หากพูดถึงการแสดงพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาเป็นเวลานาน และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน หลายคนคงนึกถึง “ลิเก” การแสดงพื้นบ้านของทางภาคกลางที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่และคนวัยสูงอายุ และเมื่อพูดถึงลิเก ก็จะนึกตามไปถึงเครื่องแต่งกายอันแพรวพราว เสียงหวานไพเราะและท่ารำอ่อนช้อยของนักแสดง รวมไปถึงภาพแม่ยก พ่อยกที่คอยให้กำลังใจนักแสดงชิดติดขอบเวที
อย่างไรก็ตาม “ลิเก” เป็นมากกว่าการแสดง แต่ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา และมีพัฒนาการในการแสดงมาโดยตลอด ควรที่จะสืบสานให้คงอยู่ต่อไป
พัฒนาการทีละขั้นของลิเก
ความเป็นมาของลิเกในเมืองไทยมีมานานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อมูลจากสารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯ โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต ปราชญ์ด้านศิลปะการแสดง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลิเกในยุคต่างๆ ไว้ว่า ลิเกในยุคแรก คือ “ยุคลิเกสวดแขก” เป็นยุคที่ชาวไทยมุสลิมจากภาคใต้เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และนำการแสดงลิเกเข้ามาด้วย แต่ในสมัยนั้นจะสวดเป็นลำนำอย่างแขกเข้ากับจังหวะรำมะนา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ลูกหลานชาวไทยมุสลิมจึงได้ใช้ภาษาไทยแทนภาษามลายูในการแสดง
ต่อมาจึงเป็นยุคของ “ลิเกออกภาษา” ที่นำเพลงออกภาษาของการบรรเลงปี่พาทย์ และการสวดคฤหัสถ์ ในงานศพสมัยรัชกาลที่ 5 มาต่อท้ายการแสดงลิเก (เพลงออกภาษาเป็นการแสดงที่นำภาษาพูดและเพลงที่ขับร้องโดยชาวต่างชาติมาล้อเลียน) โดยลิเกจะเริ่มต้นการแสดงด้วยการสวดแขกซึ่งเป็นการออกภาษามลายูเพราะถือว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล แล้วค่อยต่อด้วยภาษาอื่นๆ เช่น มอญ จีน ลาว ญวน พม่า เขมร ญี่ปุ่น ฝรั่ง ชวา อินเดีย ตะลุง (ปักษ์ใต้)
ความสนุกของลิเกในยุคนี้อยู่ที่ทำนองของเพลง ซึ่งนำมาจากชาวต่างชาติต่างๆ และแต่งเพิ่มขึ้น รวมถึงเอาเครื่องดนตรีที่หลากหลายมาใช้ เช่น กลองแขก ตีประกอบเพลงแขก การแสดงออกภาษาเป็น การแสดงตลกชุดสั้นๆ ติดต่อกันไป ต่อมาปรับปรุงการแสดงมาเป็นเริ่มต้นด้วยสวดแขกแล้วต่อด้วยชุดออกภาษาแสดงเป็นละครเรื่องยาวอีก 1 ชุด
มาถึง “ยุคลิเกทรงเครื่อง” ที่เป็นการแสดงลิเกออกภาษาในส่วนที่เป็นสวดแขก ได้กลายเป็น “การออกแขก” มีผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบชาวมลายูออกมาร้องเพลงอำนวยพร ส่วนเพลงออกภาษาต่างๆ กลายเป็นละครเต็มรูปแบบ ส่วนเครื่องแต่งกายจะหรูหราเลียนแบบข้าราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเรียกว่า ลิเกทรงเครื่อง และมีการแสดงในโรง (วิก) และเก็บค่าเข้าชม ในยุคนี้ลิเกทรงเครื่องแพร่หลายไปทั่วภาคกลางอย่างรวดเร็ว มีวิกลิเกเกิดขึ้นมากมาย มีการนำเนื้อเรื่องและขนบธรรมเนียมของละครรำมาใช้ จนถึงขั้นแสดงเรื่องอิเหนา ตามบทพระราชนิพนธ์ ความนิยมของลิเกมีถึงขนาดว่าช่วงปลายยุคนี้เริ่มมีการออกอากาศการแสดงลิเกทางวิทยุเลยทีเดียว
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ “ยุคลิเกลูกบท” ใช้ปี่พาทย์แทนรำมะนาและเปลี่ยนมาแต่งกายแบบสามัญ เนื่องจากเป็นยุคสภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่ความนิยมในการชมลิเกไม่ได้ลดน้อยลง ยังคงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เนื้อเรื่องที่แสดงเปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่
ต่อมาจนถึง “ยุคลิเกเพชร” ที่ชื่อเรียกได้มาจากเครื่องแต่งกายที่ส่วนใหญ่มีเพชรเทียมประดับ ดูอลังการมากขึ้นหลังจากที่บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีทั้งเสื้อกั๊กปักเพชรทับเสื้อคอกลม สวมสนับเพลา แล้วนุ่งผ้าโจงทับอย่างตัวพระของละครรำ สวมถุงน่อง สีขาว เหมือนลิเกทรงเครื่อง เอาแถบเพชร หรือ “เพชรหลา” มาทำสังเวียนคาดศีรษะ ประดับขนนกสีขาว คาดสะเอวเพชร แถบเชิงสนับเพลาเพชร นอกจากนั้น การแสดงลิเกยุคนี้ยังมีความหลากหลายเพราะนำการแสดงประเภทอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้เป็นที่นิยม เช่น เพลงลูกทุ่ง การนำม้าขึ้นมาขี่รบกันบนเวที การทำฉากให้ดูสมจริง เป็นต้น
จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นยุคของ “ลิเกลอยฟ้า” ที่ได้ขยายขนาดเวทีการแสดงออกไปให้ใหญ่โตขึ้น และไม่มีหลังคา จึงเรียกว่าลิเกลอยฟ้า และการแต่งตัวของนักแสดงในยุคนี้ก็เพิ่มเครื่องเพชรให้มากขึ้นไปยิ่งกว่าแต่ก่อน อีกทั้งเรื่องราวยังมีบทเจรจามากขึ้น เนื้อเรื่องดำเนินไปรวดเร็วทันใจ สนุกสนาน
ส่วนคณะลิเกชื่อดังตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้นก็มีหลายคณะด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นลิเกรุ่นเก๋าอย่างคณะลิเกหอมหวน คณะลิเกบุญยัง เกตุคง คณะลิเกพงษ์ศักดิ์ สวนศรี หรือคณะลิเกขวัญใจแม่ยกยุคปัจจุบันอย่างคณะลิเกไชยา มิตรชัย คณะลิเกกุ้ง สุทธิราช ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีรายได้ในการแสดงต่อคืนนับแสนบาทเลยทีเดียว
ลิเกไทยไฮเทค
ในตอนนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุคใหม่ล่าสุดของลิเก ที่พัฒนามาจนเรียกว่า “ลิเกไฮเทค” เป็นยุคที่ทันสมัยที่สุดของลิเกก็ว่าได้ เพราะมีการนำเอาเทคโนโลยีอันหลากหลายมารวมไว้ในการแสดงลิเก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ในงาน “มหัศจรรย์มรดกไทย...ลิเก” ที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราก็ได้เห็นการแสดงลิเกที่มีการใช้เทคนิคมัลติมีเดีย แสง สี เสียง มาประกอบกัน เพิ่มความทันสมัยด้วยฉากลิเกแอลอีดีขนาดใหญ่ สามารถเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉากท้องพระโรง ฉากสนามรบ ฉากห้องนอน หรือฉากบ้านเรือนต่างๆ ก็ทำได้รวดเร็วทันใจ นอกจากนั้นฉากก็ยังเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น ฉากเหาะเหินเดินอากาศ ฉากหลังก็จะเคลื่อนตาม หรือฉากในป่าเขาก็จะมีนกบิน ผีเสื้อบินตาม เป็นต้น ก็ยังช่วยเสริมความสมจริงและความสนุกสนานตื่นเต้นให้กับการชมลิเกได้เพิ่มมากขึ้นอีก
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ กล่าวถึงการปรับตัวและการพัฒนาของลิเกในปัจจุบันว่า “ลิเกเป็นตัวแทนของคนไทยระดับรากหญ้า แล้วก็มีความมั่นคง เหนียวแน่นอยู่กับคนไทยมายาวนานลึกซึ้ง สิ่งที่มันบ่งบอกถึงความมหัศจรรย์ ก็คือการร้องรำ เจรจา ด้นกลอน นี่คือความมีเสน่ห์ นอกจากนั้นชุดที่เห็นใส่กันอยู่นี้ราคาเป็นแสน คนที่จะเข้ามาอยู่ในวงการนี้และเป็นท็อปได้จะต้องร้อง เล่นได้ ด้นกลอนสด สำคัญ แล้วต้องมีการเรียนรู้ภาษาไทย วรรณคดีไทยอย่างลึกซึ้ง แล้วต้องด้นสดได้ ถึงจะเป็นสุดยอด”
“ลิเกเป็นวัฒนธรรมไทย เป็นมรดกชั้นสูง ถ้าเราอยากจะรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ ภาษา เพลงไทยเรา การไหว้ การกราบ การนอบน้อมเคารพครูบาอาจารย์ ต้องมาดูลิเก ลิเกรักษาไว้ได้ทั้งหมด ไม่ได้ละทิ้งไปเลย เขายังสามารถอนุรักษ์ของเก่าได้อย่างเต็มร้อย ขณะเดียวกันเขาก็ปรับตัวให้ทันสมัยได้โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์เดิม นี่คือสุดยอดความมหัศจรรย์” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ภูมิปัญญาลิเก
ไม่ว่าจะเป็นลิเกยุคเก่าหรือลิเกยุคไฮเทค แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงพบเห็นในลิเกก็คือภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมายาวนาน โดยงานวิจัยของ มณี เทพาชมพู ที่วิจัยเรื่อง “ลิเก : การอนุรักษ์และพัฒนาตามมิติทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้นำเสนอในการประชุมทางวิชาการทางวัฒนธรรมระดับชาติ “วิจัยวัฒนธรรมครั้งที่ 1” ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ภูมิปัญญาที่ปรากฏในการแสดงลิเกมีถึง 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ภูมิปัญญาทางภาษา ภูมิปัญญาด้านนาฏศิลป์ ภูมิปัญญาด้านเพลงและดนตรี ภูมิปัญญาด้านการแต่งกาย แต่งหน้า และภูมิปัญญาด้านเวที ฉาก แสงและเสียง
ส่วนภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในการแสดงลิเกแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ขนบประเพณี ค่านิยมและความเชื่อ การสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นไทย การใช้ภาษา วรรณคดี และวรรณกรรม ศิลปกรรมด้านนากศิลป์ ดนตรี จิตรกรรม และการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สิ่งเหล่านี้ได้สืบทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างไม่เปลี่ยนแปลงเพราะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของลิเกที่ต้องรักษาไว้ ขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมบางส่วนที่ได้สร้างขึ้นใหม่ ตามยุคตามสมัย
ภูมิปัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ การฝึกฝน การสั่งสมประสบการณ์และถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาดังเดิมที่เห็นว่าดีงาม ถูกต้องเหมาะสมไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาภูมิปัญญาบางอย่างไปตามยุคสมัยและสภาพสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อสร้างความสนใจ ชวนให้ผู้ชมติดตามผลงานจนถึงนิยามชมชอบในศิลปะการแสดงลิเก และส่งเสริมสนับสนุนลิเกต่อไป