xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ดันกม.ค้าปลีกเข้าครม. ดึงรัฐวิสาหกิจอยู่ใต้กม.แข่งขัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์”ตั้งแท่นชงกฎหมายค้าปลีก ค้าส่ง เข้าครม.เร็วๆ นี้ หลังยืนยันกฤษฎีกาใช้ร่างเดิม คุมกำเนิดยักษ์ค้าปลีก ค้าส่ง พร้อมดันแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า ดึงรัฐวิสาหกิจเข้าดูแลด้วย หวังสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนต่างชาติ

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ว่า กระทรวงฯ ได้ยืนยันที่จะใช้ร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ... ฉบับเดิมที่เคยส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเมื่อช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไป จะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากได้รับความเห็นชอบจากครม.ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกกฎหมายเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

เหตุผลที่กระทรวงฯ ยืนยันใช้ร่างกฎหมายเดิม เพราะมีเนื้อหาสาระที่ใช้ในการดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในปัจจุบันได้ โดยใช้กฎหมายในการกำกับดูแลการขยายตัวของห้างค้าปลีก ค้าส่งขนาดใหญ่ ไม่ให้กระจายตัวไปในพื้นที่เมืองเพิ่มมากขึ้น แต่ให้ขยายตัวได้ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่กระทบชุมชนและไม่ทำให้ร้านค้าปลีกทั่วไป (โชห่วย) ได้รับผลกระทบ และในร่างกฎหมาย ยังได้เปิดช่องให้สามารถเพิ่มเติมข้อบังคับต่างๆ ผ่านการออกกฎกระทรวงได้อีก

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้ยืนยันร่างกฎหมายอื่นๆ ที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของกฎษฎีกาได้แก่ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ... ซึ่งมีเนื้อหาสาระให้รวมรัฐวิสาหกิจเป็นกิจการที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ด้วย หลังจากที่กรมการค้าภายในได้ทำการสอบถามความเห็นจากรัฐวิสาหกิจทุกแห่งแล้วส่วนใหญ่ไม่ขัดข้อง และยังมีร่างพ.ร.บ. ไซโลห้องเย็น พ.ศ. ...ซึ่งอาจเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้พร้อมกันในเร็วๆ นี้

“การแก้ไขกฎหมายทางการค้าดังกล่าว ต้องดำเนินการให้มีความทันสมัยและเป็นที่เชื่อถือของต่างประเทศ เพราะไทยกำลังจะเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งไม่เพียงต้องดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุนของไทย แต่ต้องมีกฎหมายที่จะดูแลธุรกิจการค้าภายในประเทศของไทยด้วย” นายยรรยงกล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามยืนยันต่อคำถามของกฤษฎีกาที่จะต้องสอบถามหน่วยงานเจ้าของกฎหมายหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลว่ากฎหมายที่ค้างอยู่จะยืนยันตามร่างเดิมหรือไม่ หากไม่ก็จะส่งกลับให้หน่วยงานนั้นๆแก้ไขหรือยกเลิกการเสนอกฎหมายนั้นไป แต่หากยืนยันตามเดิมก็จะเข้าสู่การพิจารณาของครม. หากเห็นชอบก็เข้าสู่สภาทันที

สำหรับกฎหมายแข่งขันที่กำหนดให้นำรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย เนื่องจากมีธุรกิจโทรคมนาคมและการธนาคารร้องเรียนว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และธนาคารของรัฐ มีขอบเขตการทำธุรกิจกว้างขวางกว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ส่วนรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะแสดงความไม่เห็นด้วยหลังจากนี้ คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ให้เหตุผลว่ามีต้นทุนที่สูงกว่าสายการบินคู่แข่ง เนื่องจากต้องสนับสนุนกิจการของรัฐบาลหลายอย่าง แต่ในต่างประเทศส่วนใหญ่ รัฐวิสาหกิจหรือแม้แต่สายการบินแห่งชาติก็อยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้าด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น