ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อย่างสมพระเกียรติ ด้วยเหตุดังกล่าวการจัดงานพระราชพิธีจึงได้ระดมสุดยอดฝีมือช่างไทยจากทั่วทุกสารทิศมาดำเนินการจัดสร้างให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี
ดังนั้น ในวันที่ 9 เมษายนนอกจากพสกนิกรชาวไทยจะได้พร้อมใจกันร่วมถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ แล้ว ยังจะมีโอกาสได้ศึกษาโบราณราชพระเพณีเกี่ยวกับการจัดพระศพไปพร้อมๆ กันด้วย โดยงานพระราชพิธีครั้งนี้มีสิ่งที่ควรรู้อยู่ 9 ประการด้วยกัน
1.พระเมรุทรงปราสาทยอดมณฑป
เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระเกียติยศสูงสุด ซึ่งตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ต้องสร้างสัปตปฏลเศวตฉัตรไว้ยอดพระเมรุ
สำหรับงานการก่อสร้างพระเมรุและเครื่องประกอบพระเมรุสำหรับการก่อสร้างพระเมรุและเครื่องประกอบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มี “พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น” อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้ออกแบบพระเมรุ ให้เป็นอาคารทรงปราสาทยอดมณฑป หลังคาจัตุรมุขซ้อนสองชั้น มีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน สร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ มุขหน้าด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านทิศเหนือ มีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ มุขหลังด้านทิศตะวันออก เป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้าน มีบันไดทางขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัตร ฉัตร โคม และเทวดา
2.สัปตปฎลเศวตฉัตร : เครื่องยอดพระเมรุ
ลักษณะเครื่องยอดพระเมรุ เป็นทรงมณฑปมีชั้นเชิงกลอน 5ชั้น มุมหลังคา มีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวคลุ่ม 5 ชั้น ปลียอดแบ่งสองส่วนคั่นด้วยลูกแก้ว บนยอดมีเม็ดน้ำค้าง เหนือสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร หน้าบันทั้ง4 ด้านประดับอักษรพระนาม “พร” โครงสีของพระเมรุโดยรวมเป็นสีทองและสีชมพู ตามสีวันพระราชสมภพ คือวันอังคาร งานพระเมรุครั้งนี้ มีแนวคิดที่ลดการใช้ไม้ จึงเสริมบางส่วนที่เป็นงานซ้อนไม้ด้วยวิธีการปั้นหล่อถอดพิมพ์ไฟเบอร์กลาส การประดับตกแต่งส่วนอื่นๆ ใช้การปิดผ้าทองย่นสาบสีสอดแววแทนการปิดทองประดับกระจก
3.หอเปลื้อง ที่เก็บพระโกศ
อาคารประกอบพระเมรุนั้น ประกอบด้วยซ่าง อาคารที่สร้างบนฐานชาลาพระเมรุทั้ง 4 มุม เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 ชุดสลับกันสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่เชิญพระโกศพระศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนเสร็จการพระราชทานเพลิง หอเปลื้อง เป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวหลังคาจั่ว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระเมรุ เป็นที่เก็บพระโกศและเครื่องประกอบ หลังจากที่เปลื้องออกจากพระลองแล้ว และสำหรับเก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในช่วงการพระราชทานเพลิงพระศพ พระที่นั่งทรงธรรม ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับขณะบำเพ็ญพระราชกุศล มีบริเวณสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ทูตานุทูต นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ
4.เทวดารอบพระเมรุและสัตว์หิมพานต์
ในส่วนเทวดาประดับรอบพระเมรุจำนวน 30 องค์ แบ่งเป็นเทวดานั่งถือโคม 14 องค์ เทวดานั่งถือบังแทรก 6 องค์ เทวดายืนถือโคม 2 องค์ เทวดายืนถือฉัตรผ้า 8 องค์ สร้างจากหุ่นประดับลายอย่างโบราณ แล้วหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ทาสีประดับสีทองเลื่อมและเขียนสีตามแบบไทย ปิดลวดลายผ้าทองย่นสาบสีที่ฐานเทวดา
ส่วนสัตว์หิมพานต์ประกอบพระเมรุนั้น เป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เป็นสมมติเทวราช เมื่อเสด็จสวรรคตจึงสร้างพระเมรุโดยมุ่งหมายให้เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุที่มีเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อม เชิงเขาพระสุเมรุคือป่าหิมพานต์ซึ่งดาษดื่นด้วยสัตว์ในจินตนาการนานาพันธุ์ ครั้งนี้ สร้างด้วยเทคนิคการปั้นปูนสดโดยกลุ่มช่างจากจังหวัดเพชรบุรี และเขียนสีโดยจิตรกรจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
โดยเนรมิตอบฐานพระเมรุด้วยการนำสัตว์หิมพานต์ จำนวน 160 ตัว พร้อมนำไม้ดอกไม้ประดับ เช่นดอกหงอนไก่สีชมพู สีประจำวันประสูติ ต้นส้มหลอด สีทรงโปรด ทองพันชั่ง หนวดปลาดุก รวมทั้งต้นไม้ประเภทบอนไซ ต้นไทร ต้นโมก ต้นสนเลื้อย เล็บครุฑ ไม้ดัดตะโกใหญ่ ให้เหมือนป่าหิมพานต์ ส่วนที่พิเศษกระถางต้นไม้ ที่สั่งทำขึ้นมาใหม่มีอักษรพระนาม “พร”ประดับโดยรอบด้วย ส่งผลให้ภูมิทัศน์โดยรอบพระเมรุสวยงาม
5.พระโกศทองคำ-พระโกศจันทน์
ในส่วนของสร้างพระโกศ นายนิยม กลิ่นบุปผา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม ผู้ออกแบบพระโกศ อธิบายว่า พระโกศทองเป็นงานประณีตศิลป์ทำเครื่องทองอย่างโบราณ ที่ยากและวิจิตรที่สุด มีหลายรูปแบบ มีทั้งองค์พระโกศ คล้ายกับภาชนะแต่ตีลายเป็นกลีบบัว ตัวฐานคล้ายกับฐานบัลลังก์ ตัวฝาเหมือนกับพระมหามงกุฎ หรือพระมงกุฎ หรือพระชฎา ดังนั้น ในหนึ่งองค์พระโกศทองคำ จึงมีงานลักษณะคล้ายบัลลังก์ คล้ายภาชนะ และคล้ายพระชฎามหามงกุฎ อยู่ในตัวเดียวกัน ส่วนพระโกศจันทน์ สร้างด้วยไม้จันทน์หอมแปรรูปไม้ให้เป็นแผ่นบาง โกรกฉลุเป็นลวดลายตามแบบที่กำหนด โครงภายในเป็นเหล็กไร้สนิมและกรุด้วยลวดตาข่าย ใช้ไม้จันทน์ฉลุตกแต่งลวดลายขนาดใหญ่น้อยให้ได้สัดส่วนที่งดงาม
6.ฉากบังเพลิง
ฉากบังเพลิง นายสาคร โสภา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยช่างศิลป ในฐานะผู้เชี่ยวชาญศิลปกรรมไทยผู้เขียนลวดลายฉากบังเพลิง อธิบายว่า ฉากบังเพลิงมีความงดงาม ด้านหน้าเป็นรูปเทวดา ด้านหลังเป็นรูปดอกกุหลาบ เนื่องจาก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ทรงโปรดดอกกุหลาบเป็นอย่างมาก การออกแบบจึงได้นำลวดลายดอกกุหลาบมาเขียนไว้ที่ฉากบังเพลิง ส่วนฉากบังเตานั้น ได้ออกแบบเป็นรูปดอกบัว 4 เหล่า เพื่อแฝงคติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ซึ่งนับตั้งแต่โบราณมาจะมีการเขียนลวดลายต่างๆที่แฝงคติธรรม ในพระเมรุมาโดยตลอด
7.ราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ
ในส่วนของราชรถ ราชยาน และพระยานมาศที่สำคัญได้แก่ พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถบุษบกขนาดใหญ่ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2338 ถือเป็นพระราชเพณีที่ให้พระมหาพิชัยราชรถ เชิญพระบรมศพพระมหากษัตริย์พระราชินี และเจ้านายที่มีพระอิสริยยศสูง ซึ่งครั้งนี้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
พระยานมาศสามลำคาน เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทองมีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน ใช้สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถและเชิญพระโกศเวียนรอบพระเมรุ
8.ซีดี “เพชรรัตนาลัย”
กรมศิลปากรได้จัดทำซีดีชุด เพชรรัตนาลัย ประกอบด้วย การสร้างสรรค์บทเพลงพิเศษขึ้นใหม่ชื่อ เพลงเพชร ประพันธ์คำร้องโดยนาย วัฒนะ บุญจับ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ โดยเนื้อหาของเพลงเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และนำคำร้องดังกล่าวบันทึกเสียงลงแผ่นซีดีทำนองพม่าแปลง ขับร้องโดย ดวงดาว เถาว์หิรัญ คีตศิลปินกลุ่มดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ คือ เพลงใบไม้ร่วง ผลงานประพันธ์คำร้องของนาย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ขับร้องโดย ปาน ธนพร แวกประยูร และเพลงพสุธากันแสง ประพันธ์คำร้องโดยนาย ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ ขับร้องโดย กุ้ง สุทธิราช วงศ์เทวัญ บทเพลงทั้ง 3 เพลง ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ www.m-culture.go.th และ www.finearth.go.th
9.เหรียญที่ระลึกเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
กรมธนารักษ์ น้อมถวายความอาลัยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้จัดทำเหรียญที่ระลึกอนุสรณ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ และน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยเหรียญที่ระลึกด้านหน้า ได้อัญเชิญพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี มาประกอบการออกแบบ ซึ่งได้เลือกพระฉายาลักษณ์ที่ประชาชนคุ้นเคย พระพักตร์เปี่ยมด้วยพระเมตตา และทรงฉลองพระองค์ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มพระยศ และรูปแบบด้านหลังของเหรียญ ที่ระลึกฯ นำรูปพระเมรุที่ใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ มาจัดวาง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์ ด้านหลังรูปพระเมรุมีรูปแสงพระอาทิตย์แผ่รัศมีผ่าน ปุยเมฆ สื่อความหมายว่าแสงสุดท้ายและเป็นการน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
มหรสพสมโภชเทิดพระเกียรติ ส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรคาลัย
การแสดงมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิ ถือเป็นแบบแผนประเพณีสืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นการออกทุกข์ หลักจากที่ไว้ทุกข์มาระยะหนึ่ง จึงนำเอามหรสพสมโภชมาเล่น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ เชื่อกันว่าเมื่อเจ้านายสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ลง จะเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ และงานถวายเพลิงพระศพ เหมือนส่งเสด็จและแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย
ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดการแสดงมหรสพ 3 เวที โดยแสดงมหรสพสมโภช โดยการแสดงหน้าพระเมรุได้จัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด นาง ลอย ใช้เวลาแสดงประมาณ 2 ชั่วโมง
เวทีที่ 1 ด้านสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นการแสดงหนังใหญ่ และโขนหน้าจอ เรื่อง รามเกียรติ์ อันเป็นมหากาพย์ที่ว่าด้วยการอวตารของพระนารายณ์เทพเจ้า ซึ่งเรามักจะเทิดทูนบูชาพระมหากษัตริย์เราเป็นดั่งสมมติเทพ
เวทีที่ 2 ด้านศาลฎีกา มีการแสดง 3 ชุด ประกอบด้วย การแสดงหุ่นกระบอก เรื่อง พระอภัยมณี ตอน ศึกเก้าทัพถึงพบนางละเวง การแสดงละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เรื่อง ศกุนตลา ตอน ท้าวทุษยันต์พบนางศกุนตลา และการแสดงละครนอก เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต ถึงพระสังข์พบพระมารดา
เวทีที่ 3 ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการบรรเลงขับร้องโดยวงดนตรีสากล 3 วง คือ วง C.U. แบนด์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนักร้องประสานเสียง วิทยาลัยอาชีวะสันติราษฎร์ ในพระอุปถัมภ์ และวงกรมประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ ทุกเวทีจะเริ่มการแสดงตั้งแต่เวลา 19.00 น.ของวันจันทร์ที่ 9 เม.ย. และเสร็จสิ้นเวลา 06.00 น.ของวันอังคารที่ 10 เม.ย. รวมใช้เวลาแสดง 10 ชม. และจะหยุดการแสดงในช่วงเวลาพระราชทานเพลิงพระศพจริง