xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตา รบ.ปูลักไก่เร่ง“ประชาเสวนา” รวบรัดแผนปรองดองเพื่อแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธงทอง จันทราศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานจัดเวทีประชาเสวนา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ขณะที่กระแสสังคมส่วนใหญ่กำลังพุ่งความสนใจไปที่ปัญหาความเดือดร้อนจากสินค้าราคาแพง และวาระทางการเมืองรายวัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม. รองรับการกลับมาของ “111 ซากไทยรักไทย” การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างนายฉลอง เรี่ยวแรง กับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ข่าวการตอบโต้กันไปมาระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กับ นายพลนะคะมวย ผู้นำทหารกะเหรี่ยงที่ถูกทางการไทยออกหมายจับในคดียาเสพติด ฯลฯ

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังฉวยโอกาสลักไก่ เดินหน้าแผนการลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้แผนปรองดองแห่งชาติบังหน้า

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การเสนอแนวทางการปรองดองโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการตัดตอนงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณมาใช้ นั่นคือการนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย และการยกเลิกผลทางกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) จนสถาบันวิจัยพระปกเกล้าต้องออกมาเรียกร้องไม่ให้กรรมาธิการฯ นำงานวิจัยดังกล่าวไปใช้

แต่ในที่สุด รายงานของกรรมาธิการปรองดองฯ ก็ผ่านการรับรองของสภา ตามระบบพวกมากลากไป และมีการส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และรัฐบาลก็ได้ส่งต่อให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ไปดำเนินการต่อ

เพื่อลดกระแสต่อต้าน เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ปคอป.จึงได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่า ควรจะจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้ทุกฝ่ายของสังคมไทยได้เข้าถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง และควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ความรู้ และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการเปิดเวทีที่เรียกว่า “ประชาเสวนา” โดยกำหนดประเด็นที่จะนำไปสู่การพูดคุย คือ ประเด็นที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง และแนวทางในการสร้างความปรองดอง เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีก โดยขอความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้าฯ เพื่อขอคู่มือ และแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำเวทีประชาเสวนา รวมทั้งการจัดอบรมบุคลากร เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากร เพื่อให้รัฐบาลได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการจัดให้มีเวทีเสวนา โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันการศึกษาที่มีความสนใจสามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ โดยนำเอาผลการศึกษาของ ปคอป. และแนวทางปฏิบัติของเวทีประชาเสวนาของสถาบันพระปกเกล้าฯ ไปดำเนินการได้ โดย ปคอป.ได้เห็นชอบในหลักการดำเนินการจัดทำเวทีประชาเสวนา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินการจัดทำเวทีประชาเสวนา โดยให้คณะอนุกรรมการนำเสนอผลการดำเนินการ และข้อเสนอแนะภายในระยะเวลา 60 วัน

ครม.ได้เห็นชอบตามรายงานของ ปคอป.ดังกล่าว โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานจัดเวทีประชาเสวนา มีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
วันที่ 10 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ นัดแรก ซึ่งนายธงทองเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการทำงานเบื้องต้นให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนและทุกภูมิภาค โดยการจัดเวทีประชาเสวนาใน 2 ระดับ และ 2 ระยะ

ระดับแรกจะทำในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือน พ.ค.นี้ โดยจะขอให้องค์กรพัฒนาชุมชนที่มีอยู่ในตำบลและเทศบาลให้ผู้นำองค์กรเหล่านี้จัดเวทีในชุมชน ลักษณะเวทีย่อย 5-10 คน เพื่อจะฟังความเห็น และถามความเห็นว่ารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง ความไม่ปรองดอง มีที่มีที่ไปอย่างไร และมีแนวคิด หรือข้อเสนอที่จะแก้ไขอย่างไร

หลังจากนั้นจะมีการประมวลข้อคิดเห็น ตามระบบประมวลผลสารบัญของ “มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต” ที่จะช่วยเก็บข้อมูลให้ และคาดว่าในต้นเดือน มิ.ย.นี้จะได้ความเห็นที่มาจากทุกภาคส่วน รวมทั้งใน กทม.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจะช่วยประสานงานให้ด้วย

ขณะเดียวกันจะขอให้องค์กรพัฒนาชุมชนในระดับจังหวัดเป็นหัวแรงทำเวทีดังกล่าวด้วย โดยเวทีเสวนาระดับนี้จะทำได้ในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจะมีการพูดคุยขององค์กรพัฒนาชุมชนระดับจังหวัดที่มีการจัดตั้งอยู่แล้ว โดยงบประมาณทั้งหมดที่ใช้จะเป็นของ ปคอป.

สำหรับข้อมูลในเวทีประชาเสวนา จะมาจาก 3 ส่วนคือ 1.ข้อมูลจากการฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศที่มีการประเมินแล้ว 2.รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีรายงานความเห็นมาแล้วว่าความแย้งเกิดจากอะไร แนวทางแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร และ 3.รายงานของคณะกรรมาธิการปรองดองฯ ที่มี พล.อ.สนธิเป็นประธานได้เสนอไว้

นายธงทองอ้างว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือไปยังสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพื่อขอความร่วมมือการจัดเวทีดังกล่าว แต่ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมาแต่อย่างใด

สำหรับกรอบเวลา 60 วันที่ ปคอป.มอบหมายนั้น นายธงทอง กล่าวว่า หากไม่ทันก็จะมีการขยายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่ง ปคอป.ก็เปิดช่องไว้แล้วว่าขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเท่ากับว่า น่าจะทำเสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ หรือหากช้าออกไปก็จะประมวลผลได้ในราวต้นเดือน ก.ค.นี้

ส่วนการจัดเวทีประชาเสวนาจะครอบคลุมทั่วประเทศหรือไม่นั้น นายธงทองออกตัวว่า จะให้ครอบคลุมทุกกลุ่มความคิดเห็นก็คงจะเหลือกำลังรับได้ และตนก็แยกไม่ไหว เพราะทุกคนเป็นกลุ่มก้อนอยู่ภายในประเทศ ซึ่งระบบพื้นที่จะอธิบายได้ว่ามีการกระจายและทั่วถึง ขณะที่กลุ่มการเมือง มีเวทีแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว และเราอยากให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันคิดมากกว่า และตนเห็นว่ากลุ่มการเมืองมีความคิดที่ไม่เปลี่ยน หากไปคุยกันก็จะเป็นการทะเลาะกัน

กรณีที่นายธงทองบอกว่าได้ส่งหนังสือถึงสถาบันพระปกเกล้าเพื่อขอความร่วมมือการจัดเวทีประชาเสวนาแล้วนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บอกเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ว่า สถาบันพระปกเกล้ายังไม่ได้รับหนังสือของคณะอนุกรรมการฯ ที่ส่งมาเพื่อขอความร่วมมือการจัดทำเวทีประชาเสวนา โดยเฉพาะเรื่องการขอตัววิทยากร แต่หากได้รับหนังสือแล้วจะมีการเรียกประชุมสภาสถาบันฯ เพื่อหารือเรื่องนี้อีกครั้ง และต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมว่าจะให้ความร่วมมือหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้าเคยมีมติห้ามไม่ให้รัฐบาลนำผลการวิจัยของสถาบันไปใช้อ้างอิงในการจัดประชาเสวนาไปแล้ว เพราะไม่ต้องการเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการนิรโทษกรรมให้คนที่ทุจริต จึงเป็นเรื่องยากที่สถาบันพระปกเกล้าจะเข้าร่วมการจัดเวทีประชาเสวนาเพื่อหาแนวทางปรองดองของรัฐบาล

ขณะที่ กรอบเวลาที่บังคับเอาไว้ จะทำให้คณะอนุกรรมการฯ ที่มีนายธงทองเป็นประธานต้องเร่งจัดเวทีประชาเสวนาให้เสร็จโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอคำตอบจากสถาบันพระปกเกล้าว่าจะเข้าร่วมหรือไม่

ดังนั้นการจัดเวทีทั้งในระดับชุมชนและระดับจังหวัด จึงอยู่ภายใต้การควบคุมและชี้นำโดยรัฐบาลทั้งหมด แม้ว่าจะมีสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเข้ามาร่วม ก็แค่มาช่วยในการประมวลผลข้อมูลเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของนายธงทอง ที่บอกว่าจะไม่เก็บข้อมูลจากกลุ่มการเมือง เพราะกลัวจะเป็นการทะเลาะกันแล้ว จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า แนวทางการปรองดองที่ได้จากการจัดเวทีประชาเสวนา จะต้องมีข้อสรุปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรต้องการอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น