ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักศึกษา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น
ไม่เว้นแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ทางด้านเสิร์ช เอ็นจิ้น ของโลก
คนระดับประธานาธิบดี ก็ยังทำ รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน ยาฮู ตัดสินใจแต่งตั้งนายรอสส์ เลวินซอห์น เป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เป็นการชั่วคราวแทน นายสก็อตต์ ธอมป์สัน ที่ต้องลาออกไปเพราะปัญหาอื้อฉาวปลอมแปลงประวัติด้านการศึกษา
ทั้งนี้ นายโล้บ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เธิร์ด พอยท์ ผู้ถือหุ้น 5.8 % ในยาฮู เขียนจดหมายถึงคณะกรรมการบริหาร ยาฮู ว่า นายธอมป์สัน ตกแต่งประวัติการศึกษาของตัวเอง โดยไม่ได้จบสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากวิทยาลัยสโตนฮิลล์ ตามที่อ้างไว้ในหลักฐานการศึกษา แต่จบสาขาบัญชี ในปี 2522 และวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่มีสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จนกระทั่งปี 2526
“วิทยาลัยสโตนฮิลล์ แจ้งมาทางเราว่า วิทยาลัย เริ่มมอบปริญญาทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสี่ปี หลังจากธอมป์สัน จบการศึกษาแล้ว” โล้บตอกย้ำความมัวหมองทางการศึกษาของซีอีโอ ยาฮู
ยาฮู ได้ดึงนายธอมป์สัน อดีตประธานของเพย์พอล เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอ เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากบริษัทปลด นางแครอล บาร์ตซ์ ออกจากตำแหน่งซีอีโอ ไปได้เพียง 5 เดือน
ชะตากรรมของธอมป์สัน ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในอดีต เกี่ยวกับปัญหาวุฒิการศึกษาของผู้บริหารในบริษัทด้านเทคโนโลยี เช่น ซีอีโอ เรดิโอแชค ที่อ้างว่าจบปริญญา 2 ใบ แต่ไม่จริง ซีเอฟโอเวอริทาส ซอฟท์แวร์ ก็โกหกว่าจบเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ซีอีโอ โลตัส ที่โกหกว่า จบปริญญาเอก
นั่นหมายความว่า การโกหกเรื่องวุฒิการศึกษา ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น
หากตรวจกันอย่างจริงจัง นักการเมืองไทยจำนวนมาก ก็มีลักษณะฉ้อฉลวุฒิการศึกษามา
เช่นเดียวกับนักการเมืองต่างประเทศ
ประธานาธิบดี พาล ชมิตต์ แห่งฮังการี แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะปัญหาส่วนตัว
ปัญหาส่วนตัวดังกล่าว ก็คือ นายชมิตต์ ถูกยึดปริญญาเอก ที่ได้มาเมื่อปี 2535 หลังจากคณะกรรมการสอบสวนพิเศษของมหาวิทยาลัย เซมเมลไวส์ ในกรุงบูดาเปสต์ มีผลสรุปเมื่อไม่นานมานี้ว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในดุษฎีนิพนธ์ เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิคสมัยใหม่ของเขานั้น คัดลอกมาจากผลงานเขียนของนักเขียนสองคน
เขาทำหน้าที่ประธานาธิบดี เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นตำแหน่งในทางพิธีการ มีวาระ 5 ปี แต่ต้องลาออกก่อนครบกำหนดวาระ
ขณะที่นักศึกษาต่างประเทศคัดลอกวิทยานิพนธ์ แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทยกลับฟ้องร้องมหาวิทยาลัย เพราะถูกเปลี่ยนแปลงจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
จนกระทั่งศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หาได้มีลักษณะเป็นการออกคำสั่ง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีอันจะทำให้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายต่อตำแหน่งหรือฐานะการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใดไม่
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่ง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ( คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ) โดยนางสาวสุภาสินี ตันติศรีสุข ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ 1 รองอธิการบดี หาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (นางสิริวรรณ ศรีพหล) ที่ 2 คณะกรรมการบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ 3 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ( นายทองอินทร์ วงศ์โสธร ) ที่ 4 รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (นายประสงค์ วิทยเกียรติ) ที่ 5 ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ (นายสมบัติ พันธวิศิษฏ์) ที่ 6 คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงตามคำสั่งที่ 2973/2545 ที่ 7 คณะกรรมการประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ 8 คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ 9 ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ระดับ 9 สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายเนื่องจากการกระทำ และการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้า กล่าวคือ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 คณะทำงานจัดอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มีมติมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดี และรองศาสตราจารย์ ดร. สุชาดา ตั้งทางธรรม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ของนางสาวเกษณี สุจริตจันทร์ นักศึกษาระดับ บัณฑิตศึกษา ของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งที่422/2545 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 แต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ของนางสาวเกษณี ในระหว่างการจัดทำวิทยานิพนธ์นางสาวเกษณี ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 กันยายน 2545 ร้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม และขอให้เปลี่ยนแปลงผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม หลังจากนั้น ในวันที่ 17 กันยายน 2545 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้เสนอเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองคน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ตุลาคม 2545 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ขอเปลี่ยนแปลงอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และผู้ฟ้องคดี โดยจะหาอาจารย์อื่นมาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนางสาวเกษณี ต่อไป
ผู้ฟ้องคดีกับอาจารย์ที่ปรึกษาหลักไม่เห็นด้วย จึงทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 จึงได้นำเรื่องเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ในการประชุมครั้งที่ 15/2545 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ที่ประชุมมีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พิจารณาทบทวนคำวินิจฉัย ที่เปลี่ยนแปลงอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และผู้ฟ้องคดี และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อความเป็นกลางในเรื่องนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 จึงนำมติของที่ประชุมดังกล่าว เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2545 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ 2973/2545 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 นางสาวเกษณี ได้ทำหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 เพื่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเป็นรองศาสตราจารย์ ดร. เอกพล หนุ่ยศรี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 ไม่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงผู้ฟ้องคดี เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ หลังจากนั้น นางสาวเกษณี มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2546 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ฟ้องคดีอีกครั้ง ซึ่งต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 6/2546 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2546 โดยมีมติให้เปลี่ยนแปลงผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม เป็นรองศาสตราจารย์ ดร.เอกพล
ศาลปกครองชั้นต้น เห็นว่า แม้จะปรากฏต่อมาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทั้งสอง อันมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดี ไม่มีฐานะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมของนักศึกษาทั้งสองอีกต่อไปก็ตาม แต่การออกคำสั่งดังกล่าว เป็นเพียงการออกคำสั่งเพื่อเปลี่ยนแปลงการมอบหมายงานภายในเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเท่านั้น หาได้มีลักษณะเป็นการออกคำสั่ง
ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีอันจะทำให้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายต่อตำแหน่ง หรือฐานะการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใดไม่ ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีในข้อหานี้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ต่อมา นางสาวสุภาสินี ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้ว จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เปลี่ยนแปลงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นเรื่องให้ปฏิบัติงานภายใต้หน้าที่ทางราชการของผู้ฟ้องคดี ที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาพึงต้องปฏิบัติ คำสั่งดังกล่าวหาได้มีผลต่อสถานภาพของสิทธิ หรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ไม่ว่าจะเป็นการถาวร หรือชั่วคราวไม่
เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งที่ไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิ หรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีตาม มาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1 ) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้
นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ไม่ได้กระทบสิทธิ หรือหน้าที่ของอาจารย์แต่อย่างใดไม่
แต่อาจารย์บางคนกลับไม่คิดเช่นนั้น...น่าเวทนานัก !!