ด้วยบุคลิกและวิถีชีวิตของคุณบี “ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หากใครไม่รู้จักคงจะคาดไม่ถึงว่า นี่คือทายาทคนสุดท้องในจำนวน 5 คนของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์
จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าการใช้ชีวิตของคุณบีนั้นเรียบง่าย ไม่หวือหวาเหมือนลูกเศรษฐีทั่วไป เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเกิดมาในตระกูลร่ำรวย จึงไม่ได้ใช้ชีวิตแบบลูกเศรษฐี อีกทั้งยังถูกสอนมาตั้งแต่เยาว์วัยว่า ให้ใช้เงินอย่างเหมาะสม เพราะคุณพ่อต้องทำงานอย่างหนักกว่าจะหาเงินมาเลี้ยงลูกทั้ง 5 คน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงได้รับการศึกษาในระดับสูง ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านดูแลสามีและลูกๆ
• เผยกุศโลบายเด็ดของแม่
สอดแทรกนิสัยประหยัด
ทิพาภรณ์เล่าว่า ชีวิตในวัยเด็กถูกเลี้ยงมาเหมือนคนอื่น แต่จะได้ค่าขนมน้อยกว่าเพื่อนๆ เพื่อให้ลูกๆ รู้จักการใช้เงินที่คุ้มค่า นอกจากนี้ คุณแม่ยังสอดแทรกนิสัยประหยัดอดออมแก่ลูกๆ ด้วยการให้แข่งกันหยอดกระปุกทุกวัน และเมื่อถึงสิ้นเดือน ใครเก็บเงินได้มากกว่า คุณแม่จะให้รางวัล และให้นำเหรียญ มาแลกเป็นธนบัตรในจำนวนที่มากกว่าเหรียญ
“การทำเช่นนี้ทำให้ลูกๆ รู้สึกสนุกสนานกับการแข่งขัน ไม่ซีเรียสกับการใช้เงินน้อยกว่าเพื่อน แถมยังมีเงินรางวัลเพิ่มให้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าการสอนของคุณแม่ในวันนั้น ทำให้ทุกวันนี้ลูกทุกคนรู้จักคุณค่าของการใช้เงิน” ทิพาภรณ์กล่าว
ด้วยความเป็นลูกสาวคนสุดท้อง และช่วงที่ทิพาภรณ์เกิดเป็นช่วงเวลาที่เจ้าสัวธนินท์ เริ่มมีเวลาให้กับครอบครัว เพราะธุรกิจเริ่มเข้าที่ในวัย 30 ปีเศษ ทำให้ทิพาภรณ์สนิทกับคุณพ่อมาก และได้ซึมซับแนวคิดคุณพ่อมาเกือบทั้งหมด ทั้งในแง่การใช้ชีวิตและการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด “ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”
หลักการที่นำมาใช้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน คือ การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น การคบคนทุกประเภท โดยเลือกที่จะมอง หรือเลือกคบในข้อดีของคนอื่น ในขณะที่ต้องรู้ด้วยว่า คนคนนั้นมีข้อเสียอย่างไร เพราะทุกคนไม่มีใครดีทั้งหมด 100%
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อของเธอสอนให้ตระหนักถึงเสมอ คือการให้หาจุดแข็งของคนอื่นมาเปรียบเทียบกับตนเอง ถ้าเราทำสู้เขาไม่ได้ ก็ให้ยอมรับว่ามีคนเก่งหรือดีกว่าเรา อาทิ ถ้าแม่บ้านชงกาแฟได้อร่อยกว่า เราก็ต้องยอมรับ และถือว่าเขาเก่งกว่าเราในด้านนั้น
การดำเนินชีวิตของลูกสาวเศรษฐีคนนี้ มีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน แต่เธอก็จะเลือกที่จะอยู่กับความสุข
โดยทิพาภรณ์ยอมรับว่า ทุกวันนี้ก็มีความทุกข์ เจอกับปัญหาบ่อยๆโดยเฉพาะ ปัญหาเรื่องการทำงาน แต่ก็จะนึกเสมอว่า การเจอกับปัญหาก็เหมือนกับการทานข้าว ซึ่งต้องทานข้าวทุกวัน วันละ 3 มื้อ เสมือนกับว่า เราต้องเจอกับปัญหาทุกวัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะแก้ปัญหา หรือจะจมกับปัญหานั้น
ถ้าเลือกที่จะจมอยู่กับปัญหา นั่นก็หมายถึง เลือกที่จะอยู่กับความทุกข์ แต่ถ้าเลือกดับทุกข์ก็ต้องเร่งแก้ปัญหา
หากมองย้อนไปในช่วงที่ทำธุรกิจ 2 ปีแรก ตรงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นเธอยอมรับว่าทุกข์ใจมาก เพราะกลัวธุรกิจจะล้มละลาย พนักงานจะอยู่อย่างไร ลูกค้าจะอยู่อย่างไร จะหาเงินจากไหนมาจ่ายเงินเดือน และหากว่าต้องไปขอเงินคุณพ่อ ก็กลัวคุณพ่อจะเสียใจว่า ลูกทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ แต่สุดท้าย ก็ตัดทุกข์ ไม่เก็บปัญหามาให้กังวลใจ โดยใช้วิธีแก้ปัญหาทีละเรื่อง สุดท้าย.. ทุกอย่างก็คลี่คลาย จนวันนี้บริษัทแข็งแรง สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่อง
• ตั้งมูลนิธิพุทธรักษา
ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส
ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ซึ่งได้รับการหล่อหลอมเรื่องความคิดในการดำเนินธุรกิจที่มิได้มุ่งหวังที่จะดำเนินธุรกิจ เพื่อประสบความสำเร็จที่เป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงความสำคัญที่ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องสร้างคุณค่าเพื่อส่งเสริมสังคม
ดังนั้น งานช่วยเหลือสังคม ทิพาภรณ์จึงได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดตั้งมูลนิธิพุทธรักษา โดยความหมายของชื่อคือการปกป้องและคุ้มครองโดยพระพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสทางด้านการศึกษา และพัฒนาทางด้านความคิดและจิตใจผ่านทางพุทธศาสนาควบคู่กัน เพื่อในอนาคตเด็กๆ จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง และนำความรู้ความสามารถสร้างอนาคตที่เข้มแข็งให้กับประเทศชาติ
ที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสหลายแห่ง เช่น โรงเรียนวัดสระแก้ว โรงเรียนธรรมจารินีวิทยา โรงเรียนวัดท่ากุ่ม ฯลฯ
• นวัตกรรมบ้านเพื่อสังคม
สานสัมพันธ์คนสองวัย
นอกจากนี้ บริษัท แมกโนเลียฯ ยังได้คิดค้น “นวัตกรรมเพื่อสังคม” หรือโครงการบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุและเด็กกำพร้า ซึ่งมาจากแนวคิดของกลุ่มบริษัท ว่าจะทำโครงการที่สามารถช่วยเหลือเด็กยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกันตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจส่งแผนธุรกิจเข้าประกวด ทั้งประเภทนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบุคคลทั่วไป ภายใต้ชื่อโครงการ Innovation World’s CARE Award หรือ iCARE Award
คอนเซ็ปต์โครงการดังกล่าว จะสร้างนวัตกรรมความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและเด็กที่ถูกทอดทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ซึ่งตั้งเป้าว่าจะช่วยเหลือผู้สูงอายุและเด็กกำพร้าปีละ 50 คน
การประกวดแผนธุรกิจครั้งนี้ มีแนวคิดจากการบริหารจัดการโครงการให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และพึ่งตัวเองได้ในระยะยาว พร้อมทั้งมีรูปแบบและกิจกรรมต่างๆ สำหรับคน 2 วัย รวมไปถึงแนวคิดการออกแบบอาคาร ให้โครงการสามารถเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ และหากแผนธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลต้นแบบของไทยและทั่วโลกในอนาคต
โครงการต้นแบบนี้ บริษัท แมกโนเลียฯ สนับสนุนที่ดิน ค่าก่อสร้าง และทุนดำเนินการ ซึ่งในอนาคตหากศูนย์มีความแข็งแรง ก็จะขยายกระจายความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัท แมกโนเลียฯ ยังร่วมกับองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE ร่วมกับมูลนิธิอโชก้า ประเทศไทย สถาบัน Change Fusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center - TCDC) และนิตยสาร BE Magazine จัดทำโครงการ “iCARE Award 2010 (Innovation World’s CARE Award) : ฉลาดแกมดี! Creative Social Business Contest” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการทางสังคม ทั้งด้านการออกแบบ สร้างแบรนด์ วิจัยและพัฒนา แผนการตลาด และการประชาสัมพันธ์
โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และประชาชนนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนงานเพื่อสังคมให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งนอกจากผู้เข้าประกวดจะได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านกระบวนการคิด อบรมเสวนา และได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายวงการ
ผู้เข้าประกวดที่ผ่านการคัดเลือกยังจะมีโอกาสนำแผนงานของตนไปปฏิบัติจริงกับผู้ประกอบการเพื่อสังคม และได้รับเงินสนับสนุนรวมทั้งสิ้นกว่า 900,000 บาท เพื่อเป็นการกระตุ้นแรงบันดาลใจในการคิดสร้างสรรค์ทำความดีต่างๆ ในเมืองไทยต่อไป
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านนวัตกรรมทางความคิดแผนธุรกิจ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะพัฒนาสิ่งดีๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจส่งไอเดีย เปลี่ยน “กิจกรรมเพื่อสังคม” เป็น “กิจการเพื่อสังคม”
• เผยเบื้องหลังพบความสุข
คิดบวกมองโลกสวยงาม
อีกด้านหนึ่งของชีวิต ทิพาภรณ์ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยครอบครัวที่ดี อบอุ่น ร่ำรวย แต่ใครจะคิดว่าเธอเลือกอยู่อย่างสงบหลังเลิกงาน โดยเลือกการอ่านหนังสือ ฟังเทปของเกจิชื่อดัง อาทิ หลวงปู่ชา หลวงปู่โต หลวงปู่ทวด รวมถึงอ่านหนังสือธรรมะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมให้ทายาทเศรษฐีคนนี้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมากยิ่งขึ้น คิดบวกและมองโลกสวยงาม
เธอเริ่มศึกษาธรรมะตั้งแต่อายุ 23 ปีและศึกษาอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่อาจจะมีเวลาน้อยลง เพราะต้องใช้เวลากับการทำธุรกิจ
“เมื่อเวลามีปัญหา หรือทุกข์มากๆ ก็จะหันไปวาดรูป เพื่อความสบายใจ บางครั้งไปอยู่ต่างจังหวัดนาน 2-3 เดือน เพื่อไปชาร์จแบต และเมื่อคลายทุกข์ได้แล้วก็จะกลับมาทำงานเช่นเดิม”
ทิพาภรณ์บอกว่า ทุกวันนี้หากจะต้องตายไป จะเสียดายเพียงเรื่องเดียว คือยังไม่มีโอกาสฝึกสมาธิอย่างจริงจัง ส่วนอื่นที่คิดว่าจะทำ ได้ทำไปหมดแล้ว ทั้งบอกรักคุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัว โดยฝากแง่คิดไว้ว่า ชีวิตคนเราควรสร้างกรรมดีให้มากที่สุด และลดการทำชั่ว ซึ่งสุดท้ายแล้วจะพบกับความสุขอย่างแท้จริง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย อัญชลี)