ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-มติคณะกรรมการสลากฯ หรือบอร์ดสลาก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 เรื่องการเลิกจ้าง “สมชาติ วงศ์วัฒนศานต์” จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สำนักงานสลากฯ) โดยให้มีผลภายใน 30 วัน นับจากวันที่ส่งหนังสือไปแจ้งคือวันที่ 11 เมษายน 2555
นั่นหมายความว่า นายสมชาติ จะพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคมนี้
ที่สำคัญภายใน 30 วันนี้ บอร์ดกองสลากยังจำกัดอำนาจหน้าที่ของ “สมชาติ”
โดย สมชาติ ไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้ง และอนุมัติการบริจาคเงินต่างๆ ภายในสำนักงานสลากได้ โดยต้องส่งเรื่องทั้งหมดมาให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเห็นชอบ
นอกจากนี้ คณะกรรมการสำนักงานสลากฯ ยังได้เร่งให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ ที่มี พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการกองสลาก ให้เป็นประธานสรรหา เพื่อที่จะไม่ให้การทำงานของสำนักงานต้องหยุดชะงัก
ผลของมติคณะกรรมการกองสลาก ทำให้มีพนักงานกองสลากและกลุ่มผู้ค้า รวมตัวกันประท้วงประธานบอร์ดกองสลากนับร้อย ที่กระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการยกเลิกมติเลิกจ้างนายสมชาติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายอารีพงศ์ ออกจากตำแหน่ง โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปในกระทรวงการคลัง ในช่วงเช้าวันที่ 17 เมษายน 2555 ทำให้คณะกรรมการสลากที่ประชุมอยู่ที่บริเวณชั้น 1 ต้องขึ้นไปประชุมที่ชั้น 3 เพื่อความปลอดภัย
ที่สำคัญ “สมชาติ” ได้เตรียมยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล กรณีที่ถูกสั่งปลดจากตำแหน่งหลังจากที่ทำงานได้เพียง 4 เดือน โดยที่ยังไม่การประเมินผลการทำงานสักครั้งเดียว
แม้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะยืนกรานว่า การบอกเลิกจ้างนายสมชาติ วงศ์วัฒนศานติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสิทธิตามกฎหมายของคณะกรรมการ (บอร์ด) กองสลากฯ
โดยในสัญญาจ้างระหว่างผู้จ้าง และผู้ถูกจ้าง มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจน และได้มีการจ่ายเงินชดเชยในการเลิกจ้างครั้งนี้ด้วย
มิหนำซ้ำ กิตติรัตน์ ยังเตรียมสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ คนใหม่
แต่คำตอบโต้ของ สมชาติ ที่บอกว่า “"ผมถูกบีบให้ทำในสิ่งที่มีปัญหา และเสี่ยงให้สำนักงานสลากถูกฟ้องร้อง”
ชวนให้น่าสงสัยว่า กิตติรัตน์ บีบให้สมชาติทำอะไร ??
เหมือนกับที่ทักษิณ เคยใช้กองสลากหาเงินมาใช้ตามนโยบายประชานิยมหรือเปล่า ??
ที่สำคัญปัญหาทางการเงินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปัจจุบัน ก็มีเหตุจูงใจให้ดำเนินการเช่นนั้น เพราะรัฐบาลไม่มีเงินสำหรับการใช้จ่ายในการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จนต้องเลื่อนออกไปปี 2557
นโยบายอื่นๆ ที่หาเสียงไว้ แม้กระทั่งการขึ้นค่าแรง 300 บาท อาจจะต้องชะลอไว้หมด หลังจากนำร่องไป 7 จังหวัดแล้ว
นั่นคือ ทำให้ประเมินกันว่า กิตติรัตน์ สอบไม่ผ่าน
ข้อเท็จจริงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หลายกรณีบ่งชี้ชัดว่า กิตติรัตน์ ฝีมืออ่อนหัดทางเศรษฐกิจเกินไป
หลังจาก “กิตติรัตน์” ถีบหัวส่ง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ออกจากกระทรวงการคลัง ไปแผลงฤทธิ์อยู่ในเฟสบุ๊กส่วนตัวแล้ว
กิตติรัตน์ ก็แสดงอำนาจบาตรใหญ่ สั่งให้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ฟังคำสั่งของเขา
“ ในฐานะผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวม จึงได้ส่งสัญญาณชัดเจนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดูแลเงินบาทให้อ่อนค่าลง”
เขาสั่งให้แบงก์ชาติ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน... เงินบาทก็ต้องอ่อน
หญ่าย...เกินตระกูล ณ ระนอง เสียเหลือเกิน !!
คำพูดของกิตติรัตน์ ไม่ใช่บ่งบอกว่า เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังที่น่ากลัว หรือน่ายกย่อง....แต่เป็นรัฐมนตรีเซาะกราว อะไรทำนองนั้นมากกว่า
เหตุผลสำคัญคือ ตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ไม่เคยมีใคร “บังคับ” ค่าเงินไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการได้
ค่าเงินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
แต่ปัจจัยที่ได้รับการยอมรับว่า มีอิทธิพลต่อค่าเงินทุกประเทศ ก็คือ
1. ปริมาณเงินในประเทศนั้น นั่นคือ หากปริมาณในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยอะไรก็ตาม จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นอ่อนค่าลง
2. ระดับราคาสินค้าในต่างประเทศ หากระดับราคาสินค้าของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น ระดับราคาสินค้าของต่างประเทศ อาจจะดูได้จากอัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศ เพราะเป็นการมองที่การเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า
3. อัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศ หากอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศสูงขึ้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆอ่อนค่าลง
4. รายได้ประชาชาติของประเทศนั้นๆ กล่าวคือ หากรายได้ประชาชาติของประเทศนั้นเพิ่มขึ้น หรือภาวะเศรษฐกิจขยายตัว จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น
ดังนั้น หากกิตติรัตน์ มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้จริง กิตติรัตน์ จะต้องไปกราบเท้า “เบน เบอร์นาเก้” ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ งามๆ สักร้อยครั้ง เพื่อให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แล้วจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง
แต่กิตติรัตน์ ก็เชิดหน้าชูคอท่องคาถาทางเศรษฐกิจระดับปริญญาตรีบริหารประเทศไปวันๆ
ไม่เพียงแค่นั้น กิตติรัตน์ ยังอธิบายการปรับค่าแรง 300 บาท ว่า จะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วจะนำเงินเหล่านั้นมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
โคตรเซาะกราวเลย
เขาบอกว่า “หากบริษัทใดจะมีการเลย์ออฟ ขอให้แจ้งไปยังกระทรวงแรงงาน เพราะยังมีอีกหลายบริษัท ที่ยังต้องการแรงงาน อยากให้บริษัทเหล่านี้มีการไตร่ตรองว่าเมื่อค่าแรงขึ้น กิจการเหล่านั้นจะมียอดขายที่ดีขึ้น และจะสามารถรับมือกับค่าแรง 300 บาทได้อย่างแน่นอน”
กิตติรัตน์ ตอบโต้ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่ผู้ประกอบการระบุว่าจะต้องมีการลดจำนวนพนักงาน (เลย์ออฟ) หรืออาจจะต้องปิดตัวเองลง หรือย้ายไปลงในพม่า เพราะค่าแรงวันละ 100 กว่าบาท
หรือลด งด โอที และสวัสดิการต่างๆ
แต่กิตติรัตน์ กลับเชื่อว่า คนงานจะนำเงิน 300 บาทที่เพิ่มขึ้นมาใช้จ่าย ทำให้ยอดขายของบริษัท จะดีขึ้นในอนาคต
“ค่าแรงที่ปรับขึ้นนี้ จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะเงินที่แรงงานได้รับจะถูกนำมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ” กิตติรัตน์ อธิบายเป็นฉากๆ
ทั้งๆที่ ข้อเท็จจริงกลับบ่งบอกว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจ และการเมืองที่ไม่แน่นอน คนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจะเก็บไว้ใช้จ่ายในยาม “ฉุกเฉิน” มากกว่าสุรุ่ยสุร่าย ไปวันๆ
นั่นคือ เงินที่เหลือจากการใช้หนี้ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว จะถูกเก็บไว้ใช้ในยามเจ็บป่วย หรือมีปัญหา
แต่กิตติรัตน์ ไม่มีความรู้ทฤษฎีความต้องการถือเงินของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ แต่อย่างใด
กิตติรัตน์ ยังอธิบายการขึ้นเงินเดือนข้าราชการด้วยความภูมิใจ ทั้งๆ ที่เงินเดือน 15,000 บาท ถูกเลื่อนใช้ไปเป็นปี 2557
โดยให้อัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำของวุฒิปริญญาตรี ปีที่ 1 คือวันที่ 1 มกราคม 2556 เท่ากับ 13,300 บาท ส่วนปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เท่ากับ 15,000 บาท
ทั้งๆ ที่บอกว่า จะทำในปีแรกที่มาเป็นรัฐบาล
ตรรกะการอธิบายเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจของกิตติรัตน์ อยู่ในสถานะ “สอบตก” เหมือนกับการอธิบายเหตุผลการปลด ผู้อำนวยการกองสลาก ว่า เป็นไปตามสัญญาจ้าง
ทั้งๆ ที่การปลดผอ.กองสลามาจาก การล้มโควตาสลากขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสมาคมทหารผ่านศึกพิการจำนวน 2.6 ล้านฉบับ จากทั้งหมดมี 4 ล้านฉบับ
ปัญหาคือ ใครผู้อยู่เบื้องหลัง โควต้าสลากขององค์กรทหารผ่านศึกทั้งสอง ??!!
ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตอบโต้ว่า “ การอ้างว่าขาดภาวะผู้นำ ก็ขอเรียกร้องให้ผู้พิจารณาเลิกจ้างเองได้พิจารณาด้วยว่ามีภาวะผู้นำมากน้อยแค่ไหน”
"ผมถูกบีบให้ทำในสิ่งที่มีปัญหา และเสี่ยงให้สำนักงานสลากถูกฟ้องร้อง ผมขอออกดีกว่า เมื่อผมไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ต้องการ ก็หาเรื่องว่าไม่มีภาวะผู้นำ ตอนผมขึ้นเป็นผอ. ผมก็พร้อมที่จะออกทุกเมื่อ ยืนยันว่าผมไม่ได้ทำผิดอะไร" นายสมชาติ ยืนยัน
ผลจากมติคณะกรรมการเมื่อ 2 ตุลาคม 2552 ที่มี วันชัย สุระกุล เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ทำให้เกิดปัญหามาจนกระทั่งทุกวันนี้
โดยมติคณะกรรมการได้อนุมัติให้พิมพ์สลาก 4 หมื่นเล่ม หรือ 4 ล้านฉบับ เพื่อจัดสรรให้ 8 องค์กร ได้แก่
1. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 1.5 หมื่นเล่ม หรือ 1.5 ล้านฉบับ
2. สมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย 1.1 หมื่นเล่ม หรือ 1.1 ล้านฉบับ
3. มูลนิธิสำนักงานสลากฯ 10,784 เล่ม หรือ 1,078,400 ฉบับ
4. มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน 2,000 เล่ม หรือ 200,000 ฉบับ
5. มูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 478 เล่ม หรือ 47,800 ฉบับ
6. สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย 190 เล่ม หรือ 19,000 ฉบับ
7. มูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ 310 เล่ม หรือ 31,000 ฉบับ
8. มูลนิธิพันเอกจินดา ณ สงขลา 283 เล่ม หรือ 28,300 ฉบับ
จะเห็นว่าสัดส่วนของ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย มากที่สุด
โดยคณะกรรมการได้ให้สิทธิทั้ง 8 องค์กร รับสลากไปจำหน่าย 2 ปี เริ่มงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ถึงงวดวันที่ 16 ตุลาคม 2554
ต่อมามีการต่ออายุสัญญาออกไปอีก 2 ปี นับแต่งวด 1 พฤศจิกายน 2554 แต่ยังไม่ได้ทันได้นำเรื่องของบอร์ดเห็นชอบ ก็เกิดเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่ เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ประกอบกับกรรมการชุดเดิมลาออก 3 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ 3 คน ได้แก่ 1. พล.ท.รุจวินท์ กิจวิทย์ 2. พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ 3. วีรภัทร ศรีไชยา
นั่งเก้าอี้แทนที่ พล.ต.ท.สุรสีห์ สุนทรศารทูล ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล
พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เพื่อนทักษิณ ทั้งในฐานะนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 อดีตผู้การกองปราบฯ คนที่บุกค้นบ้านริมคลองของ “เฉลิม อยู่บำรุง” จนเฉลิมไม่กล้าหือในรัฐบาลทักษิณ และอยู่ในสถานะเงียบกริบ....
ก่อนจะถูกดึงตัวไปเป็น ผอ.กองสลาก
หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดใหม่ ก็สั่งให้ตรวจสอบสถานะ คุณสมบัติการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากของ 8 องค์กร หลังจากมีการทำหนังสือร้องเรียนว่า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย ปฏิบัติผิดเงื่อนไข กล่าวคือไม่ได้นำสลากไปจำหน่าย แต่กลับไปขายส่งให้แก่บริษัทเอกชน
เมื่อผลการตรวจสอบพบว่า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ส่งผลให้บอร์ดกองสลากไม่ต่อสัญญาให้แก่องค์กรที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา รวม 28,238 เล่ม หรือ 2,823,800 ฉบับ ประกอบด้วย 1. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 1.5 หมื่นเล่ม 2.สมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย 1.1 หมื่นเล่ม 3. มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน 2,000 เล่ม 4. มูลนิธิพันเอกจินดา ณ สงขลา 283 เล่ม โดยให้สลากทั้งหมด 28,238 เล่ม
สมาคมทหารผ่านศึกฯ ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรม และต่อมามีการเจรจาเมื่อปลายปี 2554
จน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล สั่งการให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรสลากการกุศลเพิ่มขึ้นอีก 4 หมื่นเล่มในงวดเดือน กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อจัดสรรสลากให้กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกตามที่ได้ทำข้อตกลงไว้ 2.6 หมื่นเล่ม
สลาก 2.6 หมื่นเล่ม หรือ 2.6 ฉบับนี้ ทำให้เกิดปัญหาระหว่าง “ผอ.กองสลาก” และบอร์ดกองสลาก เพราะ จนต้องมีการปลด
เพราะบอร์ดกองสลากเห็นว่า มติคณะกรรมการก่อนหน้านี้ไม่มีผลในปฏิบัติ ต้องการเอาโคว้ตา 2.6 หมื่นฉบับ กลับคืนมา
แต่ ผอ.กองสลาก และฝ่ายกฎหมายเห็นว่า มีผลสมบูรณ์แล้ว ต้องจัดสรรให้ทหารผ่านศึกฯ
ปัญหาคือ บอร์ดกองสลากต้องการโควต้า 2.6 ล้านฉบับไปให้ใครหรือเปล่า ??
จนสมชาติ ต้องประกาศว่า “เขาถูกบีบให้ทำในสิ่งที่มีปัญหา” ทั้งๆ ที่ตัวปัญหาคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง !!