xs
xsm
sm
md
lg

ความล้มเหลวของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดอง(แตกแยก)แห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: สุริยะ ธรรมชัย

การที่ ส.ส.ส่วนใหญ่ในรัฐสภามีความพยายามผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีทุจริตประพฤติมิชอบสามารถกลับประเทศไทยอย่างผู้บริสุทธิ์นั้น

เชื่อเถอะครับว่า ความพยายามดังกล่าวจะไม่มีทางเป็นผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ส.ส.ร่างทรงของนักโทษหนีคดีเหล่านี้ย่อมรู้ดีว่า การเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็เพื่อผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยแท้ มิใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

และพวกเขาย่อมจะรู้ดีว่าการเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าสภาจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในสังคม

แม้กระนั้น พวกเขาก็พยายามเร่งรัดผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้จงได้

นั่นก็เพราะพวกเขามุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจ้านายที่แท้จริงของพวกเขา โดยหวังลาภยศและทรัพย์สินเงินทองเป็นการตอบแทน จึงได้กล้ากระทำเรื่องที่น่าละอายเช่นนี้

แม้กระทั่ง การสมคบกันทำลายหลักนิติธรรมที่เปรียบเสมือนขื่อแปของบ้านเมืองก็ยินยอม

หากพิจารณาจากเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำผิดอาญาและเข้าต่อสู้คดีในศาล จนกระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาตัดสินลงโทษจำคุกแล้ว ก็ให้มีผลเป็นการล้มเลิกคำพิพากษาไป

แม้มีการปลุกปั่นยุยงให้มวลชนร่วมกันเผาบ้านเผาเมือง ลากอาวุธสงครามร้ายแรงมาใช้ยิงใส่วัดพระแก้ว จนกระทั่งศาลตัดสินจำคุกแล้ว ก็จะต้องปล่อยตัวผู้กระทำผิดตามคำพิพากษา

เมื่อคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดที่ประชาชนเชื่อถือศรัทธามาช้านาน ก็ยังจะต้องถูกล้มล้างโดยบรรดา ส.ส. ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของนักโทษหนีคดี

หากประชาชนยินยอมให้ ส.ส.เหล่านี้กระทำได้ตามอำเภอใจ

เช่นนี้ ประเทศไทยจะเหลือศาลยุติธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้ายของประชาชนอยู่อีกหรือ?

ศักดิ์ศรีของตุลาการไทยจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อจำเลยคดีอาญามีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลสูงสุด โดยผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติที่อยู่ใต้อาณัติของนักโทษหนีคดี

ดังนั้น ประชาชนที่รักความเป็นธรรมซึ่งรู้สึกคับแค้นใจกับการกระทำของบรรดา ส.ส.สมุนรับใช้นักโทษหนีจึงพร้อมใจกันออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้จำนวนมาก จน ส.ส. ไม่สามารถเข้าไปพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระแรกได้

เชื่อว่าหาก ส.ส.เสียงข้างมากของรัฐบาลยังไม่หยุดผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็จะมีมวลชนจำนวนมากร่วมกันลุกขึ้นขับไล่รัฐบาลนี้ เช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วในอดีต

แต่เชื่อว่าบรรดาผู้กุมอำนาจรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็คงจะต้องพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ เพราะความรีบร้อนต้องการกลับประเทศไทยอย่างเท่ๆ โดยไม่ต้องมีความผิดใด ๆ

ในที่สุดอาจนำมวลชนเสื้อแดงที่จัดตั้งไว้และใช้กำลังตำรวจที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของญาติ พ.ต.ทักษิณ ชินวัตร ออกปราบปรามมวลชนที่ออกมาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้จนอาจเกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน

ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็อาจต้องมีอันเป็นไป จนไม่สามารถดำรงสถานะอยู่ได้อย่างแน่นอน

และแม้หากมีรัฐสภาสามารถผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จนถึงวาระสามได้ โดยไม่มีเหตุการลุกลามบานปลายใหญ่โตก็ตาม

แต่ความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการของร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้ไม่สามารถนำร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้เช่นกัน

เหตุเพราะ ส.ส.กลุ่มเสื้อแดงที่อยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดีอาญาในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านเมืองที่ผ่านมา และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีคดีคอร์รัปชั่นหลายคดี ล้วนแต่มีส่วนได้เสียในร่างกฎหมายฉบับนี้

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ย่อมไม่มีอำนาจเข้าร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122

หากฝ่าฝืนก็อาจถูก ป.ป.ช. ดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้
นอกจากนี้ การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และมีคำพิพากษาไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามหลักนิติธรรม

ดังนั้น ร่างฯ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ที่มีเนื้อหาเป็นการล้มล้างคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นผลพวงอันเกิดจากการปฎิบัติหน้าที่ของรัฐสภาที่มิได้เป็นไปตามหลักนิติธรรม อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 309 ได้บัญญัติรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของ ค.ต.ส. ที่ทำหน้าที่เสมือนพนักงานสอบสวนไว้ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองก็วินิจฉัยแล้วว่า ค.ต.ส.มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่สอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย

การออก พ.ร.บ.ปรองดอง โดยมีเจตนาล้มล้างการปฏิบัติหน้าที่ของ ค.ต.ส. ซึ่งบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 รับรองความชอบด้วยกฎหมายไว้ ย่อมเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างชัดแจ้งเช่นกัน

เมื่อเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดอง (แตกแยก) แห่งชาติ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายมาตราดังกล่าว

จึงเชื่อว่า ความพยายามที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายจะไม่มีทางสำเร็จได้อย่างแน่นอน

โดย... สุริยะ ธรรมชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น