพราะนักการเมืองที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้นได้อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เอง ได้เดินทางมาถึงใกล้ขั้นตอนในมาตรา 291 (6) และ (7) แล้ว ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า

มาตรา 291 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้...
(6)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7)เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้น “นักการเมืองหัวใส” คงจะคิดว่าเมื่อไม่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 154 มาใช้ได้ จึงไม่ได้เปิดช่องให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญและให้นายกรัฐมนตรีรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 150 และมาตรา 151 ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 (7) ได้บัญญัติเอาไว้ให้มาใช้บังคับโดยอนุโลมหลังจากลงมติในวาระที่ 3 ว่า:

“มาตรา 150ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”

“มาตรา 151 ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”


ดังนั้น “นักการเมืองหัวใส” จึงคิดว่าเมื่อกฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ก็จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องมาเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง คือด้านหนึ่งนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าทูลกระหม่อมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติของรัฐสภา ในขณะอีกด้านหนึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ 14.7 ล้านคน แต่ไม่มีขั้นตอนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยหยุดยั้งได้

ด้วยเหตุผลนี้นักการเมืองหัวใส ที่คิดจะชิงบ้านชิงเมืองนั้น จึงย่อมเล็งเห็นกลไกทางกฎหมายถึง 2 ประการ

ประการแรกหากเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แล้ว เมื่อไม่ได้มีการบัญญัติให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา154 มาใช้บังคับได้แล้ว ทำให้ ส.ส.และ ส.ว. ไม่สามารถเข้าชื่อกัน 1 ใน 10 เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ โดยอ้างเหตุว่ากรณีนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นพระราชบัญญัติ

ประการที่สองมีรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพียงมาตราเดียวที่จะเป็นช่องทางกฎหมายที่ ประชาชนผู้ทราบการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ยื่นต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องของให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่หากอัยการสูงสุดสมรู้ร่วมคิดในการล้มล้างรัฐธรรมนูญร่วมกับฝ่ายรัฐบาลแล้วเพียงแค่ถ่วงเวลาหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกับที่ทำกันอยู่ทีผ่านมานี้ ก็จะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่ไหนจะมาขัดขวางการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้

เหตุการณ์พลิกผันก็ตรงที่ ศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะเล็งเห็นแล้วว่าหากปล่อยให้มีการลงมติในวาระที่ 3 ต่อไปก็คงจะมีความเสี่ยงที่ไม่มีใครขัดขวางได้ และจะทำให้เรื่องที่อาจขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยอย่างไม่บังควร

และอาจเป็นด้วยเหตุผลนี้ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้รับคำร้อง 5 กรณีที่มีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่านักการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญและล้มล้างรัฐธรรมนูญ และได้แจ้งต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ชะลอการลงมติวาระที่ 3 เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุด

ด้วยเหตุผลนี้พรรคเพื่อไทยจึงต้องหาทุกวิถีทางเพื่อลุกขึ้นสู้โดยการอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องเองโดยตรงเพราะต้องต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อนเท่านั้นประการหนึ่ง และไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติในวาระที่ 3 เป็นอีกประการหนึ่ง

ดังนั้นหากรัฐสภาไม่รับผลผูกพันจากคำสั่งชะลอการลงมติในวาระที่ 3 แล้ว หากขั้นตอนต่อไปคือการลงมติในวาระที่ 3 และมีการยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายใน 20 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 เมื่อใด ก็แสดงว่ารัฐสภามีเจตนาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างการทำตามมติรัฐสภาที่เพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ จะทรงรอคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญให้เป็นที่สิ้นสุดก่อน

คำถามมีอยู่ว่าหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในระยะเวลา 90 วันหลังจากที่นายกรัฐมนตรียื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะไม่มีใครรู้เหตุผลที่แท้จริงได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะเช่นนี้ หรือว่าจะทรงไม่ลงพระปรมาภิไธยจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นที่สิ้นสุดเสียก่อน หรือด้วยเหตุผลอื่นใด ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะทำให้ประชาชนคนไทยสามารถตีความหมายไปได้หลายทาง และอาจเป็นหอกทิ่มแทงกลับมายังรัฐสภาและพรรคเพื่อไทยที่ดื้อดึงเดินหน้าในสิ่งที่ไม่บังควรยิ่ง

แต่ปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้หากมีทางเลือกคือ 1.รัฐสภาเลื่อนการลงมติวาระที่ 3 ออกไปก่อนเท่าที่จะเป็นไปได้ในทางการเมืองเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ/หรือ 2. ศาลรัฐธรรมนูญเร่งไต่สวนและรีบทำงานมีคำวินิจฉัยให้เร็วที่สุด


แต่ถ้ารัฐสภาจะตัดสินใจดื้อดึงต่อไป ก็ต้องเข้าใจว่าบัดนี้ได้มีผู้ร้องให้หยุดการกระทำล้มล้างรัฐธรรมนูญไปแล้วรวม 6 สำนวน และเฉพาะความผิดที่เหล่านักการเมืองได้กระทำลงไปก็มีความเสี่ยงทางการเมืองคือการยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนักการเมืองซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และ ประธานสภาผู้แทนราษฎรรวม 416 คน หมายความว่าหากมีการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใดก็จะต้องเกิดสุญญากาศทางการเมืองเกิดขึ้นไปโดยปริยาย ยังไม่นับการมีโทษทางอาญาที่มีความเสี่ยงต่อความผิดฐานเป็นกบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต อีกด้วย

และหากยังดึงดันลงมติฉีกล้มล้างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ต่อไป ก็จะเห็นกรรมซึ่งเป็นเครื่องชี้เจตนาชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาลมีเจตนาในการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างไร?

ทั้งนี้ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติฉีกรัฐธรรมนูญและนายกรัฐมนตรีจะยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น ควรอ่านบันทึกตอนท้ายในบทเกริ่นนำของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้อัญเชิญพระราชดำริและกระแสพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชานุมัติเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ความว่า:

“ทรงมีพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน


จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งตราไว้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2549 ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป

ของปวงชนชาวไทย จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และนำมาซึ่งความสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนชัยมงคลอเนกศุภผล สกลเกียรติยศสถาพร แก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดังพระบรมราชปณิธาน”

กำลังโหลดความคิดเห็น