xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติเปิดสอนอยู่ในเมืองไทยจำนวนมาก รวมทั้งโรงเรียนสอนภาษาด้วย นอกจากนั้นโรงเรียนเหล่านี้ก็ยังสอนภาษาจีนเพิ่มเข้ามาอีกด้วย แต่ก่อนในโรงเรียนไทยมีครูฝรั่งสอนอยู่ คนที่เรียนจบมัธยมแปดภาษาอังกฤษก็พอใช้ได้เพราะตำราบางวิชาก็เป็นภาษาอังกฤษ

เมื่อ 100 ปีที่แล้ว หากใครต้องการรู้ภาษาอังกฤษ ก็ต้องออกไปเรียนเมืองนอกถึงอังกฤษ ในระยะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่เป็นที่นิยม เด็กๆ ที่ไปเรียนอังกฤษนั้นจะให้ดีก็ต้องไปตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ไปอยู่โรงเรียนประจำก่อนแล้วจึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย โรงเรียนประจำในอังกฤษที่มีชื่อเสียงมีอยู่ประมาณ 10 โรงเรียน นอกนั้นเป็นโรงเรียนเล็กๆ เด็กไม่เกิน 100 คน คนอังกฤษเป็นครูที่ดี และไม่ใช่สอนแต่วิชาเท่านั้น หากอบรมบ่มนิสัยเด็กด้วย คนสมัยก่อนนิยมจ้างครูมาสอนที่บ้าน ครูจึงมีอิทธิพลมากแม้ราชสำนักจีนเอง ก็ยังมีการจ้างครูชาวอังกฤษ ของไทยเราก็มีแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ เป็นต้น นอกจากแหม่มแอนนาแล้ว ยังมีชาวอังกฤษอีกหลายคนที่เข้ามาเป็นครูโรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนอื่นๆ

หากใครต้องการส่งลูกไปเรียนให้ได้ภาษาอังกฤษแต่มีเงินน้อยหน่อย ก็จะส่งไปที่อินเดียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ในอินเดียมีโรงเรียนที่ดีๆ หลายแห่ง คนไทยทีแรกก็ไม่รู้จัก ต่อมาหลวงวิจิตรวาทการไปเป็นทูต และเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ของดีในอินเดีย” คนจึงนิยมส่งบุตรหลานไปเรียน ส่วนมากจะไปที่เมืองดาร์จีลิ่งซึ่งอยู่ทางตะวันตก เป็นเมืองตากอากาศอยู่บริเวณเชิงเขาหิมาลัย โรงเรียนเหล่านี้มักเป็นของศาสนานิกายต่างๆ ครูที่สอนเป็นชาวอังกฤษก็มี เป็นชาวสวิสก็มี

ต่อมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนเริ่มรู้จักออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ออสเตรเลียมีโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงมากชื่อ จีลอง แกรมม่าสกูล โรงเรียนนี้มีแคมป์อยู่ในป่า สำหรับให้นักเรียนไปพักแรกด้วย ผู้ซึ่งไปเรียนโรงเรียนจีลองระยะแรกๆ ก็มี ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี อดีตปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาก็มีคุณมีชัย วีระไวทยะ และท่านมุ้ย เป็นต้น นอกจากจีลองแล้ว ออสเตรเลียก็ยังมีโรงเรียนประจำดีๆ อยู่ในทุกรัฐ

นิวซีแลนด์เป็นประเทศเล็ก เมื่อ 50 ปีที่แล้วมีคนเพียง 2 ล้านคน แต่มีแกะ 52 ล้านตัว คนนิวซีแลนด์จะพูดออกสำเนียงอังกฤษชัดกว่าคนออสเตรเลีย ซึ่งพูดอังกฤษด้วยสำเนียงแปลกออกไป โรงเรียนในนิวซีแลนด์ที่มีชื่อเสียงมี 4-5 แห่ง ที่โด่งดังก็คือโรงเรียนวังกานุย คอลิเจต โรงเรียนไครสต์ส คอลเลจ โรงเรียนเซนต์แอนดรูว์ โรงเรียนสกอต คอลเลจ เป็นต้น นอกจากนั้นก็เป็นโรงเรียนรัฐบาลซึ่งมีคุณภาพไม่แพ้โรงเรียนเอกชน และเกือบจะเรียนฟรี ต่อมาเมื่อมีชาวต่างชาติไปเรียนมากขึ้น จึงมีการเรียกเก็บเงิน

นอกจากจะได้ภาษาแล้ว นักเรียนก็จะได้รับการสอนให้รู้จักคิดและวิจารณ์ ที่สำคัญก็คือนักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนิวซีแลนด์อีกด้วย
คนนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่อพยพมาจากอังกฤษ ด้วยเหตุที่ประเทศเล็ก ชุมชนไม่ใหญ่โตมากนัก คนนิวซีแลนด์อยู่กับธรรมชาติ ชีวิตจึงเรียบง่าย ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อและชอบเล่นกีฬา วันหยุดก็อยู่บ้านทำสวน สถานที่เที่ยวก็มีไม่มาก สถานที่ที่คนนิยมไปก็คือ “ผับ” เข้าไปกินเบียร์เป็นเหยือกๆ วันที่ผับแน่นและผู้คนออกเที่ยวกันก็คือวันศุกร์ที่เรียกกันว่า “ฟรายเดย์ไนท์” หนุ่มสาวมักจะนัดกันวันนี้ ส่วนมากก็จะไปดูหนัง ร้านอาหารที่จะเสิร์ฟเหล้าก็ต้องจดทะเบียน ร้านไหนขายเหล้าก็ถือว่าหรู สมัยปี 1960 ที่ผมอยู่มีร้านอาหารจีน 2-3 ร้าน ร้านที่โก้หน่อยมีเหล้าขายด้วย อาหารพอทานได้ ส่วนร้านอาหารไทยไม่มีเลย เดี๋ยวนี้ที่นั่นมีร้านอาหารไทยหลายร้าน และเป็นที่นิยมกันมาก ร้านอาหารจีนที่ออสเตรเลียจะมีมากกว่า และอร่อยกว่าที่นิวซีแลนด์ เมนูที่ขึ้นชื่อก็คือ กุ้งมังกร ซึ่งเขาเอามาทำดิบๆ หรือไม่ก็เป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า รสชาติอร่อยมาก

การศึกษาที่นิวซีแลนด์นับว่าดีมาก ค่าเล่าเรียนก็ไม่แพงจนเกินไป ที่สำคัญก็คือสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศดีเหมาะที่จะส่งเด็กไปอยู่ บางคนก็ซื้อบ้านไว้พอลูกเรียนจบก็ขายได้กำไร 2-3 เท่าก็มี ครูที่นิวซีแลนด์หลายคนมาจากอังกฤษ และเมื่อแอฟริกาใต้ได้เอกราชก็มีครูจากที่นั่นอพยพไปอยู่นิวซีแลนด์จำนวนมาก โรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดคือ เนลสัน คอลเลจ อยู่ที่เมืองเนลสันซึ่งเป็นเมืองชายทะเลเล็กๆ ทางเกาะใต้

สมัยผมอยู่วชิราวุธ ผมมีโครงการให้นักเรียนไปอยู่ในโรงเรียนเหล่านี้เป็นเวลาหนึ่งปี เพราะเห็นตัวอย่างจากโครงการเอเอฟเอส (AFS) ที่เด็กไปอเมริกาปีเดียวกลับมาก็ได้ภาษาดีมาก เด็กบางคนติดใจขออยู่ต่อเลยก็มี

ในโรงเรียนนานาชาติ เด็กก็จะได้ภาษาเหมือนกัน ผมเกี่ยวข้องกับโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ และโรงเรียนบริติชที่ภูเก็ต สิ่งที่โรงเรียนเหล่านี้มีและโรงเรียนไทยขาดก็คือครูที่ดี แต่ครูพวกนี้ต่างกันเงินเดือนนับแสนทุกคน นักเรียนที่เก่งๆ ก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เช่น อ๊อกซฟอร์ด และเคมบริดจ์ได้เหมือนกัน

โรงเรียนจะดีได้ไม่ใช่อยู่ที่อุปกรณ์หรือตำรา หากเป็นครู โรงเรียนนานาชาติเก็บค่าเล่าเรียนแพง บางแห่งปีละเกือบล้านบาท แต่ผู้ปกครองก็ยังนิยมส่งลูกไป เพราะถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต แน่นอนว่าต่อไปเด็กที่ไปอยู่โรงเรียนนานาชาติ จะต้องมีข้อได้เปรียบกว่าเด็กไทยทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น