สมาคม บจ. ตั้งชมรมบริหารความเสี่ยง เล็งดึง “ซีเอฟโอ” กลุ่ม ปตท. นั่งเก้าอี้ ปธ. เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ เพื่อรับมือวิกฤต ศก.โลก เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ประจำปี 9-11 ก.ค.นี้ เพื่อให้ผู้บริหาร บจ. เตรียมพร้อม และเรียนรู้ประสบการณ์
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กล่าวว่า สมาคมได้ตั้งชมรมบริหารความเสี่ยงขึ้นมา โดยมีนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (ซีเอฟโอ) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธาน เพื่อเป็นศูนย์กลางให้สมาชิกมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ในการบริหารความเสี่ยงร่วมกัน พร้อมกับให้ตระหนักว่า ความเสี่ยงในปีนี้คือ เรื่องอะไรบ้าง เพื่อจะได้วางแผนรับมือกับความเสี่ยงนั้นๆ ได้
สำหรับความเสี่ยงหลักๆ ในปีนี้ จากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร บจ. (ซีอีโอ เซอร์เวย์) ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2555 พบว่า มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจโลก 2.ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และ 3.ภัยพิบัติธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นห่วงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก
“ทุกบริษัทควรจะมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะ อาจจะเป็นชุดเล็กๆ แล้วแต่ความเหมาะสมของบริษัท หรืออาจจะเชิญที่ปรึกษาข้างนอกมาช่วย เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากความเสี่ยง และวางแผนงาน กลยุทธ์การดำเนินงานในอนาคต อย่างไรก็ตาม บริษัทส่วนใหญ่มีการบริหารความเสี่ยงอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละบริษัทมีมุมมองต่อความเสี่ยงไม่เหมือนกัน บางแห่งมองความเสี่ยงเรื่องการเงิน สภาพคล่อง ยอดขาย ต้นทุน แต่แชร์ข้อมูลกัน จะทำให้มีมุมมองที่หลากหลายขึ้น”
ทั้งนี้ สมาคมจะจัดสัมมนาใหญ่ประจำปี เรื่องการบริหารความเสี่ยง ในวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2555 นี้ โดยเปิดให้ผู้บริหารระดับบน และผู้บริหารระดับกลางของ บจ. มาเข้าร่วมการสัมมนา เตรียมความพร้อมองค์กรในการบริหารความเสี่ยง พร้อมเรียนรู้ และศึกษาแนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ จากกรณีศึกษาของแต่ละบริษัท พร้อมทั้งดูผลกระทบต่อประเทศไทย จากการถูกจัดกลุ่มประเทศที่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมที่อาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน หรือสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ของ The Financial Task Force (FATF)
นายชนินท์ กล่าวว่า สำหรับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) นั้น เวลามองความเสี่ยงจะมองควบคู่ไปกับผลตอบแทน และบางครั้งในการมองความเสี่ยงต่างๆ บางครั้งเราก็เจอโอกาสซ่อนอยู่ ฝ่ายบริหารก็ต้องพิจารณาดูว่าจะคว้าโอกาสนั้นหรือไม่ นอกจากนี้ จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ก็ต้องปรับต้นทุน และต้องดูว่าลูกค้ามีความเสี่ยงหรือไม่ หากมีปัญหาก็ต้องปรับหาตลาดอื่นแทนรายเดิม เพื่อประคองตัวให้มีกำไรที่ดีได้
ทั้งนี้ บริษัทเริ่มประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนบริหารความเสี่ยงสำหรับปีหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องราคาถ่านหิน ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาปรับลดลงมาต่อเนื่อง จากปริมาณการผลิตในตลาดโลกที่สูงกว่าความต้องการอยู่ถึง 10% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้บริษัทมีการขายล่วงหน้าไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย แต่จะกระทบกับปีหน้ามากกว่า
“บริษัทคงติดตามสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังก่อน เพื่อวางแผนรับความเสี่ยงเรื่องราคาในปีหน้า สำหรับสถานการณ์ปัญหาในยุโรป ส่งผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากลูกค้าของบริษัทในอิตาลีนั้น เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยังคงมีความต้องการใช้ถ่านหินอยู่ โดยบริษัทส่งออกถ่านหินไปอิตาลีเพียงปีละ 1 ล้านตัน ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่เป็นญี่ปุ่น ประมาณ 5 ล้านตัน”
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ซีเอฟโอ ปตท. ในฐานะประธานชมรมบริหารความเสี่ยง กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ บจ.จะต้องเจอกับความเสี่ยงที่ไม่คุ้นเคย นั่นคือ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทั้งการแก้ปัญหากรีซ การออกมาตรการคิวอี 3 ของสหรัฐฯ เพราะถึงแม้จะมีข้อมูลการประเมินสถานการณ์จากผู้รู้มากมาย แต่ก็ไม่สามารถโฟกัสผลกระทบกับแต่ละบริษัทที่แท้จริงได้ จึงต้องมีการพูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่แต่ละแห่งมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)
“การบริหารความเสี่ยงจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางของบริษัท ทำให้รู้ว่าช่วงไหนควรเร่ง ช่วงไหนควรชะลอ ต้องประเมินตัวเอง โดยดูสภาพแวดล้อม โดยเป้าหมายของการบริหารความเสี่ยงหลักๆ มีอยู่ 3 ส่วน คือ เพื่อทำให้ต้นทุนนิ่ง ล็อกอัตราการทำกำไร และกำหนดกลยุทธ์การลงทุน”
สำหรับการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม ปตท.นั้น จะมีการทำ Stress Test ตั้งสมมติฐานแต่ละกรณีไว้ เพื่อประเมินว่าหากเกิดสถานการณ์ขึ้นจะเตรียมความพร้อมรับมืออย่างไร พร้อมกับประเมินโอกาสที่จะเกิดแต่ละกรณีไว้ด้วย
ขณะที่การประเมินความเสี่ยงในการลงทุนนั้น จะดูหลายปัจจัยรวมกัน ไม่รีบร้อนที่จะเข้าไปลงทุน เช่น การลงทุนในประเทศพม่า ซึ่งหลายบริษัทประกาศว่ามีแผนจะไปลงทุน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเข้าไปอย่างไร และความเสี่ยงมีอะไรบ้าง บางคนมองแค่ความไม่สะดวกด้านลอจิสติกส์ ขณะที่ไฟฟ้าในพม่ายังไม่เพียงพอต่อการใช้ในครัวเรือน แล้วจะตั้งโรงงานได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จึงต้องมองให้รอบคอบด้วย