xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : เลี้ยงลูกไม่ให้เบี่ยงเบนทางเพศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ่อคนที่ 1 : โอ๊ย! กลุ้มใจว่ะ! ทำไมลูกชายฉันมันถึงนุ่มนิ้มนุ่มนิ่ม ฉันกลัวจะเป็นตุ๊ด จะเลี้ยงยังไงให้มันโตขึ้นเป็นผู้ชายเต็มตัว แมนๆ น่ะ

พ่อคนที่ 2 : ก็เลี้ยงปรกติเนี่ยแหละ

พ่อคนที่ 1 : ง่ายอย่างงั้นเชียว?

พ่อคนที่ 2 : เออสิ เลี้ยงลูกคน ไม่ใช่ลูกสัตว์ประหลาดซะหน่อย! แกก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ไม่นอกใจเมีย ให้ความรักความอบอุ่น มีเวลาเที่ยวเล่นด้วยกันใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เลี้ยงลูก แกเป็นพ่อแบบนี้ได้ไหมล่ะ?

พ่อคนที่ 1 : ฉันเป็นพ่อแบบที่แกบอกมาเป๊ะ!

พ่อคนที่ 2 : งั้นก็สบายใจได้ แต่ถ้าลูกแกโตขึ้นมาแล้วเป็นตุ๊ดจริงๆ ก็ต้องทำใจยอมรับ

พ่อคนที่ 1 : ฉันรับไม่ได้หรอก!!! (น้ำเสียงทนไม่ได้)

พ่อคนที่ 2 : คิดดูสิ เด็กจะน่าสงสารมากแค่ไหน ไม่กล้ายอมรับตัวเอง แย่ที่สุดคือพ่อแม่ที่เขารักกลับยอมรับเขาไม่ได้ เก็บกดและเกลียดตัวเอง จะโตขึ้นมามีอนาคตได้ไง ถ้าลูกแกเป็นตุ๊ด อย่างแรกเลย แกต้องยอมรับในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่อย่างที่แกอยากให้เป็น แกเปลี่ยนความจริงไม่ได้หรอก ความจริงก็คือความจริง (เน้นเสียงจริงจัง)

พ่อคนที่ 1 : ลูกฉันโตขึ้นมาจะเป็นตุ๊ดจริงๆ เหรอ?!?
(ร้องเสียงหลงอย่างตกใจและสิ้นหวัง)

พ่อคนที่ 2 : ฉันสมมุติโว้ย! (หัวเราะ)

พ่อคนที่ 1 : เฮ้อ! โล่งอก!!

สาเหตุที่เด็กจะมีพฤติกรรมผิดเพศเกิดจากปัจจัยการเลี้ยงดู หรือปัจจัยทางร่างกายที่สมองและฮอร์โมนผิดปรกติ แต่ถึงอย่างไรเด็กที่มีพฤติกรรมผิดเพศก็ต้องการการเลี้ยงดูด้วยความรักและการยอมรับจากครอบครัวและคนรอบข้าง

บทบาทพ่อที่หายไป

ปัจจุบันครอบครัวไทยกำลังประสบกับปัญหาพ่อแม่มีเวลาพูดคุยกับลูกน้อย โดยเฉพาะบทบาทของพ่อต่อการเลี้ยงดูลูกค่อยๆ ลดหายลงไปจากครอบครัว

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพ่อที่มีอายุ 25-60 ปี จำนวน 1,563 ตัวอย่างของสำนักวิจัยเอแบคโพล พบว่า 79% พักอาศัยอยู่กับลูก ขณะที่ 21% ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับลูก เนื่องจากภาระทางเศรษฐกิจทำให้พ่อใช้เวลาทำงานมากขึ้น ต้องอพยพมาทำงานในกรุงเทพฯ การหย่าร้าง อยู่คนละบ้าน ฯลฯ บทบาทความเป็นพ่อมีความสำคัญต่อการพัฒนาการของลูกในด้านต่างๆ รวมถึงพัฒนาการทางเพศที่เด็กได้รับจากการเลี้ยงดูตั้งแต่ทารกจนถึงวัยรุ่น แบบอย่างทางกายภาพและการปฏิบัติต่อครอบครัว เช่น สัมผัสที่นุ่มนวลน้อยกว่าแม่ ท่าทีที่มั่นคง ความแข็งแรง น้ำเสียงที่ใหญ่ การเล่นกับลูกในลักษณะของผู้ชายที่ท้าทาย โลดโผน ผจญภัย ความเป็นผู้นำของพ่อ การดูแลคนที่อ่อนแอกว่า ความซื่อสัตย์ต่อครอบครัว ฯลฯ เหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมบทบาททางเพศ และบุคลิกเพศชายให้กับลูกชาย

ส่วนลูกสาวจะเก็บบุคลิกของพ่อไว้ในความทรงจำ มีผลต่อการคบเพื่อนต่างเพศเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น และลดโอกาสเสี่ยงในการเบี่ยงเบนทางเพศ

ควรทำ

• การเลี้ยงลูกชายให้มีพฤติกรรมสมชายนั้น ลูกชายต้องการต้นแบบที่ดี พ่อที่ใกล้ชิดสนิทสนม ให้เวลาทำกิจกรรมด้วยฝึกสอนด้วยเหตุผล จะช่วยให้เด็กได้เลียนแบบพฤติกรรมเพศชายได้ดี

• การฝึกให้ลูกชายได้ทำเป็นจริงๆ มิใช่สอนแค่คำพูด จะช่วยพัฒนาลักษณะเด่นของลูกผู้ชาย และชื่นชมสิ่งสำคัญในลูกชายให้ชัดเจน เช่น เสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่น อดทน ยอมลำบาก รับผิดชอบและแก้ปัญหาในบ้านได้ เช่น ไฟดับ แก๊สหมด ซ่อมของ ฯลฯ

• สาเหตุที่ทำให้เด็กเบี่ยงเบนทางเพศไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องทางชีวภาพเกี่ยวข้องด้วย ถ้าลูกเบี่ยงเบนทางเพศจริง พ่อแม่ควรทำใจยอมรับ ให้ความรักความเอาใจใส่แก่ลูกและรักษาสัมพันธภาพที่ดีไว้ การยอมรับโดยพ่อแม่จะช่วยให้ลูกปรับตัวได้ดีในสังคม

ไม่ควรทำ

• การเลี้ยงลูกชายให้เป็นลูกแหง่ เช่น ร้องไห้เก่ง ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น แก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ เห็นแก่ตัว ชอบเอาเปรียบ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก โดยการตามใจเด็กมากๆ คอยช่วยเหลือ คอยให้ความสงสารและเข้าไปทำงานแทนเด็ก

* หัวใจการเลี้ยงดู

บทบาทพ่อมีความสำคัญ
ต่อพัฒนาการทางเพศของลูก

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)

กำลังโหลดความคิดเห็น