xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการศึกษาเพื่อเปลี่ยนผ่านความเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ความคาดหวังทั้งของระดับปัจเจกบุคคลและรัฐประชาชาติคือการมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะความก้าวหน้าของประเทศชาติและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเกี่ยวข้องกับการศึกษาแนบแน่น ด้วยแม้การศึกษาไม่ใช่ปัจจัยสี่ ทว่าที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทุ่มเงินมหาศาลด้านการศึกษาถึงปีละสามแสนล้านบาทหรือเกือบ 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน แต่สุดท้ายไม่เพียงคุณภาพการศึกษาไม่ได้ดีขึ้น หากยังสร้างความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิเสรีภาพ และโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมระหว่างคนมีการศึกษาต่ำกับการศึกษาสูงจนสถาปนาความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่แทบแก้ไขไม่ได้ขึ้นมา

วิกฤตสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่อยู่ในโหมดแก้ไขไม่ได้ก็เนื่องด้วยการศึกษาที่ควรเป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านความไม่เป็นธรรมทางสังคม โดยการกระชับความเหลื่อมล้ำที่กำลังถั่งโถมสังคมไทยให้แคบลงนั้นกลับทำหน้าที่ตรงกันข้ามด้วยการถ่างความเหลื่อมล้ำให้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่คนหนุ่มสาววัย 25-30 ปีที่มีการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษามีรายได้มากกว่าคนวัยเดียวกันที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาถึง 2 เท่า และเมื่ออายุถึง 50-55 ปีจะมีรายได้ต่างกันถึง 5 เท่าทีเดียว ด้วยเมื่อมีการศึกษาก็มีอาชีพการงานที่เปิดพื้นที่ให้กับความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่าเพราะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพ ทักษะ และมีความหลากหลายของสายงานสูงกว่าผู้จบระดับประถมศึกษา

ทั้งนี้ทุกคนก็ต้องการเรียนสูงๆ เพื่อจะยกระดับฐานะความเป็นอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ทว่าด้วยข้อเท็จจริงของชีวิตที่มีเงื่อนไขปัจจัยมากมายก็ทำให้หลายคนไม่สามารถไขว่คว้าโอกาสการศึกษาที่ไม่ได้เปิดกว้างอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเสมอภาคกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชนบทที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตเมืองของคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อหรือจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะหลักแสนถึงล้านเพื่อเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียง ดังแต่ละปีที่เด็กนักเรียนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจบการศึกษาภาคบังคับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนกว่า 200,000 คนหรือกว่าร้อยละ 2 ของเด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งเสียสิทธิการศึกษาเพียงเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าบำรุงการศึกษาหรือค่าแป๊ะเจี๊ยะแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะระบุหลักการสำคัญของการศึกษาไว้ว่าคนไทยทุกคนจะได้เรียนฟรี 12 ปีก็ตามที

ที่สำคัญการศึกษาตลอดชีวิตที่เป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัยก็ยังประสบปัญหาอยู่มากจากการขาดการลงทุนที่ถึงพร้อมและการขาดการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการเข้ามาจัดการศึกษา และการเรียนรู้อย่างพอเพียงจนการศึกษาทางเลือกเหล่านี้ไม่สามารถเป็นทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนตลอดจนผู้ปกครองที่สนใจได้ว่าถ้าเรียนแนวทางนี้แล้วจะมีความมั่นคงในอาชีพการงานจนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ในสังคมที่ชื่นชมปริญญาบัตรเหนืออื่นใด

ไม่เท่านั้นภาครัฐยังไม่รับรองการศึกษาแนวทางนี้ว่ามีคุณภาพทัดเทียมการศึกษากระแสหลัก ทั้งๆ ที่คุณลักษณะการศึกษานี้ยืดหยุ่นกับการเล่นและเรียนรู้ของเด็กและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่มากกว่า

พัฒนาการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเป็นปริญญาบัตรจึงเป็นกงจักรขยายอาณาจักรความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ขยายการเอารัดเอาเปรียบออกไปเรื่อยๆ เพราะบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ภายใต้หลักการคิดและตรรกะการใช้เหตุผลเพื่อกอบโกยมากกว่าจะเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมุ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่าคุณธรรมจริยธรรมและความฉลาดของการใช้ชีวิต ซึ่งถึงที่สุดแล้วคุณภาพนักเรียนไทยก็ยังคงด้อยคุณภาพกว่านักเรียนเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่กำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีกไม่กี่ปีที่สนามของการแข่งขันในระบบการค้าเสรีจะมีความแหลมคมเข้นข้นจนคนไทยอาจตกขบวนอาเซียนในที่สุดถ้ายังไม่สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และมีความรู้เท่าทัน (literacy) กลไกการค้าของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (demand) กับอุปทาน (supply)

ทั้งนี้เพื่อพิชิตวิกฤตความไม่เป็นธรรมทางสังคม (social injustice) หนทางหนึ่งจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขโครงสร้างและระบบการศึกษาเพื่อคลี่คลายวิกฤตความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรีที่การศึกษาก่อขึ้น รวมถึงที่เข้าไปขยายอาณาจักรความไม่เป็นธรรมทางสังคมให้เข้มข้นขึ้นในทุกปริมณฑลที่การศึกษายึดโยงนั้น ทางสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 จึงเลือกใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติบนรากฐานปัญญาและความสมานฉันท์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่หนุนนำไปสู่ ‘การเปลี่ยนผ่านความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย’ กระทั่งที่สุดได้มติร่วมกันด้านการปฏิรูปการศึกษา : ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนี้

การส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามาเป็นกลไกในการปฏิรูปการศึกษา โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงบประมาณ ไปจนถึงกระทรวงศึกษาธิการ และเครือข่ายด้านการศึกษา ครอบครัว ชุมชน และสื่อ โดยการร่วมกันแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มบทบาทและอำนาจขององค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมด้านการบริหารจัดการ งบประมาณ บุคลากร การจัดการโครงสร้าง การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการติดตามประเมินผลการศึกษาของแต่ละชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดภายใน 2 ปีให้เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพผ่านความร่วมมือของสมัชชาจังหวัด โดยให้กระทรวงศึกษาธิการจัดงบประมาณสนับสนุนอย่างพอเพียงและมีธรรมนูญรองรับการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี

การเพิ่มอำนาจบริหารจัดการให้กับคณะกรรมการสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและภาคประชาสังคมในท้องถิ่นที่รวมถึงผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้านที่จะต้องมีบทบาทเท่าเทียมกับบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าร่วมจัดการศึกษาและการเรียนรู้ระดับฐานโรงเรียน (school-based management) และฐานชุมชน (community-based management) ที่มีประสิทธิภาพตรวจสอบได้

ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนโดยสนับสนุนทางวิชาการ พัฒนาบุคลากร วิทยฐานะ มาตรการการเงินและภาษี ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของภาคประชาสังคม ควบคู่กับการปรับปรุงมาตรการการคลังโดยมุ่งจัดสรรงบประมาณการศึกษาไปสู่ฐานชุมชนท้องถิ่นตามตัวผู้เรียนให้สอดคล้องกับบริบทสังคม สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของท้องถิ่น รวมถึงมุ่งจัดสรรงบประมาณให้กับระดับปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน การตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาท้องถิ่นและการนำภาษีท้องถิ่นมาสนับสนุนการศึกษา การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรและทุนทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่น

มติสมัชชาแห่งชาติครั้งที่สองนี้ยังมุ่งมั่นสร้าง ‘เครือข่ายประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นเพื่อปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้’ และการจัดตั้งกลไกการพัฒนาและการวิจัยเชิงระบบในทุกระดับการศึกษา โดยการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมเพื่อร่วมกันถากถางเส้นทางปฏิรูปการศึกษาไทยที่ยังไปไม่ถึงไหน ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับหลักสูตรแกนกลางให้มุ่งการพัฒนาท้องถิ่น เพิ่มองค์ความรู้สิทธิชุมชน และหน้าที่พลเมืองที่มีคุณธรรมจริยธรรม โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อจะพัฒนาศักยภาพให้สามารถปรับตัวทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ รวมทั้งมีความรู้เท่าทันกลไกการค้าโลกาภิวัตน์และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ทุกองคาพยพของสังคมไทยไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบทก็จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม

มติสมัชชาแห่งชาติที่สามารถพัฒนามาเป็นนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาเพื่อเปลี่ยนผ่านความเหลื่อมล้ำทางสังคมบนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่กอปรด้วยตัวแทนเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกเหนือจากจะนำมาซึ่งการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูปการศึกษากระแสหลักให้กลับมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีคุณธรรมจริยธรรมและสร้างเสริมศักยภาพประเทศชาติให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการค้าเสรีแล้ว การปฏิรูปโครงสร้างและระบบการศึกษาให้เปิดกว้างกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและทุกคนเข้าถึงได้โดยเท่าเทียมเสมอภาคกันตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ไม่ว่ายากดีมีจนแค่ไหนจะทำให้รายได้ประชากรไทยที่เหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างผู้มีการศึกษาสูงกับต่ำกลับมากระชับขึ้นได้ ไม่เท่านั้นยังมีนัยสำคัญต่อแนวทางการแก้วิกฤตสังคมไทยในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตามมาด้วย เพราะถึงที่สุดการศึกษาไม่เพียงเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อหลุดพ้นวงจรจนซ้ำซากจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ หากยังเป็นประตูสู่การรู้เท่าทันคอร์รัปชันรูปแบบต่างๆ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น