...ลิเกถ้าไม่ใช่สายเลือด หรือใจไม่รักมากพอก็ไม่สามารถทำได้ ท่ามกลางกระแสนิยมที่หลากหลาย “วิ-วิรดา วงศ์เทวัญ” เธอคือนางเอกลิเกเลือดใหม่อายุยังน้อยที่เติบโตมาจากครอบครัวลิเกอย่างแท้จริง วันนี้จากนางเอกลิเกเงินล้าน เธอก้าวเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเธอหวังว่าการเข้ามาทำงานในวงการจะสามารถเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้วัยรุ่นได้รู้จักกับการแสดงลิเกมากขึ้น
...................................................................................
วัยรุ่นหลายคนเลือกที่จะหันไปสนใจ ค่านิยมตามกระแส ในทางตรงกันข้าม “วิรดา วงศ์เทวัญ” หรือ “น้องวิ” สาวร่างเล็ก น้องสาวคนเล็กของ “กุ้ง-สุทธิราช วงศ์เทวัญ” นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง กลับไม่คิดเช่นนั้น เธอเล่นลิเกตั้งแต่ยังเด็ก จนกลายเป็นนางเอกคู่ขวัญในคณะวงศ์เทวัญ และก้าวสู่นักร้องลูกทุ่งดั่งที่ฝันเอาไว้ยิ่งทำให้เธอดูแตกต่างจากเด็กวัยรุ่นสมัยปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
เริ่มต้นลิเก ด้วยบท “นางสนม”
“ลิเกสำหรับเราเป็นเหมือนสายเลือด เพราะพ่อแม่และพี่ชายเราก็เป็นลิเก” เพราะการเติบโตจากสายเลือดลิเกอย่างแท้จริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำให้วิรดา หลงใหลศิลปวัฒนธรรมแบบไทยๆ อย่างไม่ต้องอายใคร
วิรดา เริ่มต้นการเล่นลิเกมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เรียกได้ว่าเธอเกิดและเติบโตมากับคณะลิเกที่หล่อหลอมให้เธอได้ร้อง รำ ทำเพลง อยู่ในคณะมาตลอดเวลาจึงทำให้มีแววในการเล่นลิเกมาตั้งแต่ยังเด็ก
“เกิดมาเราก็อยู่กับลิเกเลยค่ะ เพราะพ่อแม่และพี่ชายเราเป็นลิเก เหมือนว่าเราก็ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กค่ะ รู้สึกว่าตัวเองเกิดมาก็ได้ยินเสียงระนาด เสียงร้องลิเกเลย เวลาแม่จะไปเล่นลิเก เขาก็ไม่ค่อยจะอยากให้เราตามไปด้วยเท่าไหร่ค่ะ แต่เราอยากไปอยู่กับแม่ เป็นเด็กติดแม่ พอได้ไปอยู่ด้วยก็ตามไปเรื่อยๆ แต่ช่วงนั้นไม่เคยคิดอยากเล่นมาก่อน จนพอโตขึ้นมาหน่อยก็โดนยุให้เล่นค่ะ ”
จากคำยุยงของเหล่าบรรดาญาติๆ ในคณะลิเก ทำให้เด็กน้อยอย่างวิรดา ได้รับบทเล่นเรื่องแรกด้วยบทนางสนม ซึ่งไม่ต้องมีบทเจรจาต่อรองกับใครทั้งสิ้น และสิ่งที่กลายเป็นกำลังใจให้เธออยากเล่นลิเก คือการได้รับเงินรางวัลในการรับบทนางสนมครั้งแรก
“นั่งนิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย พอเล่นเรื่องแรกได้รางวัล ก็เลยอยากเล่นต่อค่ะ แต่พอโตขึ้นมาหน่อย ก็รู้สึกว่าชอบลิเกจริงๆ”
จากบทบาทของนางสนม ค่อยๆ ขยับขึ้นมาเล่นบทนางโจ๊ก หรือที่เรียกกันว่าตัวตลก มีบทพูดมากขึ้น จากนั้นก็รับบทเป็นนางรอง กว่าเธอจะก้าวขึ้นมาเป็นนางเอกลิเก ก็ผ่านมาแล้วหลากหลายบทบาทที่มีการร้องมากขึ้นและก็คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับสายเลือดลิเกอย่างวิรดา
“การร้องลิเกยากมากนะค่ะ ถ้าใครไม่เคยร้องจริงๆ จะยากมาก แต่สำหรับหนู เหมือนมันมาจากสายเลือดไปแล้วค่ะ หนูร้องเป็นไม่ใช่เรื่องแปลก บางบทมันก็ท้าทายที่ทำให้เราอยากจะเล่น บางบทเล่นเป็นคนบ้า ต้องกล้าทำ กล้าที่จะแต่งตัว ให้คนได้คิดว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ หนูเองไม่ได้ฝึกมาจากไหนเลย ก็ใช้วิธีดูและก็มีแม่คอยแนะนำว่าท่าทางการรำในแต่ละบทบาทควรจะเป็นแบบไหน อย่างไรบ้าง ต้องร้องแบบนี้นะ น้ำเสียงเป็นแบบนี้ เนื้อร้องเค้ามีมาให้ พอเราเคยเห็นตัวอย่างจากญาติๆ ที่เล่นด้วยกัน เราก็พอจะรู้ว่าจะออกมาแนวไหน”
“หนูเล่นมาทุกบท ยกเว้นนางโกง (ตัวร้าย) นะค่ะ แม่บอกว่าเราหน้าไม่ให้ หน้าไม่ดุพอ เราชอบเล่นบทขำๆ อายๆ มากกว่า”
นางเอกข้างโอ่ง
ตอนยังเด็ก วิรดาอาจจะไม่ได้ตามแม่ไปทุกๆ แห่งที่คณะวงศ์เทวัญไปเล่นลิเก เพราะแม่กลัวว่าเธอจะอดหลับอดนอน และเธอก็ยังไม่ฉายแววความเป็นลิเกให้แม่เห็นอย่างลูกพี่ลูกน้องในคณะเดียวกัน ที่ฝึกรำ ฝึกร้องมาตั้งแต่เด็ก แต่เธอกลับนั่งเล่นทรายอยู่ข้างโอ่งเป็นประจำ
“หนูจะนั่งเล่นทำกับข้าวอยู่ข้างโอ่งบ้าง จนมีคนเรียกหนูว่า นางเอกข้างโอ่งค่ะ นั่งผัดข้าว ใช้ทรายทำ เอาทรายมาเล่นขายของบ้าง เราจะเล่นไปในทางนั้นมากกว่าจะมาฝึกร้องรำ ทำเพลงกับลูกพี่ลูกน้องในคณะ ไม่ได้มาทางเล่นลิเกเลย”
เมื่อถึงวันหนึ่งที่ต้องทำ วิก็สามารถทำได้ เพราะพ่อแม่ของเธออยากให้พี่และน้องตระกูลวงศ์เทวัญช่วยกันสืบสานคณะลิเกต่อจากท่าน แม้เธอจะเล่าว่าตอนเด็กๆ พี่ชายอย่างกุ้ง สุทธิราช ก็ไม่ได้ อยากจะใส่ใจกับการเล่นลิเกเหมือนอย่างปัจจุบันเท่าไหร่นัก
“เพราะความเป็นสายเลือด จึงสามารถทำได้ แม้ว่าจะอาย ในช่วงแรก เพราะเราเป็นคนขี้อาย แต่พอได้ขึ้นเวทีก็ไม่เคยจะอายนะค่ะ เราจะอายเฉพาะอยู่หลังเวทีมากกว่าค่ะ” เหมือนพอออกเวทีพลังในตัวเราที่เก็บสะสมเอาไว้ ก็แสดงไปได้ไม่ต้องอายค่ะ”
วิเล่าว่า ก่อนขึ้นเล่นลิเก แต่ละวันอาจจะไม่ต้องซ้อมอะไรกันมากนัก หากว่าเป็นเรื่องที่เคยเล่นกันมาหลายครั้ง แต่สำหรับบทละครเรื่องใหม่ อาจจะต้องท่อง จำเอาไว้ว่าตนเองจะต้องเล่นยังไง ส่งบทกับคู่ที่เล่นด้วยยังไงบ้าง ต้องสื่อให้เข้าใจกัน
เป็นเรื่องยากที่บทใหม่จะทำให้ทุกตัวละครประสานงานกันให้ดี ซึ่งแต่ละคนต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่คนตีระนาด คนเล่นลิเกเอง ทุกฝ่ายต้องสังเกตซึ่งกันและว่าว่าตนเองจะต้องทำหน้าที่ของตนเมื่อไหร่ เพื่อให้การเล่นบทละครลิเกดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
“บทลิเกก็เป็นเหมือนบทละครนะค่ะ แต่จะต่างกันที่ว่า บทลิเกเป็นบทกลอน ลิเกเน้นคำพูด จะพูดอะไรมาก็ได้ที่เขากับเนื้อหาและความหมายที่เราจะสื่อกับอีกฝ่าย แต่สุดท้ายจะต้องลงในประโยคที่บังคับเอาไว้ เพื่อเป็นการส่งต่อบทให้อีกฝ่าย หรือส่งให้ระนาดรู้ว่าต่อไปเราจะรำนะ เหมือนมันต้องใช้จังหวะ ระนาดต้องคอยมองดีๆ ว่าเราจะทำอะไร เราก็ต้องทำสักอย่างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ระนาดรู้ว่าต่อไปเราจะรำนะ ให้เขาเล่นระนาด หรือว่าตอนร้องไห้ เขาก็จะเล่นระนาดโศก”
งานเบื้องหลังเวที
คณะลิเกวงศ์เทวัญ มีทีมงานร่วม 100 คน การทำงานแต่ละที่ต้องใช้ทีมงานจำนวนมาก ในการเตรียมการแสดงแต่ละครั้ง ต้องยกไปกันหมดทั้งคณะ รถที่ใช้ขนของเพื่อเตรียมสแตนด์บายก่อนการแสดงทุกครั้งกว่า 10 คัน ทีมงานทั้งนักดนตรี แดนเซอร์ ทีมงานทั้งหมด ถือเป็นหนึ่งเดียวกันและองค์ประกอบของคณะทุกอย่างก่อนจะแสดงต้องแน่น
"การรับงานส่วนใหญ่จะรับงานภาคกลางค่ะ อาจจะมีเหนือที่เชียงใหม่ หรือใต้สุดก็แค่ชุมพรค่ะ ไปไกลกว่านี้ก็ลำบาก เพราะทีมงานของเราเยอะมาก แม้ว่าตัวละครที่แสดงอาจจะมีไม่มาก แต่ทีมงานสแตนด์บายต้องพร้อมค่ะ”
หนึ่งหน้าที่นอกจากการเป็นนางเอกลิเกของวิรดา แล้ว เธอยังรับหน้าที่ในการดูแลแดนเซอร์ ออกแบบท่าเต้น การเล่นลิเก ดูแลเสื้อผ้า ช่วยแบ่งเบาภาระจากแม่ได้บ้าง
“งานของคณะเรา ทุกอย่างต้องเป๊ะค่ะ ต้องพร้อมก่อนแสดง เหมือนทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองงานก็จะง่ายขึ้น ไปไหนมาไหนด้วยกัน วันหนึ่งเคยเล่นมากสุดวันละ 2-3 รอบ แต่เดี๋ยวนี้ลดลงเยอะค่ะ เล่นวันละ 4 ชั่วโมง นำเอาคอนเสิร์ตเข้ามาด้วย แล้วก็เล่นเพียงแค่เรื่องเดียว แล้วแต่ว่าวันไหนจะเล่นบทไหนมากน้อยไม่เท่ากัน
บางวันพี่กุ้งกับวิก็เถียงๆ ทะเลาะกัน ว่าอยากเล่นเรื่องไหน แต่แม่จะเป็นคนเลือกว่าเราจะเล่นเรื่องอะไร ตามสถานที่ที่ไป หรือถ้าที่ที่ไปใกล้กับที่เคยแสดงไปก็จะเปลี่ยนเรื่องใหม่ พี่กุ้งก็จะบอกแม่ให้เลือกเล่นที่บทตัวเองน้อยๆ ไว้ก่อน บางวันเราเล่นเป็นนางเอก แต่มันหนักที่เราต้องเล่นทุกคาแร็กเตอร์ ทั้งตลก เศร้า ดุ บางครั้งทำเอาวิเครียดไปเลย เรื่องเดียวเป็นได้ทุกแบบค่ะ ”
แม่ยก = แฟนคลับ
หนึ่งกำลังใจที่คอยเป็นแรงช่วยสนับสนุนของคณะลิเก หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “แม่ยก” ทว่าจะเรียกให้ดูทันสมัย แม่ยกก็หมายถึงแฟนคลับที่คอยติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง หนึ่งพวงมาลัยคล้องคอเต็มไปหลายธนบัตรหลากหลายสี เมื่อเหล่าบรรดาแม่ยกเกิดชอบใจตัวนักแสดงขึ้นมา หนึ่งในคณะลิเกวงศ์เทวัญ วิรดาบอกว่าส่วนใหญ่จะเป็นแม่ยกของกุ้ง-สุทธิราช มากกว่าของน้องสาว แต่เธอก็ได้ความเอ็นดูจากบรรดาแม่ยกตามมาด้วยเช่นกัน
“สำหรับหนูกับพี่กุ้งแล้ว มักจะเรียกว่าแฟนคลับมากกว่าค่ะ แม่ยกจะเป็นอะไรที่ทุ่มทุน อยากได้อะไรก็ทุ่มให้ แต่สำหรับหนูกับพี่กุ้งแล้ว น่าจะเรียกว่าแฟนคลับมากกว่า เขามาเพราะรักเรา เอากับข้าวมาเลี้ยง เอาเสื้อผ้ามาให้ ถ้าเป็นแม่ยกก็จะไม่เหมือนคณะอื่น ส่วนของเราไม่มีแบบว่าควักทุ่มให้นะค่ะ แฟนคลับวงศ์เทวัญที่หนาแน่นอยู่ทุกวันก็เพราะเราคิดว่าเขาเป็นเหมือนญาติพี่น้อง รุ่นแม่ก็คิดว่าเราเป็นลูกถ้าเป็นวันรุ่นเราก็คิดว่าเขาเป็นน้อง ”
“เวลาได้รางวัลจากหน้าเวที บางคณะได้เยอะ เพราะอาจจะแข่งกันตามงานประชันลิเกที่มีลิเกมาแสดงร่วมกันในงานหลายคณะค่ะ แม่ยกเขาก็จะแข่งกันว่าลิเกที่เขาติดตามอยู่จะต้องได้พวงมาลัยคล้องเยอะๆ แต่สำหรับของหนูก็ไม่เท่าไหร่นะค่ะ บางวันเราก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง” เธอตอบอย่างถ่อมตัว
แฟนคลับที่คอยติดตามผลงานของลิเกคณะวงศ์เทวัญ มีตั้งแต่เด็กที่พ่อแม่อุ้มมาดู เพราะเขาเคยดูลิเกตั้งแต่ยังไม่มีลูก ไปจนถึงคนวัย 80 ที่อยากมาดูลิเกเพราะหาดูได้ยากในปัจจุบัน
“หนูว่าคนที่อุ้มลูกมาดูลิเก เพราะเขาอยากให้ลูกได้ซึมซับดนตรีไทยด้วยนะ ถ้าลูกมีดนตรีในหัวใจจะเป็นคนอ่อนโยน ไม่มีความคิดก้าวร้าว บางคนพาลูกมาก็พามาให้เราอุ้มมาให้รับขวัญหลาน ไม่ได้ว่าเป็นแฟนคลับที่มาดูๆ แล้วก็กลับนะค่ะ เรารู้สึกว่าพวกเขาเป็นญาติพี่น้องของเราจริงๆ”
เด็กขี้อาย
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เธอต่างจากบทบาทนางเอกลิเกอย่างที่ใครหลายคนได้เคยชมเธอเล่นลิเก เด็กสาวสวยตัวเล็กเป็นเด็กขี้อายเมื่ออยู่หลังเวที ไม่ว่าใครจะมองเห็นถึงความสวยของเธอและชักชวนให้ขึ้นประกวดบนเวทีต่างๆ มากมาย เธอกลับปฏิเสธเพราะเธอมีเหตุผลเพียงแค่ไม่อยากให้ใครมองว่าเธอได้ตำแหน่ง จากการเป็นน้องสาวของ กุ้ง สุทธิราช
“มีคนมาทาบทามเยอะมากค่ะ ให้ไปประกวด เราก็โยนเอาไปให้หลานบ้าง ประกวดนางงามสงกรานต์ก็ไม่ชอบ เพราะอายเขา เราคิดว่าเราไม่ได้สวยอะไรมากมาย อีกอย่างก็ไม่มั่นใจตัวเองเท่าไหร่ ขึ้นเวทีก็ไม่เอา เราไม่อยากมองว่าใครจะคิดว่าเราใช้เส้นพี่ชาย แล้วก็กลายเป็นความกดดันด้วย เหมือนถ้าเราไปประกวดร้องเพลง ก็กดดันไงค่ะ แพ้มาก็อายด้วย คนคงคิดว่า นี่หรอน้องกุ้ง แพ้สะแล้ว ร้องไม่ดีเลย พอชนะขึ้นมา คนก็อาจจะมองว่าเราใช้เส้นพี่ชายหรือเปล่า ก็เลยไม่ประกวดดีกว่า สู้เราร้องเพลงแล้วมีความสุขของเราดีกว่าค่ะ ”
เพราะเธอขึ้นชื่อว่าเธอเป็นน้องสาวกุ้ง สุทธิราช จึงทำให้เพื่อนไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่พี่ชายกำลังมีงานเพลงและเป็นที่รู้จักจึงทำให้เพื่อนไม่ค่อยกล้าจะคุยกับเธอมากกว่า
“เราก็อาจจะมีเพื่อนสนิทสองสามคน แต่มีไม่เยอะหรอกค่ะ นอกนั้นเหมือนเขาก็ไม่ค่อยจะกล้าเข้ามาคุยกับเรามากกว่า เขาเกร็งเราเพราะเขารู้ว่าเราน้องสาวพี่กุ้ง หรือไม่รู้ว่าเพราะหน้าเราไม่บอกอารมณ์อยากคุยด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ค่ะ เราเลยจะต้องเป็นคนที่กล้าจะพูดกับเขาก่อน
แต่เมื่อไหร่ที่มีกิจกรรมเพื่อนก็จะเข้ามาหาเราก่อน เพราะว่าเราเป็นเด็กชอบทำกิจกรรม สอนเต้นได้ ร้องเพลงได้ ก็เหมือนช่วยกัน เป็นเด็กกิจกรรมแต่ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรหมดทุกอย่างหรอกค่ะ ”
เส้นทางนักร้องลูกทุ่ง
จากนางเอกลิเก วิรดาได้มีโอกาสก้าวสู่วงการบันเทิงจากการชักชวนของพี่ชายที่มองเห็นความสามารถในการร้องเพลงของน้องสาว บวกกับการสนับสนุนจากพ่อและแม่ที่รู้ว่าเธอมีอีกหนึ่งความฝันคือการเป็นนักร้องลูกทุ่ง
“ตอน 10 ขวบ เขารู้ว่าเราอยากทำงานด้านนี้ พอพี่กุ้งรู้และเราก็อยากเป็นนักร้องบ้าง เขาได้ฟังเสียง ก็คิดว่าน่าจะไปได้ เลยทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปร้องเพลง รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ เพราะไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน อย่างงานถ่ายรายการ เมื่อก่อนเราเป็นแค่เด็กหิ้วกระเป๋าเดินตามพี่ชาย เห็นพี่ชายทำงานก็รู้สึกว่าอยากเป็นบ้าง รู้สึกตื่นเต้น และเราเองก็คิดว่าเราต้องกล้าที่จะทำมากขึ้นแล้วล่ะ”
นักร้องลูกทุ่ง เป็นความฝันของเธอมาตั้งแต่เด็ก อยากร้องเพลง อยากเล่นลิเก ทำให้เธอรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเดินตามทางที่ตัวเองฝันเอาไว้ เป็นเหมือนความฝันที่เป็นความจริงของนางเอกลิเก
“หลังจากที่เราเคยได้เห็นคนอื่นถ่ายรายการ ถ่ายมิวสิก พอเราได้มาทำก็รู้สึกว่าเราต้องพยายามทำให้ได้ เพราะเราเองก็เป็นเด็กขี้อาย เราต้องกล้า ถึงจะมีพี่กุ้ง เค้าเองก็ไม่ได้ลงมาอยู่ตรงนี้กับเราแล้ว ต้องอาศัยความกล้าของตัวเอง เล่นลิเก อาจจะไม่ค่อยอายเท่าไหร่เพราะเล่นกับญาติๆ แต่งานร้องเพลงทำงานกับคนที่เราไม่รู้จัก เราก็ต้องทำให้ได้และต้องกล้าแสดงออก”
กว่า 5 ปี กับการรอคอยในการออกอัลบั้มแรกในชีวิต คู่กับพี่ชาย วิรดาผ่านประสบการณ์มามากมาย ถ้าใครถามเธอว่า ได้เป็นนักร้องเพราะใช้เส้นพี่ชายหรือเปล่านั้น เธอตอบได้เลยว่า ไม่ได้ทำงานนี้เพราะส้นของพี่ชาย เพราะกว่าจะได้ออกอัลบั้มเป็นระยะเวลานานมาก
“หนูลองเข้าไปอัดเสียงอยู่หลายครั้ง เมื่อก่อนเราไม่ได้อยู่ที่อาร์สยาม แต่งานเราก็โดนหยุดไป จนเรารู้สึกท้อ มาเริ่มงานที่อาร์สยามก็ต้องรอ จนถึงจุดหนึ่งที่เขาตัดสินใจว่า ถึงเวลาของวิแล้ว ถือว่าดวงมากเลย เคยคิดกลัวเหมือนกันว่ากลัวพี่ๆ ที่มาก่อนจะไม่ชอบเราเอาเพราะเขามาก่อนแต่ยังไม่ได้ออกอัลบั้ม พอได้มาทำ มีโอกาสก็ดีใจมากค่ะ เราร้องเพราะใจรักล้วนๆ ตอนนี้ก็มีอัลบั้มพิเศษ สุทธิราช - วิรดา วงศ์เทวัญ กับค่ายอาร์สยามให้ติดตามกันค่ะ
“ประสบการณ์การทำงานอัลบั้มเพลงครั้งแรก จะยากก็ไม่ยากมาก เพราะเรารักที่จะร้องเพลง เรามีใจรักอยู่แล้ว เราก็สู้จนวันหนึ่งเราได้ทำ อัลบั้ม เพราะเราได้ทำงานกับพี่ชายด้วยมั้งก็เลยง่ายค่ะ ร้องกันคนละ 5 เพลง มีเพลงเต้นด้วย ก็มีครูมาสอน เราก็ได้เรียนรู้อะไรจากครูทุกอย่างแล้วเอาไปถ่ายทอดให้แดนเซอร์ที่คณะลิเกด้วย”
เด็ก (ติด) บ้านนอก
ตอนนี้ เธอเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ การเมืองการปกครอง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม วิทยาเขต ชัยนาท ที่เธอเลือกเรียนทางด้านนี้ เพราะเห็นว่าอยู่ใกล้บ้าน โดยส่วนตัวแล้วเองเป็นเด็กติดบ้าน ไม่ว่าพี่ชายจะชวนออกไปงานด้วยเธอจะขอตัวอยู่บ้านเพื่อรอทำงานของตัวเองให้เสร็จ และตนเองจะได้รีบกลับบ้าน
“เพราะหนูไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหนไกลๆ พอเข้าวงการหลายคนก็ถามพี่กุ้งว่า เอาน้องสาวไปไว้ที่ไหน เพราะคนก็คิดว่าพี่กุ้งไม่มีน้องสาว น้องจากคนที่เคยดูพวกเราเล่นลิเก เขาจะรู้ว่าเป็นน้องพี่กุ้งค่ะ เพราะวิเป็นคนติดบ้าน อยู่ทำงานที่กรุงเทพฯ 5 วัน ก็อยากกลับบ้านแล้วค่ะ ไปมาชัยนาทก็ชินแล้ว เราไม่ชอบอยู่ในที่คับแคบ อึดอัด ชอบที่โล่งๆ สบายๆ เจอกรุงเทพฯแบบนี้ กลับบ้านนอกดีกว่าค่ะ เพราะวิถีชีวิตมันเรียบง่าย มันเป็นบ้านเราจะไปไหนก็ได้”
เธอบอกว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นางเอกลิเกอย่างเธอได้มาเป็นนักร้องลูกทุ่ง เพราะส่วนตัวอยากจะเผยแพร่และส่งเสริมงานลิเกด้วย ลิเกที่เล่นเป็นคณะเช่นนี้เหลือไม่มากนัก
“หลังๆ วัยรุ่นน้อยมากที่จะมาดูลิเกค่ะ หนูอยากให้เขามาดูกันเยอะๆ บางครั้งก่อนเล่นลิเก คณะเราจะมีคอนเสิร์ตให้ดูก่อน มันไม่ใช่งานที่เราทำลายศิลปะไทย แต่เป็นการประยุกต์ปรับเปลี่ยนโชว์เพื่อให้วัยรุ่นสนใจมากขึ้น พอบางคนรู้ว่ามีลิเกเลยเขาก็อาจจะไม่อยากมา แต่พอมีคอนเสิร์ตก็อยากจะดูคอนเสิร์ต แล้วมีลิเกมาทีหลังเขาก็อาจจะนั่งดูต่อก็ได้ ”
ดูเธอเป็นสาววัยรุ่นสดใส ไม่ได้หมายความว่าเธอจะต่างจากวัยรุ่นทั่วไป แต่วิรดาก็เป็นเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ฟังเพลงเกาหลีบ้าง ตามสมัยนิยม ซึ่งเธอเรียกว่าเป็นการรับฟังเพื่อจะเอานำมาปรับให้เหมาะกับเพลงของตนเองให้วัยรุ่นสนใจกันมากขึ้น
“เราอาจจะดูเป็นวัยรุ่นสดใส แต่ก็ร้องทั้งลูกทุ่ง ร้องเพลงได้ทุกแนวค่ะ แต่สุดท้ายจริงๆ แล้ว เราชอบลูกทุ่งมากกว่า เราดูทุกอย่าง แต่ลูกทุ่งเป็นหัวใจของเรา เราร้องแล้วรู้สึกมั่นใจ เราร้องได้ ไม่ได้อายใครเพราะมันคือความเป็นไทย อยากสนับสนุนเรื่องนี้เหมือนกัน
ถามว่าอายเพื่อนๆ ไหม ไม่อายค่ะ เราชอบศิลปะบ้านเรา ชอบลิเก เมื่อก่อนคนอาจจะดูถูกคนเล่นลิเกนะ แต่เดี๋ยวนี้มองว่าเป็นเรื่องของความสามารถพิเศษ ลองให้คนร้องเพลงเพราะๆ มาร้องเพลงดู เค้าก็ร้องไม่ได้หรอกค่ะ เพราะเขาไม่รู้วิธีการเอื้อน แต่สำหรับหนูอาจจะเป็นที่สายเลือดมั้ง แต่หนูนับถือเด็กที่เขาสามารถร้องได้ทั้งๆที่พ่อแม่เขาไม่ได้เป็นลิเกเลยด้วยซ้ำ เด็กเหล่านั้นเก่งมากค่ะ”
วิรดาเธอได้เดินทางตามความฝันอยากจะเป็นนักร้องลุกทุ่ง ควบคู่ไปกับการเป็นนางเอกลิเกในคณะของครอบครัวที่เธอฝันเอาไว้ว่าอนาคตอยากให้ลิเกดูทันสมัยมากขึ้นและมีคนดูมากขึ้นทุกวัน แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักก็ทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยเหล่านั้นไปได้ และในอนาคตทุกคนอาจจะได้เห็นคณะลิเกรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของนางเอกลิเก ชื่อดังอย่าง “วิรดา วงศ์เทวัญ” อย่างแน่นอน
**********************************************
กระแส “คันหู” อยู่ที่การนำเสนอ
ในฐานะนักร้องลูกทุ่งที่มองถึงประเด็นที่มีอยู่ในกระแสสังคมที่ผ่านมาว่า วิรดาให้ความเห็นว่า การร้องเพลงลูกทุ่ง จุดประสงค์แท้จริงอยู่ที่การนำเสนอว่าคนร้องอยากนำเสนอในแบบไหน เพราะเพลงลูกทุ่งสามารถเป็นตัวแทนความรู้สึก การเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ เรื่องของดนตรีไม่ได้ทำให้อะไรๆ มันแย่ลง เพราะมันอยู่ที่การนำเสนอว่าเราอยากนำเสนอในรูปแบบไหนมากกว่า
“เพลงลูกทุ่งอาจจะเป็นเพลงอีกแนวหนึ่ง ซึ่งถ้าหลายคนฟัง หลายเพลงอาจจะมีส่อไปในทางนั้น แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องแบบนั้น หนูว่ายังไงเพลงลูกทุ่งก็ไม่ตายไปจากคนไทยหรอกค่ะ ไม่ว่าคุณจะฟังแนวไหน แต่สุดท้ายลูกทุ่งก็คือบ้านเราที่หาฟังไม่ได้จากที่ไหน เพราะเพลงลุกทุ่งเกิดมากับคนไทยจริงๆ”
************************************************
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ นางสาววิรดา อุสุภะ หรือ วิรดา วงศ์เทวัญ
ชื่อเล่น วิ อายุ 23 ปี
เกิดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2530
ส่วนสูง 157 ซม. น้ำหนัก 45 กก.
มีพี่น้อง 2 คน เป็นคนที่ 2
พี่คนโตเป็นผู้ชาย ชื่อ สุธิราช อุสุภะ (วงศ์เทวัญ)
ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมชัยนาท ปี4
คณะ รัฐประศาสนศาสตร์
ศิลปินที่ชื่นชอบ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ฝน ธนสุนทร
ความสามารถพิเศษ แสดงลิเก ร้องเพลง
สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือ ได้มีครอบครัวที่อบอุ่น
**************************************************
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย พงษ์ศักดิ์ ขวัญเนตร