xs
xsm
sm
md
lg

คลังเร่งกองทุนวายุภักษ์2 ให้ผลตอบแทนขั้นต่ำ3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คลังระบุตั้งคณะกรรมการเดินหน้ากองทุนวายุภักษ์ 2 แล้ว เตรียมโอนสินทรัพย์มูลค่า 3 แสนล้านบาทเข้ากองใหม่ ยันการันตีผลตอบแทนที่ 3.0% จนถึงปี 56 ตามข้อตกลงเดิม

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมา 1 ชุดเรียบร้อยแล้ว เพื่อดูแลการจัดตั้งกองทุน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนในในกองทุนวายุภักษ์ 1 เพื่อลงมติว่าจะโอนย้ายทรัพย์สินกว่า 3 แสนล้านบาทไปอยู่ในกองทุนเปิดหรือไม่ โดยจะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง แต่คาดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะแค่เพียงกระทรวงการคลังและธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) รวมกันก็ถือหน่วยลงทุนมากกว่า 50% อยู่แล้ว

โดยที่ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือ เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรที่จะลงมติในการโอนย้ายสินทรัพย์ เพราะแม้จะย้ายไปอยู่ในกองทุนเปิด แต่ก็ยังได้รับการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 3% ไปจนเดือนธันวาคม 2556 ตามเงื่อนไขเดิมของกองทุนวายุภักษ์ หลังจากนั้นจึงมาพิจารณาดูเงื่อนไขและผลตอบแทนต่างๆ ในภายหลัง รวมถึงขนาดของกองทุนด้วยว่า จะมีการเพิ่มทุนในหน่วยลงทุนอีกหรือไม่ ซึ่งคาดว่ากระบวนการจัดตั้งกองทุนเปิดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือน

“คาดว่าประมาณปลายปีนี้ ก็จะน่าจะตั้งกองทุนเปิดเสร็จ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องทำ รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการจำหน่ายหุ้น โดยกองทุนเปิดวายุภักษ์ใหม่นี้ จะสามารถ เลือกลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น โดยเน้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอีกส่วนหนึ่งจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้รูปแบบใหม่ๆ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เช่น โครงการรถไฟสายต่างๆ ” นายประสงค์กล่าวและว่า การบริหารกองทุนเปิดวายุภักษ์ จะทำโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)ที่จะต้องเปิดประมูลใหม่ จากปัจจุบันที่บริหารงานโดยบลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.กรุงไทย
สำหรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ไปชี้แจงในรายละเอียดมา 2 ครั้งแล้ว คาดว่าอีกไม่น่าก็น่าจะเสร็จและสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติ เพื่อเตรียมเสนอวาระในสภาได้ โดยหลักการยังเป็นกองทุนที่จะมารองรับจากเงินเรียกเก็บจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในอัตรา 0.47% และกำหนดวัตถุประสงค์การใช้ชัดเจนว่า เพื่อการเพิ่มทุนของธนาคารรัฐ หากมีความต้องการหลังจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลแล้ว แต่จะไม่ใช้เพื่อการชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างที่เกิดจากนโยบายของรัฐ เพราะกรณีดังกล่าวจะเป็นการใช้เงินงบประมาณแทน.
กำลังโหลดความคิดเห็น