xs
xsm
sm
md
lg

ลั่นพ่อตาฮีโร่นักบริหารธุรกิจ เขยแม้วคุมSC จับตา!รัฐเอื้อประโยชน์เต็มสูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ “ ชินวัตร ” ได้จัดงานเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม “เดอะ เครสท์ ซานโตรา หัวหิน” ตามด้วยงาน “ SC Hula… Hula Big Thanks Party” แต่ไฮไลท์ของงานสิ่งเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนทุกแขนงเฝ้าติดตาม ก็อยู่ที่การเปิดตัวผู้บริหารคนใหม่ ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ (คู่ชีวิตน้องเอม-พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ที่เข้าสู่ประตูวิวาห์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ปี 54 ) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกส่งมาช่วยบริหารบริษัทเอสซี แอสเสท ในตำแหน่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
 

แม้ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะส่งลูกเขยเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจอสังหาฯของตน แต่ขณะนี้ ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ผู้ชายคนนี้(ณัฐพงศ์) จะมีความสามารถมากแค่ไหน กับบทบาทการบริหารธุรกิจที่ “ทักษิณ” เคยฝากให้บรรดาน้องๆ ดูแลมาแล้วตั้งแต่ นางบุษบา ดามาพงษ์ ต่อมาได้ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดูแล กระทั้งถูกมอบหมายให้ไปรับตำแหน่งที่ใหญ่กว่า นั้น คือ นายกรัฐมนตรี โดยนางบุษบา กลับเข้ามานั่งบริหารในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารอีกครั้ง

และเนื้อหาบทสัมภาษณ์ ที่ “ASTVผู้จัดการรายวัน” นำเสนอ จะสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและตัวตนที่แท้ของ “ณัฐพงษ์ คุณากรวงศ์”

แรงกดดันที่หลายคนต่างจับตามอง ถึงความสามารถในการบริหารธุรกิจ

ช่วงชีวิตทุกคนต้องมีความกดดัน การมีความกดดันที่พอดีเป็นเรื่องที่ดี ช่วยในการพัฒนาการที่ดี เป็นความกดดันที่ดี เป็นบวกไม่ใช่เป็นลบ เป็นความกดดันที่มีความสุข ถ้าผมเริ่มจากการไม่มีความรู้ด้านอสังหาฯ คงกดดันมาก แต่ผมไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ผมทำงานด้านอสังหาฯมาตลอด ทั้งจากบริษัทพัฒนา จากบริษัทที่ปรึกษา เปิดบริษัทตนเองทั้งสายที่ปรึกษาและสายพัฒนาอสังหาฯ

ผมเข้ามาในบริษัทนี้ที่ใหญ่ขึ้น ความกดดันมีบ้างแต่ไม่ได้มองเป็นอุปสรรค แต่มองเป็นสิ่งที่ช่วยเราพัฒนาได้มากขึ้น การพิสูจน์ตัวเอง คงไม่ใช่เวลาหนึ่งเดือน สองเดือน หนึ่งปี สองปี แต่มองเป็นภาพใหญ่ในการช่วยให้เอสซีฯ แข็งแรงขึ้นและเติบโตมากขึ้นในอีกหลายปีมากกว่า

รู้สึกอย่างไร ที่ได้ตำแหน่งระดับสูง โดยไม่ได้ไต่เต้าจากตำแหน่งเล็กๆ

การที่เราเป็นบริษัทในตลาด จะเลือกผู้บริหารเข้ามาต้องมีคณะกรรมการทุกอย่างมีกระบวนการพิจารณา ต้องบอกว่าวันนี้ ที่ผมเข้ามาเป็นรองประธานก็ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดและทำอย่างตั้งใจ พื้นฐานเดิมของผมคือ การพัฒนาอสังหาฯ แต่ตอนนี้ภาพองค์กรใหญ่ขึ้น การเข้ามาตรงนี้ มองว่าเป็นการช่วยให้องค์กรทำงานง่ายขึ้น ผมเน้นการทำงานเป็นทีม อสังหาฯเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ การขายบ้านหรือคอนโดมิเนียม ต้องอาศัยผู้ชำนาญการหลายด้าน หลายคนมาก ความชำนาญของคนมีแตกต่างกัน ความท้าทายคือการทำให้คนหลายคนทั้งหมด ทุกสายอาชีพทำงานรวมกันแล้วเกิดโปรดักส์ที่ดีได้ และการรวมกันไม่ใช่แค่ 1+1 =2 มันเป็นการซินเนอร์จี ทำให้ 1+1 =5 ,6 หรือมากกว่านั้น

ตำแหน่งที่ได้รับ ต้องดูอะไรบ้าง

เรื่องที่ 1 กำลังคน การที่บริษัทขยายตัว คนก็ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย ดูระบบโอปอเรชั่น คนเข้ามามากยังต้องแข็งแรง หลายบริษัทโตแล้วบริษัทยังไม่แข็งแรง เรื่องที่ 2 คือ แบรนด์ดิ้ง ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาเค้าทำไม่ดี แต่เค้าทำดีแล้ว พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ต่อจากนี้เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนรู้จักเรามากขึ้น คนพูดถึงเอสซีจะนึกออกว่าสินค้าเป็นอย่างไร เราคือใครทั้งแง่สินค้าและแบรนด์ คนซื้อต้องคุ้มค่า และทันสมัย คนซื้อบ้านเอสซี จะต้องได้ทั้งคุณภาพ และไม่เชย

และเรื่องที่ 3 ดูเรื่องโปรดักส์ ที่ผ่านมาเอสซีมีการ พัฒนาโปรดักส์มาโดยตลอด มีบ้านซีรีย์ใหม่ๆออกมาทุกปี ในปีนี้ก็มีซีรีย์ใหม่ เราจะพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและการใช้สอยของลูกค้าตลอด มีการสำรวจตลอดว่าลูกค้าซื้อบ้านไปพอใจหรือไม่ พอบริษัทโตมียอดขายเป็นหมื่นล้านแล้ว เรื่องเหล่านี้เราก็ไม่ได้ละเลย การปรับแบบดีไซน์เราทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เรามีพื้นฐานว่าเราผลิตบ้าน ต้องให้พนักงานหรือผู้บริหารซื้อได้แนะนำญาติมาซื้อได้ แม้แต่ลูกค้าที่ซื้อไปแล้วก็ต้องแนะนำให้เพื่อน ญาติมาแนะนำ เขาต้องกล้าแนะนำเพราะการที่เข้ากล้าแนะนำ เพราะเอาเครดิตตัวเองมาประกัน

ช่วยเล่าถึงประวัติที่เกี่ยวกับอสังหาฯ

: ผมเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ที่เดอพอล ยูนิเวอร์ซิตี้ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา พอกลับมาเมืองไทยก็ทำงานด้านอสังหาฯ เพราะอยากเป็นดีเวลลอปเปอร์ เคยทำงานกับบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายวิศิษฎ์ เลาหพูนรังสี ) และบริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ฯ เมื่อต้นปี 2010 ร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดธุรกิจของตัวเอง ชื่อว่า บริษัท ฟิชแมน จำกัด รับปรึกษาด้านการตลาด พัฒนาอสังหาฯ และวางแผนสื่อโฆษณา

ขณะเดียวกัน ผมก็เข้าหุ้นกับคุณพ่อเปิดบริษัท คูณ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ โดยเริ่มโปรเจกต์แรกเป็นโครงการสร้างบูติกโฮเต็ล ชื่อ เรมอน ทรี โฮเทล แถวประตูน้ำ ขอที่ดินจากทางบ้านมาทำ

ผมเรียนสถาปัตย์มา เป็นคนชอบสร้าง จะมีเซนต์ของคนชอบสร้าง การเป็นดีเวลลอปเปอร์ก็เป็นการสร้าง ส่วนตัวชอบดีไซน์ ชอบสถาปัตยกรรมพอทำงานมากขึ้น เจอดีเวลลอปเปอร์ ก็มีความชอบดีเวลลอปเปอร์มากกว่า ตอนเรียนปีสุดท้ายคิดไว้ว่าจะทำงานด้านอสังหาฯ

“ผมเคยอยู่ทั้งสองฟิว ทั้งพัฒนาอสังหาฯ และที่ปรึกษาอสังหาฯ วิธีการคิดและการทำงานต่างกัน ที่ปรึกษาต้องคิดทั้งหมด จุดได้จุดเสีย แต่การเป็นดีเวลลอปเปอร์ เอาข้อมูลทั้งหมดมาตัดสินใจให้ได้ เพราะมีข้อดีข้อเสียความท้าทายของอสังหาฯ นอกจากเรื่องโปรดักส์ชิ้นใหญ่ ต้องอาศัยคนหลายคนในการร่วมกันพัฒนา ความรู้หลายด้าน ยังมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ ทำอสังหาฯ อย่างน้อยปัจจัยภายในต้องควบคุมให้ได้ทั้งหมด ปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลกตก น้ำท่วม อสังหาฯทำภายในให้พร้อมที่สุด ส่วนปัจจัยภายนอกต้องประเมินและเตรียมความพร้อมรับมือให้ได้มากที่สุด อสังหาฯมีวงจรทั้งขึ้นและลง ทำอย่างไรให้ช่วงที่เป็นขาลงยังมีรายได้เข้ามา ต้องดูสินค้าไหนเหมาะกับช่วงที่เป็นขาลง ช่วงขึ้นทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ”

คุณทักษิณ ได้วางนโยบายในการบริหารเอสซีฯ อย่างไรบ้าง
คุณทักษิณ ไม่ได้มาลงในรายละเอียดว่าต้องให้บริษัทโตไปทางไหน เพราะเป็นบริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพ มีทีมบริหารอยู่แล้ว ท่านมองมุมเป็นพ่อตา ก็ปรึกษาในมุมมองชีวิตที่ท่านมีประสบการณ์มากกว่า

วางเป้าหมายในอนาคตของเอสซี ไว้อย่างไร

อย่างน้อย 5 ปีเราต้องไปถึงจุดที่วางไว้ คือ อย่างน้อยที่สุดการเป็นบริษัทผู้นำอสังหาฯที่สมบูรณ์แบบ วันนี้ยังไม่อยากพูดถึงอนาคต อย่างน้อยเอสซีฯ ที่ผ่านมาโตต่อเนื่อง เราวางเป้าหมายถึงหมื่นล้าน เราไม่เน้นโตอย่างเร็ว ไม่สำคัญเท่ากับการโตอย่างมั่นคง ไม่ได้สนใจว่าท็อปไฟว์หรือเปล่า ไม่ได้มองว่าไปอยู่ตรงนั้นแล้วสำเร็จ วันนี้เราทำตามแผนที่วางไว้และให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ถ้าเราจะทำตามเป้าหมายแต่ละปี ต้องทำได้ทั้งยอดขาย รายได้และกำไรด้วย และสินค้าต้องมีคุณภาพด้วย

เราต้องการจับลูกค้าหลากหลายมากขึ้น มีสินค้ามากขึ้น ไม่ว่ากลุ่มเซ็กเมนต์ไหนก็ตาม ลูกค้าต้องมองเราเป็นตัวเลือก 1 ใน 3 ที่จะต้องซื้อ ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของเราเป็นระดับกลางขึ้นไป เราโตมาจากเซ็กเมนต์กลางถึงบน วันหนึ่งบริษัทโตขึ้นเรื่อยๆ เซ็กเมนต์ต้องแตกลงมาทำตลาดล่างมากขึ้น โดยเราไม่มองแค่เรื่องราคาเพียงอย่างเดียว ถึงจะทำให้เติบโต แต่เรามองโลเคชั่นด้วย ซึ่งวันนี้เราจับตลาดต่างจังหวัดหัวเมืองมากขึ้น พฤติกรรมเปลี่ยนมากขึ้น ทุกอย่างต้องปรับไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ใครจะคิดว่าตลาดหัวหินเป็นที่ต้องการ ปัญหาน้ำท่วมจะเกิดขึ้น เอสซีมองตลาดหัวเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะคนกรุงเทพฯ เริ่มมองหาบ้านหลังที่สองในหัวเมืองมากขึ้น

ตลาดหัวหินคนไทยซื้อ 70% เป็นบ้านหลังที่ 2 ที่เหลือเป็นต่างชาติ เมื่อตลาดมีดีมานด์มากขึ้นเราก็ต้องวิ่งเข้าหาตลาดที่มีการเติบโต ชาวสิงคโปร์ กับจีน มีการซื้อเยอะมาก ถ้าหลุดจาก 2 กลุ่มนี้ไปก็เป็นยุโรป มีทั้งลงทุนและอยู่รีไทร์ เอสซีฯ โตมาจากบ้านหรู คอนโดฯพรีเมียมเราก็จะทำด้วย พอเราทำอะไรที่คุ้นเคยกับต่างชาติ การที่ออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศจะทำให้ต่างประเทศรู้จักเรามากขึ้น เป็นการขยายฐานลูกค้า เราก็จะใช้ดาต้าเบสให้เกิดประโยชน์ในอนาคต เป็นการปูทางไว้ ถ้าจะไปจับกลุ่มเซ็กเม้นต์นั้น

มีนักธุรกิจคนไหนที่เป็นแบบอย่างในการทำธุรกิจ

 ผมชอบนักธุรกิจหลายๆ คน อย่างสตีปจ๊อป ผมชอบเขาแม้เขาไม่ได้ทำอสังหา ฯ แต่แนวคิดเขากล้าที่จะใช้อินโนเวชั่น เขาไม่ได้คิดจะทำสินค้าอะไรเพียงอย่างเดียว แต่คิดว่าสินค้านั้นคนใช้ ใช้อย่างไร คนใช้ขาดอะไร ตอบสนองเพื่ออะไร อย่างคิดโทรศัพท์ สตีปจอปคิดว่าสินค้าอย่างไรที่คนใช้อยากใช้ และมีหลายคนที่เป็นโรลโมเดลคุณทักษิณก็เป็นแบบอย่างในด้านการทำธุรกิจของผมเหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น