xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย 7 ปี สนธิกับจุดยืนเรื่อง ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การต่อสู้ระหว่างภาคประชาชนกับ “ความโลภ” หลังการแปรรูป ปตท. นั้นได้เป็นการต่อสู้ที่มีเดิมพันระหว่าง ฝ่ายหนึ่งต้องการแสวงหาราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องการแสวงหาผลกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้น

“เมืองไทยรายสัปดาห์” เป็นรายการทางสถานีโทรทัศน์ทางโมเดิร์นไนน์ อสมท. ซึ่งเป็นการดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ได้เคยพูดเรื่อง ปตท. มาหลายครั้ง โดยได้ปรากฏในรายการดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548


ที่น่าสนใจแม้เวลาเปลี่ยนไป จำนวนหุ้นอาจจะเปลี่ยนไป แต่เนื้อหาในการพูดครั้งนั้นยังคงสามารถประยุกต์ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยิ่ง

และนั่นแสดงว่าปัญหาของประเทศยังคงอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

จึงขอถือโอกาสนี้นำความบางตอนจากรายการดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกันอีกครั้ง กับจุดยืนของ สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเคยพูดมาแล้วต่อกรณี ปตท. ดังนี้:

“คุณสโรชารู้ไหมครับ การลอยตัวน้ำมันไม่ต่างจากการลอยค่าเงินบาท มันจะต่างกันได้ยังไง เพราะว่าถ้าคนรู้ก่อน รู้ว่าเมื่อไหร่ ประมาณเท่าไหร่จะลอยนะครับ ถ้าเตรียมการไว้ กำไรทุกคน แน่นอนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณโสภณ สุภาพงษ์ พูดมานั้น ประเด็นไม่ใช่ว่าสต๊อกน้ำมัน 2,000 ล้านลิตรจริงหรือเปล่า หรือว่าแค่ 500 ล้านลิตร หรือว่าแค่ 10 ล้านลิตร ประเด็นคือว่า การกระทำเช่นนี้มีคนได้เงินอย่างแน่นอนที่สุด ส่วนจะได้มากหรือได้น้อยผมไม่ทราบ แต่ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ข้อสังเกตที่ผมอยากจะตั้งคือ น้ำมันดีเซล ถ้าสมมติว่ารู้กันภายในว่ารัฐบาลต้องลอยตัวแน่ ผู้ที่นำเข้าน้ำมันเข้ามา สามารถจะนำเข้าน้ำมันมาล่วงหน้าก่อนได้เลย อย่าว่าแต่นำเข้ามาตอนนี้เลย สามารถจะสั่งน้ำมันเข้ามาเลยระหว่างที่ลอยเรือเข้ามาตรงนี้ มันก็ราคาเก่า พอเข้ามาบวกเข้าไปราคาใหม่ ตรงนี้ต้องมีการทำกำไรอย่างแน่นอนที่สุด ส่วนจะมากหรือจะน้อยนั้น ผมไม่ทราบ

คุณสโรชา คุณไปตรวจสอบหลักฐานเรื่องน้ำมันได้ในอดีต จนกระทั่งปัจจุบันและก็ต่อไปในอนาคต ผมมีคำถามที่อยากจะถามบริษัทน้ำมันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปตท. ผมอยากจะถามว่า ทำไม่เวลาเกิดวิกฤติน้ำมันทีไรบริษัทซึ่งค้าน้ำมันในโลกนี้ รวมถึง ปตท.รวยเละเลย ถ้าหากว่าสิ่งที่คุณพูดที่คุณให้สัมภาษณ์บอกน้ำมันขึ้น 1 ดอลลาร์ มีความจำเป็นต้องขึ้นเท่านั้นสตางค์ เมื่อน้ำมันลง ผมจะลงให้ตาม ถ้ามันเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้ว กำไรของคุณไม่ควรจะบ้าเลือดขนาดนั้น ถูกไหม ถ้าเป็นไปตามที่คุณพูดว่าถ้าขึ้น 1 ดอลลาร์ คุณจะขึ้น 60 สตางค์ ถ้าลด 1 ดอลลาร์ คุณก็จะลด 60 สตางค์ ใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ในอดีตคุณเคยกำไรเท่าไร ก็น่าจะกำไรเท่านั้น ไม่ควรจะผิดปกติ แสดงว่าหนึ่ง มีการกั๊กราคา ราคากั๊กยังไง สมมติว่าคุณขึ้นไป 1 ดอลลาร์ และคุณขึ้น 60 สตางค์ แต่ถ้าลด 1 ดอลลาร์ และคุณไม่ได้ลด 60 สตางค์จริง คุณอาจจะลด 40-45 หรือ 50 สตางค์

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราพูดอยู่ตลอดเลยว่า เราจะต้องอิงราคาสิงคโปร์ ผมภาวนาต่อพระสยามเทวาธิราช ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ปตท.ช่วยเล่าให้ผมฟังหน่อยว่า ทำไมเราจะต้องอิงราคาสิงคโปร์ พอถามทีไร ท่านก็บอกว่ามันเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ผมไม่เห็นมันจะสลับซับซ้อนอะไรตรงไหนเลย ผมจะบอกให้สมัยก่อนนั้น เราต้องอิงราคาที่สิงคโปร์ ก็เพราะว่าสิงคโปร์มีโรงกลั่น เราก็มีโรงกลั่น แต่เรากลั่นน้อยกว่าสิงคโปร์ และสิงคโปร์ก็เป็นศูนย์รวม เราไม่ต้องการให้ราคาเรานั้นแพงกว่าสิงคโปร์ เพราะถ้าแพงกว่าสิงคโปร์ น้ำมันจะถูกลักลอบจากสิงคโปร์เข้าสู่เมืองไทย นั่นคือสาเหตุการอิงราคาในอดีต แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ ผมจะทายว่าที่ต้องอิงราคากับสิงคโปร์นั่น เพราะว่าผู้บริหารน้ำมันในประเทศเราบางคน ผมไม่เอ่ยองค์กรมีส่วนได้ส่วนเสียกับการค้าน้ำมันโดยการอิงราคากับสิงคโปร์ เป็นเวลานานมาแล้ว นั่นคือสาเหตุผมกล้าฟันธงลงไปได้เลยนั่นข้อที่หนึ่ง

ส่วนข้อที่สอง คุณสโรชา เจ็บปวดมากข้อนี้ เราเคยมี ปตท. เป็นผู้ซึ่งค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศไทย ปตท.กับธนาคารกรุงไทย ไม่ได้ต่างกันอะไรเลย คือเป็นของรัฐ เราไปแปรรูป ปตท.ขายหุ้นออก 35 เปอร์เซ็นต์ ให้กับนักลงทุน โดยอ้างเหตุผล 1,899,092 เหตุผล ว่าจะมีประสิทธิภาพ ว่าจะมีผลดีอย่างโน้นอย่างนี้ ประชาชนจะได้รับการบริการ รวมไปจนถึงเรื่องของราคาจะดีด้วย แต่ปรากฏว่า 66,000 ล้านบาท ที่ปตท. กำไรเมื่อสิ้นปี 2547 จากเครือข่ายปตท.ทั้งหมด 35 เปอร์เซ็นต์ของกำไรนั้น คือ 20,000 กว่าล้านนั้น ต้องจ่ายไปให้นักลงทุน ผมก็ถามว่าแล้ว 35 เปอร์เซ็นต์ที่จ่ายให้นักลงทุน เดิมที 35 เปอร์เซ็นต์นี้เป็นของ ปตท. 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นของคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ได้แปรรูปแล้ว เอา 35 เปอร์เซ็นต์นี้มา 20,000 กว่าล้านบาทก็ยังเป็นของคนไทยอยู่ใช่ไหม อย่างน้อย 20,000 กว่าล้านบาทนั้น เอามาแบ่งเบาภาระของราคาน้ำมันดีเซลให้เราได้บ้าง


ถ้า ปตท.จะกลับใจวันนี้ก็ทำทัน คำถามคือ จะทำได้หรือเปล่า ปตท.คือรัฐบาลถือหุ้น 65 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ปตท. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องแจ้งให้ทราบ ในมติที่ประชุม ว่าเป็นผลปีนี้มีกำไรตรงนี้ มันกำไรน่าเกลียด มันกำไรอัปลักษณ์จนเกินไป ในขณะซึ่งประเทศชาติกำลังขมขื่น ผมจะขอฉันทามติผู้ถือหุ้น ปตท. ว่าจะเอากำไรส่วนหนึ่ง 20,000-30,000 กว่าล้านบาท เอามาคืนให้กับราคาน้ำมันซะ ให้มันต่ำลงหน่อย ปตท.ถือหุ้นส่วนใหญ่ ยกมือสิ ยกมือในที่ประชุมนักลงทุนอาจจะค้านใช่ไหม แต่เพราะเราถือหุ้นใหญ่กว่า เพราฉะนั้นแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ถ้าคุณบอกทำไม่ได้แล้วเราแปรรูปไปทำไม แปรรูปเพื่อให้นักลงทุนไม่กี่คน ไปร่ำรวยจาก 26,000 ล้านหรือ ถ้าอันนี้เป็นปรัชญาของการแปรรูป อย่าแปรรูปเลยดีกว่า

คุณสโรชา ปตท.จะต้องเป็นตัวคานกิจการที่ค่อนข้างจะผูกขาด คานยังไง ปตท.เป็นเจ้าของไทยออยล์ บางจาก 3 ตัวนี้ ถ้า ปตท.บอกว่าผมจะขอลดราคาค่าการตลาดลง มาร์จิ้นขอลดลง ที่ต้องตามมาคือ เชลล์ก็ตองลด เอสโซ่ก็ต้องลด คาลเท็กซ์ก็ต้องลดใช่ไหม เพราะว่า ปตท.เป็นผู้นำตลาด มาช่วยประเทศชาติ ประชาชน ในยามที่ประเทศชาติ ประชาชนกำลังลำบาก เราไม่ใช่สหรัฐอเมริกา เราไม่ใช่อังกฤษ เราไม่ใช่สิงคโปร์ที่ร่ำรวย เรายังมีพ่อแม่พี่น้อง ประชาชน ซึ่งราคาน้ำมันขึ้น 3 บาท หรือขึ้น 2 บาท ขึ้น 4 บาท อะไรพวกนี้ เดือดร้อนกันไปหมด คุณอย่าไปดูถูกคนกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯยังลำบากเลย คุณต้องไปดูคนต่างจังหวัด ชาวประมงเขาลำบากมาก ต่างจังหวัดน้ำมันขึ้นลิตรละ 1 บาท ก็ตายแล้วนะ นี่ยังไม่ได้พูดถึงราคาก๊าซหุงต้มที่กำลังจะลอยตัวเหมือนกัน ฉันใดฉันนั้นเหมือนธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทยมีสินทรัพย์คิดว่าอันดับ 2 ของประเทศได้ตอนนี้ ถ้าธนาคารกรุงไทยต้องเป็นหัวหอกในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อที่จะดึงให้ธนาคารทั้งระบบลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามและเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก แต่วันนี้ธนาคารกรุงไทยก็ไม่ได้ทำ เหตุผลเพราะว่าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นโดยตรง คือ ถ้าพูดอย่างนี้ พูดอีกก็ถูกอีก ก็ไม่ผิด ถ้าอย่างนั้น ผมก็อยากจะถามกลับ และขอกราบประทานโทษ จะกรุณาเล่าให้ผมฟังหน่อยได้ไหม พวกที่ส่งเสริมการแปรรูป ทุกประเภท วันนี้มาเล่าให้ผมฟังหน่อยซิ ว่าคุณแปรรูปไปทำไม คุณแปรรูปเพื่อให้นักลงทุนได้ส่วนแบ่ง 35 เปอร์เซ็นต์ ใช่ไหม ตอบผมหน่อยซิ

คุณสโรชา อย่าให้พูดเลย พูดแล้วเจ็บกระดองใจ มีเยอะแยะไปหมด คือเขาขอเพียงแต่แปรรูปเพื่อที่จะให้มาร์เกต แคปปิตัลไลเซชั่นของเขาสูงขึ้น เพื่อที่จะเป็นส่วนในการที่จะเพิ่มจีดีพีเท่านั้นเอง มองตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเดียว ฉะนั้นอยากให้ซื้อหุ้นคืนและเอากลับมาเป็นของรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์

อีกประการหนึ่ง ผมอยากจะให้คุณสโรชาคิดให้ดีๆ หุ้น ปตท.เข้าตลาดตอนนั้น ราคาประมาณ 35 บาท วันนี้ 200 กว่าบาท ตอนนั้นแย่งกันอย่างกับแร้งทึ้ง แปลว่าอะไร แปลว่าทุกๆคนรู้อยู่แล้วว่าหุ้น ปตท. หุ้นพลังงาน เป็นพลังงานกลุ่มที่ค่อนข้างผูกขาด ยังไงราคาต้องดี กำไรอย่างมากมาย เท่ากับว่าเรากำลังเอาอาหารอันโอชะมาตั้งบนโต๊ะ และเราก็เชิญนักลงทุน คุณมากิน นี่ของดี กินให้เต็มที่ เข้าใจไหม มันผิดกระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง นักลงทุนถ้าอยากจะได้ผลประโยชน์จากตรงนี้ เขาต้องเข้ามาเสี่ยงด้วย ไม่ใช่เขาเข้ามาแล้วอันนี้ดีที่สุด ต้องรีบเข้ามา ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าการเสี่ยงไม่มีมีแต่กำไร ตั้งไว้ทำไม 35 บาท ทำไมไม่ตั้ง 120 บาทไปเลย

เพราะว่าคนซื้อมันกำไรน้อย ผมฟ้องต่อท่านผู้ชมที่บ้าน นี่คือความจริงที่เจ็บปวด กำไรที่อัปลักษณ์”

7 ปีกว่า ผ่านไป หลังจากรายการในวันนั้นสถานการณ์ปัญหาของ ปตท. และกลุ่มพลังงานรุนแรงและหนักขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่าทวีคูณ หุ้นถูกแปรรูปขายมากขึ้น ผูกขาดมากขึ้น กำไรอภิมหาอัปลักษณ์ยิ่งกว่าเดิม และประชาชนก็เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าอย่างแสนสาหัส

คำถามมีอย่า ถึงเวลาหรือยังและพร้อมกันหรือยังที่คนไทยอาจต้องถึงเวลาสำแดงพลังเพื่อต่อต้านความอำมหิตโหดเหี้ยมของนโยบายพลังงานและ ปตท.!?

กำลังโหลดความคิดเห็น