ASTVผู้จัดการรายวัน-สุดมึน! นายกฯ ไทย โทษประชาชนรู้สึกไปเองว่า "ของแพง" แต่ไม่วายสั่ง"พาณิชย์"คุมเข้ม ป้องกันพ่อค้าฉวยโอกาส "มาร์ค"แนะแก้ปัญหาดีกว่าชวนทะเลาะ ชี้แต่งตัวเลขยังไง ก็หนีความจริงไม่พ้น ด้าน"พาณิชย์" ยังไม่เลิกให้ข้อมูลเท็จ จ่อชง "ปู" ยันขายอาหารจานด่วน 25-30 บาท มีกำไร สวนทางของจริง ราคาพุ่งไป 35-40 บาทแล้ว เผยล่าสุด ผัก เนื้อสัตว์ ราคาพุ่งขึ้นเท่าตัว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงปัญหาสินค้าราคาแพง ที่รัฐสภา เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) ว่า ที่จริงแล้วเรื่องนี้มีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่เก็บจากข้อเท็จจริง และอีกส่วนมาจากเสียงสะท้อนของประชาชน โดยสินค้าที่ประชาชนรู้สึกว่ามีราคาแพง อาจมีผลพวงมาจากในเรื่องของอุทกภัย ซึ่งจะเห็นว่าราคาสินค้ามีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่จริงในรายละเอียด เห็นว่า ราคาสินค้าเริ่มมีการปรับตัวลดลง แต่อาจยังไม่มีการปรับตัวลดลงตามที่ประชาชนพอใจ เพราะสินค้าหลายๆ อย่าง อาจจะยังไม่ปกติ โรงงานอุตสาหกรรมค่อยๆ เปิดขึ้น คาดว่าจะเปิดเต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเปิดเต็มที่แล้ว ก็จะทำให้สินค้าต่างๆ ค่อยๆ กลับเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะขณะนี้ราคาสินค้าต้นทางไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ราคาปลายทางก็ไม่ควรจะปรับขึ้น และขอให้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อรับข้อร้องเรียนจากประชาชนเพื่อดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดด้วย
"ช่วงนี้ อยู่ในช่วงเดือนเม.ย. อากาศร้อน และในรอบเดือนนี้ ประชาชนอาจจะมีค่าใช้จ่ายเยอะ เช่น บุตรหลานเปิดเรียนหนังสือ เมื่อนำ 2 มุม มาประกอบกัน จึงทำให้ประชาชนเห็นว่า สินค้ามีราคาแพง เพราะจากการที่เราเก็บข้อมูลในเรื่องของราคาสินค้า ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับใจพี่น้องประชาชน แต่รัฐบาลยืนยันที่จะพยายามทำทุกวิถีทางในการหามาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชน แต่ต้องเรียนว่าเป็นมาตราการในการช่วยเหลือเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย"น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในด้านการเพิ่มกำลังซื้อ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายไปแล้วหลายนโยบาย ทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000บาท หรือแม้กระทั่งในเรื่องค่าแรง 300 บาท ส่วนราคาพลังงานที่สูงขึ้น อาจจะมีส่วนทำให้สินค้าแพงขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลัก อีกทั้งบางส่วนรัฐบาลยังตรึงไว้ โดยเฉพาะแก๊สหุงต้ม (LPG) ที่ใช้ในครัวเรือน ทั้งนี้ ขอให้คอยดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของไตรมาส 1 ที่กำลังจะประกาศออกมา ก็จะเห็นตัวเลขที่แท้จริง
***แนะแก้ของแพงดีกว่าชวนทะเลาะ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลบอกว่าของแพงเป็นมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ว่า เรื่องนี้ ไม่อยากทะเลาะด้วย เพราะขณะนี้ ได้สะท้อนชัดเจนอยู่แล้วว่าเกิดปัญหาเรื่องค่าครองชีพในสายตาประชาชนจริง
“ผมไม่ไปเถียงหรอกครับ ผมเพียงแต่บอกว่า ทำไมไม่ตั้งหลักที่จะแก้ปัญหา ทำไมจะมาทะเลาะกันเรื่องการเมือง ผมว่ามันก็เป็นการสะท้อนกันชัดเจนอยู่แล้วว่าขณะนี้มันมีปัญหาเรื่องของค่าครองชีพจริงในสายตาของประชาชน นโยบายพลังงานปรับได้ ปรับเถอะครับ อย่าไปซ้ำเติมพี่น้องประชาชนเพิ่มขึ้นเลย แล้วในส่วนของนโยบายอื่นๆ ที่จะมาช่วยลดภาระประชาชนได้ ก็ขอให้ทำ จะมานั่งทะเลาะกันทำไมล่ะครับ ผมไม่เห็นประโยชน์จริงๆ ครับที่จะมานั่งทะเลาะกัน”
***แต่งตัวเลขยังไงก็หนีความจริงไม่พ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงอย่างจริงจัง และยอมรับความจริงแทนการปฏิเสธปัญหา โดยเห็นว่าการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงของรัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากตัวเลขราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เองแม้ว่าจะมีการระบุตัวเลขที่ต่ำกว่าราคาในตลาด ก็ยังพบว่าในหมวดอาหารและพลังงานราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งในเรื่องราคาพลังงานไม่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม แต่เป็นเพราะนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล
ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ที่พบว่าอาจมีปัญหาการตกแต่งตัวเลขราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง จนทำให้เงินเฟ้อลดต่ำกว่าปกตินั้น ไม่ว่าจะแต่งตัวเลขอย่างไร ก็หนีความจริงไม่พ้น เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยตรง และประชาชนรู้สึกได้ ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าไม่มีของแพง ก็เสนอให้ยกเลิกทุกโครงการที่ออกมาช่วยลดค่าครองชีพ จะได้ไม่เปลืองงบประมาณ โดยเฉพาะร้านถูกใจ ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เปิดจริงแค่ 1 ร้าน ที่กระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ตั้งเป้าไว้ 10,000 แห่งทั่วประเทศ
***ยันขายจานด่วน25-30 บาทมีกำไร
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้กรมการค้าภายใน กำลังเร่งวิเคราะห์ จัดทำข้อมูลต้นทุน และราคาสินค้า เพื่อนำเสนอน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อนำไปชี้แจงสถานการณ์ค่าครองชีพในรายการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ พบประชาชน ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ โดยยืนยันว่า ต้นทุนราคาอาหารสำเร็จรูปไม่ได้เพิ่มขึ้น และหากขายจานละ 25-30 บาท ก็ยังมีกำไรอยู่ เช่น ข้าวกระเพราหมู มีต้นทุนข้าว 3.63 บาท เนื้อสัตว์ 8.33 บาท ผัก 0.76 บาท น้ำมันพืช 0.21 บาท เครื่องปรุงรส 0.77 บาท ขณะที่ต้นทุนค่าแรงงาน ค่าเช่าพื้นที่อีก 6.83 บาท ต้นทุนรวม 20.53 บาท หากขายจานละ 25 บาท ได้กำไร 4.47 บาท หรือข้าวราดแกงไก่ มีต้นทุนรวม 21.87 บาท ขายจานละ 25-30 บาท ได้กำไร 3.13-8.13 บาท ข้าวไข่เจียวต้นทุนรวม 13.07 บาท ขายจาน 20 บาท จะได้กำไร 6.93 บาท
ทั้งนี้ ได้เสนอมาตรการในการควบคุมราคาอาหารจานด่วนว่า หากพบร้านค้าใดขายเกินราคาแนะนำที่กำหนด จะเสนอให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบรายได้และเก็บภาษีย้อนหลัง
***ของจริงราคาขึ้นพรวดเป็น35-40บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสำเร็จรูปเริ่มขยับราคาขึ้นอีกจากละ 5 บาท โดยร้านอาหารทั่วไป และตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า ย่านรังสิต นนทบุรี ได้ปรับเพิ่มจากเดิมเมนูอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง เริ่มต้นจานละ 30-35 บาท เพิ่มเป็น 35-40 บาท โดยพ่อค้าแม่ค้าชี้แจงว่า นอกจากวัตถุดิบอาหารสดที่ปรับขึ้นแล้ว ยังต้องจ่ายค่าลูกจ้างวันละ 300 บาท ขณะที่ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันกำลังปรับเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ร้านอาหารย่านบางกะปิ อาหารตามสั่งเริ่มต้นที่เมนูละ 35 บาท แต่หากเป็นเมนูทะเลจะเพิ่มอีก 5 บาท ส่วนไข่ดาว ไข่เจียวคิดฟองละ 7-10 บาท
***ผักสด-เนื้อสัตว์แพงขึ้นยกแผง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ทำสำรวจราคาสินค้าอาหารสด ที่ตลาดท่าน้ำนนท์ พบว่า อาหารสดปรับขึ้นราคาเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะผักสดที่ปรับขึ้น 1 เท่าตัวจากช่วงปกติ หลังจากเกิดสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้งทำให้ผลผลิตออกมาน้อย โดยราคาผักคะน้าอยู่ที่ กก.70 บาท ปรับขึ้นจาก 50 บาท ในช่วงปลายเม.ย. ถั่วฝักยาว กก.70 บาท ปรับขึ้นจาก 50 บาท พริกขี้หนูจินดา กก. 60 บาท ขึ้นจาก 30-40 บาท แตกกวา 40 บาท ขึ้นจาก 25 บาท ผักชี 130 บาท ขึ้นจาก 70 บาท
ส่วนกลุ่มเนื้อสัตว์ หมูเนื้อแดงช่วงสะโพก กก. 130 บาท สันใน 140 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากช่วงปลายเม.ย. ถึงกก.ละ 10-20 บาท ส่วนเนื้อไก่ พบว่าไก่สดทั้งตัวไม่รวมเครื่องในอยู่ที่ 65 บาท ไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน 60 บาท ไก่ชิ้น 70 บาท โดยเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 5 บาท ส่วนไข่ไก่มีการทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ เบอร์ 3 อยู่ที่ 2.70 บาท เบอร์ 2 อยู่ที่ 2.90 บาท
ทั้งนี้ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ระบุว่า ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดขายลดลง 20-30% โดยสินค้าที่นำมาจำหน่าย เป็นการรับมาจากพ่อค้าส่ง (ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว) ทำให้มีการบวกต้นทุนค่าขนส่งเข้ามาด้วย อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรงงาน 300 บาท ไม่ได้ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน และทำให้ขายของดีขึ้น เพราะราคาสินค้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
***นายกฯห่วง 2 บัตรเครดิตเพิ่มหนี้
วันเดียวกันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เรียกประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร และบัตรเครดิตพลังงาน โดยมีนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้ข้อมูล โดยในส่วนของบัตรเครดิตเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานว่า การดำเนินการคืบหน้าไปมาก คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะสามารถเริ่มโครงการได้ โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนในฐานข้อมูลของ ธ.ก.ส.ไว้แล้ว
ขณะที่บัตรเครดิตพลังงาน กระทรวงพลังงานยอมรับว่า การดำเนินการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากต้องตรวจสอบฐานข้อมูลอย่างละเอียด เพราะก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลมาก่อน โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มเป้าหมายผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะจำนวนมาก เช่น แท็กซี่ สามล้อ และมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ไม่เคยมีประวัติการทำธุรกรรมมาก่อน โดยนายกฯ ต้องการให้จัดทำหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีรายได้สูงเข้ามามีสิทธิ์ในโครงการ รวมทั้งไม่ต้องการให้ผูกขาดมาใช้บริการเฉพาะที่สถานีน้ำมันของ ปตท.แห่งเดียว อยากให้สามารถใช้ได้ที่ปั๊มของทุกเครือที่รับบัตรเครดิต
นอกจากนี้ นายกฯ ได้ย้ำให้ผู้รับผิดชอบทั้ง 2 โครงการ ประสานงานกันในส่วนฐานข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการถือบัตรทับซ้อนกัน เพราะเกรงว่าหากผู้มีสิทธิ์ที่ถือบัตรทั้ง 2 ใบ จะมีช่องทางให้เกิดการนำวงเงินมาใช้ในลักษณะของการหมุนหนี้ และจะทำให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น จึงได้สั่งการให้มีการติดตามตรวจสอบเพื่อประเมินผลเป็นระยะๆ ว่า 2 โครงการนี้ช่วยแบ่งเบาภาระให้ประชาชนจริงหรือไม่