xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คนเครือชินวัตร” คัมแบ๊ก คุม “สบร.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) โดยมีรายนามต่อไปนี้

“นายทรงศักดิ์ เปรมสุข” เป็นประธานกรรมการสบร. กรรมการประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ประกอบด้วย นางสิริกร มณีรินทร์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายไชยยง รัตนอังกูร นายสมชัย ส่งวัฒนา และนายอนุพร อรุณรัตน์

โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ดูคร่าว ๆก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าย้อนกลับไปดูเรื่องนี้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จะเห็นประวัติศาสตร์ต่อองค์กรนี้ว่า องค์กรขนาดใหญ่ทำอะไรให้กับประเทศแล้วบ้าง
 

คณะกรรมการ สบร. ชุดแรก ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

มีนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี สมัยนั้นกำกับดูแล

ประธานคนแรกคือคนที่ร่วมก่อตั้งสบร. “นายพันศักดิ์ วิญรัตน์” ที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ผลักดันองค์กรดังกล่าว
 

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น นางสิริกร มณีรินทร์ นายไชยยง รัตนอังกูร ฯลฯ ส่วนใหญ่จะถูกโจมตีว่า มีเงินเดือนค่าตอบแทนที่สูงเกินความจำเป็น ต่อมาเมื่อถูกรัฐประหาร 2549

โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาล คมช. ก็ถูกกล่าวหาว่า มีความพยายามจะยุบองค์กรนี้ทิ้ง

แต่แท้ที่จริง เป็นความพยามยามที่จะ เสนอปรับลดงบประมาณปี 2550 ของ สบร. ที่สูงเกิดความเป็นจริง

งบประมาณ สูงกว่า “1,500 ล้านบาท”

เสนอให้มีการ ปรับโครงสร้าง-ลดจำนวนองค์กรจากทั้งหมด 8 แท่งให้เหลือ4-5 แท่ง และให้บอร์ด สบร. ปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร

ขณะที่ “รถประจำตำแหน่ง” อย่าง “เลกซัส” ที่มีค่าเช่าเดือนละ 1 แสนบาท ก็เสนอให้ลดลง

ตอนนั้น คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสบร.

มีมติให้ปลด “นายไชยยง รัตนอังกูร” ออกจากผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC (Thailand Creative & Design Center) และยุบเลิกคณะกรรมการ ให้เหลือเพียงคณะกรรมการของสถาบันพิพิธภัณฑ์ การเรียนรู้แห่งชาติชุดเดียว

ตอนนั้นก็ให้อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่จะหมดวาระในสิ้น เดือน ต.ค. 2550 กลับมาเป็นผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ควบรวมใหม่

ช่วงนั้นมีการเปลี่ยนบอร์ดชุดก่อตั้งทีซีดีซี ซึ่งมีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธาน ตามด้วยการปลดนางสิริกร มณีรินทร์ และคณะกรรมการของอุทยานการเรียนรู้ (TK park) และหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้ สบร. รวมทั้งได้สั่งยุบรวมศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติและสถาบัน พัฒนาการเรียนรู้แห่งชาติ ก่อนที่จะมาสั่งยุบทีซีดีซีเป็นองค์กรสุดท้าย

หน่วยงานภายใต้ สบร.ตอนนั้นก็ย้ายจาก “ที่อยู่ 999/9 อาคารสำนักงานเซ็นทรัล เวิลด์ ชั้น 17 ไปอยู่ “อาคารจามจุรี-สแควร์”

มีการตั้ง บอร์ดใหม่ ให้ “ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์” เป็นประธาน สบร. มีกรรมการ เช่น นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา นายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ฯลฯ

แต่ต่อมาปี 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

บอร์ดก็ต้องทยอยลาออก โดยให้เหตุผลว่าต้องไปรับหน้าที่ใหม่บ้าง และติดภารกิจประจำที่ทำอยู่ บ้างทำให้ไม่มีเวลามาร่วมประชุมพิจารณางานของ สบร.
รัฐบาลสมัคร ที่นายกรัฐมนตรีกำกับ สบร.เอง

แต่งตั้ง ณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธาน สบร.และแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล นายทรงศักดิ์ เปรมสุข และนายต่อ สันติศิริ

ตอนนั้นมีมติ ครม.ว่า ประธาน สบร.คณะกรรมการ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะยังได้รับค่าตอบแทนเงินเดือนเท่าเดิมในอัตราเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ บอร์ดและผู้อำนวยการ สบร.และองค์กรมหาชน มีเงินเดือนหลักแสนบาทขึ้นไปทุกคน

กลับมาที่บอร์ดชุดปัจจุบันรัฐบาล “เพื่อไทย” เอาคนหน้าเดิม ๆ ที่เคยบริหารในองค์กรนี้กลับมาอีกครั้ง อย่าง นางสิริกร มณีรินทร์ นายไชยยง รัตนอังกูร มาเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดูงานเดิม ๆ

และเป็นที่น่าสังเกตว่า “ประธานกรรมการ สบร.” เป็นชื่อ “นายทรงศักดิ์ เปรมสุข” ซึ่งช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนมีตำแหน่งเพียง “คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ”

รู้กันว่า “ทรงศักดิ์” ถือกุนซือคู่ใจ ของ“ยิ่งลักษณ์”

สมัยที่ "ยิ่งลักษณ์" ลุยงาน "มูลนิธิไทยคม" จุดกระแสบอลเอฟเอคัพ ก็มี "ทรงศักดิ์ เปรมสุข" เป็นกุนซือ

เมื่อครั้งที่ "ทักษิณ" ก้าวสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรกปี 38 แคมเปญแมเนเจอร์ก็คือ "ทรงศักดิ์ เปรมสุข" และเพื่อนพ้อง "คนรุ่น 6 ตุลา"

ปัจจุบันก่อนมานั่งประธานสบร. "ทรงศักดิ์ เปรมสุข" บริหาร "วอยซ์ทีวี" ให้ตระกูลชินวัตร

เชื่อว่า ทรงศักดิ์คือกุนซือนอกพรรคของยิ่งลักษณ์

นอกจากนั้น เขาถือเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารระดับสูงของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยดำรงตำแหน่งต่อจาก นายสรรชัย เตียวประเสริฐกุล

ทั้งนี้ นายทรงศักดิ์ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท แมทซ์บอกซ์ จำกัด ซึ่งก่อนที่บริษัทนี้จะทำงานให้กับบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) และถูกซื้อกิจการมาเป็น In-house agency ประจำบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นายทรงศักดิ์ เปรมสุข ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในมือการตลาดที่สำคัญของกลุ่มชิน ก่อนหน้าที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไอทีวี นายทรงศักดิ์ เคยเป็น รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ผลงานที่สำคัญของเขา คือ การปลดล็อกอีมี่ของเครือข่ายเอไอเอส

ปัจจุบัน สบร. มี “พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน” เป็นผู้อำนวยการ ถูกหั่นงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2552 53 54 และ 55 ลงมาตลอด

อย่างงบประมาณ ปี 2555 ได้รับการจัดสรร 361.2902 ล้านบาท

ปัจจุบัน มี องค์กร อยู่ 3 แท่ง ประกอบด้วย

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ สอร. (Thai Knowledge Park : TK Park) สำหรับเด็กในวัยเรียนที่พ่อแม่ต้องการปลูกฝังให้รักการอ่านและการเรียนรู้ แต่ไม่ต้องการการศึกษาแบบคร่ำเคร่ง และยังคงความสนุกสนานตามวัยเด็ก ส่วนเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และเป็นอนาคตสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ต้องได้รับการบ่มเพาะความรู้ในรูปแบบที่ไม่ธรรมดา นอกเหนือจากระบบการศึกษาปกติ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ไล่ตามความคิดและความต้องการของผู้บริโภคของโลกได้ทัน

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ศสบ. (Thailand Creative & Design Center : TCDC) นำความรู้ด้านดีไซน์จากทั่วโลกมาให้คนไทยได้เรียนรู้ถึงวิธีการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทุกด้าน ตั้งแต่กระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อก้องโลกของนักออกแบบชื่อดัง ในรูปแบบที่ไม่ยัดเยียดความรู้แต่กระตุ้นให้คนไทยเกิดความคิดใหม่ที่จะทำให้สินค้าและบริการของคนไทยโดดเด่นอย่างมีเอกลักษณ์

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. (National Discovery Museum Institute : NDMI) เป็นพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม และมีเวทีให้เด็กแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้เรายังสามารถเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย โดยใช้การนำเสนอในรูปแบบใหม่
 

หน่วยงานทั้ง 3 แห่งนี้จะทำหน้าที่เฉพาะด้านแตกต่างกันไป แต่เมื่อมารวมกันอยู่ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ จะทำให้ประเทศไทยมีศูนย์รวมความรู้ทางวิชาการและชีวิตที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปประกอบอาชีพ และเพิ่มคุณค่าชีวิตของตนเองและสังคมได้

เพราะปี 2550 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และมีมติให้ ยุบศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ไปควบรวมกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) จากหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ สบร.ที่มี 7 หน่วยงาน

ขณะที่การปรับปรุงโครงสร้างภายในเหลือ 5 หน่วยงานภายในนั้น ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการยกฐานะศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีชื่อว่า "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)" และยกฐานะศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม มีชื่อว่า "ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
 
ปี 2555 รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ประกาศตั้ง “คนเครือชินวัตร” กลับมาบริหารอีกครั้ง น่าจับตา
กำลังโหลดความคิดเห็น