xs
xsm
sm
md
lg

ทางเดินเท้า พื้นที่สาธารณะกับสำนึกประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
ptorsuwan@yahoo.com


ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ ในประชาคมอาเซียน ประเทศซึ่งมีทรัพยากรณ์ธรรมชาติจำกัด แต่มีพัฒนาการทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจไปแบบก้าวกระโดด อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ คล้าย ๆ กับประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัดทางกายภาพมากมาย แต่สามารถพลิกฟื้นสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

การใช้เวลาพักผ่อนท่องเที่ยวที่สิงคโปร์ นอกเหนือจากการใช้เวลากับครอบครัวตามสวนสนุกอย่างเซนโตซาและยูนิเวอร์แซลแล้ว ยังได้ถือโอกาสไปเดินดูความเปลี่ยนแปลงของเมือง การเกิดขึ้นของโครงการที่น่าสนใจหลายแห่งอย่างที่อ่าวมารีน่ามี Marina Bay Sand ArtScience Museum และชิงช้าสวรรค์ยักษ์ที่เรียกว่า Singapore Flyer ซึ่งสถานที่เหล่านี้ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่สะท้อนใจผู้เขียนมากกว่าสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตอลังการ หรือรูปแบบสถาปัตยกรรมอันแปลกตา กลับเป็นการจัดสภาพแวดล้อมภายในเมืองสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สาธารณะอย่างทางเดินเท้า ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อมานานในเรื่องของการรักษาความสะอาดด้วยกฎหมายที่เข้มงวด นอกเหนือจากเรื่องความสะอาดแล้ว รัฐเองยังจัดให้มีพื้นที่ทางเดินเท้าที่กว้างขวาง ไม่มีเสาไฟฟ้าเกะกะกีดขวางเพราะจัดสร้างลงใต้ดินหมด คุณภาพพื้นผิวทางเท้าที่ราบเรียบสม่ำเสมอ มีการจัดให้มีลักษณะของพื้นผิววัสดุที่แตกต่างเป็นเส้นนำทางแก่ผู้พิการทางสายตา มีการออกแบบทางลาดเอียงเชื่อมต่อกับผิวถนนซึ่งเอื้อต่อรถเข็นเด็กตลอดจนรถเข็นผู้พิการเวลาข้ามถนน บริเวณพื้นที่ทางเดินเท้าก็จะถูกออกแบบภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มีการปลูกและเก็บรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ไว้อย่างดี เพื่อให้ร่มเงาแก่ผู้สัญจร มีการปลูกไม้พุ่มไม้ดอกสร้างความสดชื่นสวยงามสำหรับชาวเมือง มีการจัดวางเก้าอี้ที่นั่งสำหรับคนทั่วไปได้ใช้นั่งพักผ่อน บรรดาอาคารซึ่งเป็นศูนย์การค้าริมทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของภาคเอกชนก็จะมีการออกแบบอาคารที่สัมพันธ์กับสภาพพื้นที่สาธารณะด้านนอก บ้างก็จัดพื้นที่ด้านหน้าอาคารเป็นพลาซ่า บ้างที่สร้างเต็มพื้นที่ดินตัวเองก็มักจะจัดหลังคากันสาดเพื่อกันแดดฝนเอื้อเฟื้อร่มเงาให้แก่ผู้เดินเท้า

เวลาเดินเล่นอยู่ในสิงคโปร์ หรืออาจจะคล้ายกับในเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเมืองเก่าแก่หลายร้อยปีไปจนถึงมหานครใหม่อันทันสมัย ไม่รู้ว่าทำไมไปเยือนที่ไหนก็มักจะรู้สึกว่าเมืองมันเป็นมิตรกับคนเดินเท้ามากกว่าในกรุงเทพฯ อย่างน้อยภาครัฐของเขาก็มีการจัดพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเดินเท้า มีคุณภาพของบาทวิถีทั้งในด้านกายภาพ และการจัดพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมของชุมชนเมือง ตลอดจนการเอาจริงเอาจังของภาครัฐในการจัดระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะ

ในขณะที่กรุงเทพฯเป็นเมืองซึ่งมีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง แต่ตลอดระยะเวลาในการเติบโตของเมืองกลับถูกปัญหาต่าง ๆ กดทับเสียจนดูเหมือนว่า เมืองหลวงแห่งนี้ยากที่จะสามารถเยียวยาได้ ปัญหาด้านกายภาพเริ่มตั้งแต่ทางเดินเท้า ซึ่งมีมาตรฐานต่ำ ถนนเส้นหลักในกรุงเทพฯส่วนใหญ่จะมีทางเท้าที่คับแคบ หลายแห่งโดนเอกชนและประชาชนรุกล้ำพื้นที่ทั้งในแบบชั่วคราวและถาวร ทางเท้าที่มีส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ นอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อและคนเดินเท้าแล้ว ยังเป็นอันตรายอยู่บ่อยครั้ง ทางเท้าที่นอกจากจะคับแคบและเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางอย่างเสาไฟฟ้าแล้ว ยังมีแผงลอยและวินมอเตอร์ไซค์มาร่วมเบียดบังพื้นที่ ทำให้การเดินสัญจรแบบปรกติของผู้คนเป็นไปได้ยากลำบาก และไม่ปลอดภัย

ปัญหาเหล่านี้ ถ้าเรามองเพียงผิวเผินก็อาจจะถือว่าเป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเมือง แต่ถ้าเราจะมองอย่างพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว มันก็อาจจะสะท้อนโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยวมีปัญหา ซึ่งเกิดจากหลายภาคส่วนดังตัวอย่างเช่น

1)ความรับผิดชอบของภาครัฐต่อการจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน แต่รัฐไทย (อย่างน้อยก็ฝ่ายบริหารเมือง)นอกจากจะไม่ส่งเสริมการจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาคมเมืองแล้ว กลับนิยมการทำลายพื้นที่สาธารณะ(ที่เคยมี) หรือไม่ก็ร่วมกันยักยอกพื้นที่สาธารณะเอาไปหาประโยชน์ใส่ตัวโดยมิชอบ เริ่มตั้งแต่การล้อมรั่วปิดกั้นพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่สนามหลวง โดยอ้างเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้ง ๆ ที่มีกระบวนวิธีมากมายในการรักษาความปลอดภัยและการควบคุมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่สาธารณะเหล่านั้น พื้นที่สาธารณะในลักษณะที่เป็นพลาซ่าหรือลานเปิดโล่ง (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ที่ลานคนเมืองซึ่งไร้คนที่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพฯ) นับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาคมเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งต้องการพื้นที่สำหรับการปฏิสัมพันธ์ของคนเมือง และย่อมไม่ใช่แค่เพียงเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับค้าขายหรือพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์เท่านั้น ในขณะที่ภาครัฐชอบอ้างเรื่องความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่กลับปล่อยปะละเลย(หรืออาจรวมถึงการส่งเสริม)ให้มีหาบเร่แผงลอยขายสินค้า ไปจนถึงการจัดตั้งของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างรุกล้ำพื้นที่ทางเท้าอยู่ทั่วไปทั้งเมืองกรุงเทพฯ โดยอ้างว่าเป็นปัญหาซึ่งแก้ไขไม่ได้ เพราะประชาชนต้องการที่ทำมาหากิน แน่นอนว่าภาครัฐหรือฝ่ายบริหารเมืองย่อมจะไม่สามารถแก้ปัญหาโดยการล้อมรั้วปิดกั้นทางเท้าทั้งหมดได้ จึงเพียรอ้างแต่ว่าเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก(พ่อค้าแม่ค้าและวินวอเตอร์ไซค์)ซึ่งล้วนเป็นคนด้อยโอกาสทางสังคม แต่กลับปรากฎเจ้าหน้าที่เรียกเก็บผลประโยชน์จากผู้ประกอบการเหล่านั้น มีการจัดตั้งระบบการเก็บและส่งส่วยกันอย่างเข้มแข็งกว่าระบบการเก็บภาษีของทางราชการเสียอีก ภาครัฐโดยฝ่ายการเมืองก็ดูเหมือนว่าจะพึงพอใจกับระบบการจัดเก็บผลประโยชน์นอกระบบแบบนี้ จึงมีการแปลงสินทรัพย์สาธารณะให้กลายเป็นแหล่งหาประโยชน์ของกลุ่มผู้ค้าและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง โดยมักอ้างเรื่องเสรีภาพในการทำกิน อ้างประชาธิปไตยในแง่ที่ไม่เข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิผู้อื่น ในขณะที่ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฟากฝ่ายการเมืองก็ดูจะพึงพอใจที่ทำให้เรื่องแบบนี้มีความคลุมเครือ เพิกเฉยต่อการจัดพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบ ทำร้ายทำลายพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ ผลักดันประชาชนให้ไม่มีทางเลือก ซึ่งล้วนตอบสนองประโยชน์นอกระบบแด่ผู้ถืออำนาจรัฐเท่านั้น

2)ในส่วนของผู้ประกอบการและผู้ค้าที่เข้ายึดครองพื้นที่สาธารณะสำหรับการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยมีทั้งหาบเร่ แผงลอย จนมีวิวัฒนาการมาเป็นบูธขายสินค้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว(หมายความว่ามีการกั้นผนังกับหลังคาแบบชั่วคราวและมีเครื่องปั่นไฟ!!) ตลอดจนการจัดตั้งวินมอเตอร์ไซค์ ที่ทั้งจอดรถและวิ่งรถบนทางเดินเท้า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทยหรือในกรุงเทพฯ แต่ในที่อื่นๆ บนโลกเขามีวิธีการจัดการปัญหาแบบนี้ที่แตกต่างกันออกไป ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าประเด็นเหล่านี้เริ่มมาจากภาพของความด้อยโอกาสทางสังคม การแสวงหาหนทางอยู่รอดของคนที่ไม่มีต้นทุน ปราศจากเครื่องมือในการทำมาเลี้ยงชีพ การใช้หาบเร่หรือรถเข็นขายของอาจจะเป็นทางเลือกแรก ๆ ที่ง่ายที่สุดสำหรับการดำรงชีพ ในความเป็นจริงแล้วอาชีพของคนด้อยโอกาสก็ยังดำรงอยู่ เพียงแต่ว่าเรามิควรเหมาเอาว่าผู้ค้าผู้ประกอบการบนทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะเป็นผู้ยากจนด้อยโอกาสเสียทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้วผู้ยากจนและด้อยโอกาสก็มักจะไม่ค่อยได้รับโอกาสในการใช้พื้นที่สาธารณะและทางเท้าในการทำมาหากินมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทำเลดี ๆ อย่างเช่นในย่านสีลม เยาวราช สุขุมวิท หรือที่เคยเกิดเป็นกรณีพิพาทอย่างที่สยามสแควร์ และโบ๊เบ๊ นั่นก็เพราะว่าพื้นที่ทางเท้าในย่านเหล่านั้นมีมูลค่าสูง ย่อมจะมีเจ้าที่เจ้าทางคุม สาเหตุก็มาจากเอกสิทธิ์ของการอาศัยพื้นที่สาธารณะสำหรับทำมาหากิน โดยการปลอดทั้งการจ่ายค่าเช่าและจ่ายภาษี เพราะไม่มีการลงทะเบียนการประกอบการ เปิดช่องว่างสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในส่วนของการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและฝ่ายการจัดเก็บภาษี สำหรับการใช้วิจารณญาน “เลือก” ที่จะดำเนินการหรือมองข้ามสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ก็ได้ แต่การบริหารจัดการเรื่องราวแบบนี้ให้ได้รับผลประโยชน์ลงตัวสำหรับทุก ๆ ฝ่ายย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ค้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จึงเป็นที่มาของกลุ่มเจ้าที่เจ้าทางหรือผู้มีอิทธิพล ซึ่งเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ(ต้นทุนต่ำ) โดยการประสานประโยชน์ระหว่างผู้ค้าซึ่งต้องชำระค่าเช่าหรือค่าคุ้มครองในอัตราที่แน่นอนว่าจะถูกกว่าอัตราที่ต้องจ่ายสำหรับพื้นที่ในอาคารหรือพื้นที่จัดให้เช่าอย่างเป็นทางการ ในขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐก็น่าจะยินดีกับรายได้พิเศษสำหรับการที่ไม่ต้องออกไปทำหน้าที่ไล่จับกุม กลุ่มเจ้าที่เจ้าทางหรือผู้มีอิทธิพลได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องการยึดครองทางเท้าและพื้นที่สาธารณะมากกว่าผู้ค้าผู้ประกอบการรายย่อยเสียอีก เพราะปัจจุบันการค้าริมทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านที่เป็นทำเลทองนั้นมีเจ้าของแผงตัวจริงเพียงไม่กี่คน ส่วนบรรดาผู้ขายส่วนใหญ่จะเป็นเพียงลูกจ้างขายของหน้าแผงเท่านั้น

3)ในส่วนของภาคประชาชนผู้ใช้ทางเท้า พื้นที่สาธารณะ และกลายเป็นผู้บริโภคในขณะเดียวกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่มีความหลากหลายทางความคิดและทัศนคติ ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดสำนึกในเรื่องของสาธารณะ คนส่วนใหญ่ยอมรับได้กับการถูกละเมิดสิทธิ(ของตัวเอง)ในการใช้พื้นที่สาธารณะ ยอมรับได้ว่าจะให้มีคนหรือกลุ่มบุคคลเข้ายึดครองพื้นที่สาธารณะ แม้กระทั่งจะมีแผงลอย บูธร้านค้า หรือวินมอเตอร์ไซค์มาตั้งกีดขวางการสัญจรตามปรกติ ยอมอดทนรับได้กับภัยอันตรายจากการถูกผลักดันให้ต้องออกไปเดินบนพื้นผิวถนนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกรถยนต์จะเฉี่ยวชน เสี่ยงภัยแม้กระทั่งการเดินอยู่บนทางเดินเท้าเมื่อมีรถมอเตอร์ไซค์ที่สามารถขึ้นมาวิ่งไปมาอยู่บนทางเดินเท้าได้ ยังมีคนจำนวนมากที่พึงพอใจกับสินค้าราคาถูกซึ่งสามารถซื้อหาได้จากร้านค้าบนทางเท้า โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่าที่ผู้ค้าสามารถเสนอขายราคาถูกกว่าได้ก็เพราะปลอดค่าเช่าและปลอดภาษีในระบบ การเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเคยชินที่จะต้องอดทนต่อการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มบุคคลที่ชอบอ้างความยากจนบังหน้าเป็นใบอนุญาตฝ่าฝืนกฎหมาย การสมยอมต่อสิ่งเหล่านี้สั่งสมกลายเป็นโครงสร้างทางสังคมอันบิดเบี้ยว กล่าวคือมันค่อย ๆ ปลูกฝังให้แต่ละคนใส่ใจแต่เพียงเรื่องของตัวเอง ผลประโยชน์ของตน หรือผลกระทบแต่ตนเองโดยเฉพาะเท่านั้น ทำลายจิตสำนึกสาธารณะ ไม่สอดคล้องต่ออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจก็คือการที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพ

เรื่องแบบนี้อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อย่างในกรุงเทพฯซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นและแพร่กระจาย เนื่องจากการเพิกเฉยของภาคสังคม ในขณะที่เราพยายามรณรงค์เรื่องความเสมอภาค เท่าเทียม และอุดมการณ์ของเสรีประชาธิปไตย แต่วิถีปฏิบัติกลับแสดงออกเพียงแค่เปลือกผิว กล่าวคือการตีความหมายของเสรีประชาธิปไตยแค่เรื่องปริมาณ เพราะประชาธิปไตยย่อมไม่ใช่เรื่องของคนมารวมกันเฉพาะกิจเยอะ ๆ แล้วจะทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งการละเมิดสิทธิของผู้อื่นตลอดจนการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง แปลกที่เรื่องแบบนี้ไม่มีนักวิชาการคนใดหรือกลุ่มใดให้ความใส่ใจจะมารณรงค์กันบ้าง เพราะประเทศไทยก็ไม่ใช่ของเรามานานแล้ว และรัฐประหารก็เกิดขึ้นอยู่ทุกแห่งทุกวันเพียงแต่ไม่ได้ก่อการโดยคณะทหารแค่นั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น