ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จากการแกะรอยเหตุวินาศกรรมศูนย์การค้าหรูและโรงแรม 5 ดาว “ลี การ์เดนส์ พลาซ่า” ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองหาดใหญ่ พบว่า มีความเชื่อมโยงกับเหตุวางระเบิดย่านเศรษฐกิจถนนรวมมิตรกลางเมืองยะลา และสาวไปถึงกลุ่มมือวางระเบิด จยย.บอมบ์หน้า สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อวันเสาร์ที่ 31 มี.ค. ล้วนเป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มุ่งหวังการแบ่งแยกดินแดน อันเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกของ 3 จังหวัดชายแดนใต้
หากจับสัญญาณความเคลื่อนไหวในการก่อเหตุของพื้นที่เหล่านี้จะพบว่า แม้จะมีการก่อเหตุลอบยิงและวางระเบิดเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนชีวิตผู้บริสุทธิ์แทบทุกวี่วัน เสมือนเป็นเหตุการณ์สามัญที่เกิดขึ้นตามปกติแล้ว จะพบว่า เหตุคนร้ายยิงเอ็ม 79 จำนวน 2 ลูกลงกลางห้องนอนของ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อไทย มีนัยที่สำคัญเสมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าของแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนส่วนหนึ่ง ที่ต้องการตอบโต้กรณี “แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนรุ่นเก่า” เจรจาทางลับเพื่อยุติความรุนแรงกับตัวแทนภาครัฐ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวไปเมื่อเร็วๆ นี้
การเจรจาเกิดขึ้นมานานแล้ว ย้อนหลังสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องเผชิญกับการก่อเหตุรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งพลั้งปากประเมินศักยภาพฝ่ายตรงข้ามต่ำเกินไป จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง พ.ต.ท.ทักษิณจึงขอความช่วยเหลือจาก “มหาธีร์” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เคยมีบทบาทเป็นคนกลางมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผล
จนกระทั่งล่าสุดที่ความพยายามเหล่านี้ยังคงอยู่ แม้เจ้าตัวยังไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้ แต่ยังคงเป็นผู้กุมอำนาจบริหารรัฐไทยอย่างแท้จริงผ่านน้องสาวสุดรัก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยเมื่อวันที่ 18 มี.ค.55 เว็บไซต์ของขบวนการพูโลเผยภาพ พ.ต.ท.ทักษิณโอบไหล่นายฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าขบวนการ ณ โรงแรมหรูแห่งหนึ่งที่เอื้อเฟื้อความสะดวกจากผู้นำรัฐบาลใกล้ๆ ประเทศไทยนี่เอง
นอกจากนี้ ยังมีข่าวเล็ดรอดการพบกันของแกนนำในปัจจุบันกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) แต่จากเรื่องลับๆ กลับขยายความออกจากปากของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งหากการเจรจาเป็นผลนั้น คงไม่ต้องเจอเหตุการณ์ “จัดหนัก” จาก 3 จชต.ถึงเมืองหาดใหญ่ เพราะการนำเรื่องลับมาเปิดในที่แจ้งนี่เอง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปีนเกลียวแตกคอภายในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเอง ซึ่งมีรายงานว่าบางส่วนนั้นไม่ต้องการให้เกิดผลในทางการปฏิบัติ แกนนำที่ไม่เห็นด้วยจึงก่อเหตุความไม่สงบที่รุนแรงขึ้น
โดยเอ็ม 79 จำนวน 2 ลูกแรกตกลงบนหลังคาบ้านเจาะเพดานห้องนอนนายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อไทย เมื่อเช้ามืดวันที่ 30 มีนาคม 2555 เป็นสัญญาณเตือนแรกกับผู้ประสานงานในระดับล่าง ซึ่งมีบทบาทในการประสานระหว่างรัฐบาลและนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กวาดต้อนแนวร่วมก่อความไม่สงบให้กลับใจหันมาร่วมมือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเปิดฉากด้วย “คาร์บอมบ์” ย่านเศรษฐกิจกลางเมืองยะลาและกลางเมืองหาดใหญ่เสียหายยับเยิน
อย่างไรก็ตาม การก่อความไม่สงบใน 3 จชต.และ 4 อำเภอของ จ.สงขลานั้น แม้จะมีความเกี่ยวโยงกับธุรกิจของเถื่อนทั้งหลาย แต่ “ธง” ของคนกลุ่มนี้ก็ยังคงชัดเจนคือแบ่งแยกดินแดน และยังคงมีแนวร่วมที่แฝงตัวก่อเหตุความไม่สงบราว 4-5 พันคน
จะเห็นได้จากการก่อเหตุวินาศกรรมห้างและโรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า อันถือเป็นกล่องดวงใจของเศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่นั้น มุ่งหวังทำลายชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรงในขั้นระดับ “ก่อการร้าย” ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงโดยตรงต่อผู้ที่ไม่ใช่ทหาร แต่มีเป้าหมายสาธารณะ และทำลายเศรษฐกิจ มิใช่เพียงการ “ก่อความไม่สงบ” ที่มีเป้าหมายโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่และผู้ที่สนับสนุน เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโค่นล้มรัฐบาล
อีกนัยหนึ่งนั้น อาคารลี การ์เดนส์ พลาซ่า สูง 33 ชั้น ซึ่งเป็นธุรกิจของ “เสี่ยฮง” หรือ นายวันชัย ลีละศิธร ในนามของบริษัท ลี การ์เดนส์ โฮเต็ล จำกัด เป็นทั้งศูนย์การค้าสรรพสินค้าที่มีแหล่งช้อปปิ้ง ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงแรมและห้องประชุมสัมมนา เสี่ยฮงมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างเครือข่ายวิทยุเครื่องแดงที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เป็นโต้โผ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ภาคประชาชนและผู้ประกอบการหาดใหญ่ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสความผิดปกติ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้ง อ.หาดใหญ่หมาดๆ
ทั้งนี้ จากการแกะรอยของเจ้าหน้าที่พบว่า เหตุการณ์ที่หาดใหญ่มีลักษณะการก่อเหตุที่เหมือนที่ยะลาและปัตตานี ด้วยการประกอบชนวนระเบิดบรรจุในถังแก๊สบรรจุรถยนต์หรือจักรยานยนต์ และทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคมเป็นฝีมือกลุ่มแนวร่วมที่ล้วนมีความสนิทชิดเชื้อกัน ซึ่งแหล่งข่าวด้านความมั่นคงเผยว่า เหตุการณ์ใน จ.ยะลานั้นเป็นฝีมือของกลุ่มนายสาหูดิน โต๊ะเจ๊ะมะ เป็นแกนนำ และสั่งการให้นายซัยฟุลลอฮ หรือซัยฟุลดิน ซาฟรุ ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงลงมือ โดยนายซัยฟุลดินเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับนายไฟศอล หะยีสะมะแอ ผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดสนามบินหาดใหญ่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2548
นอกจากนั้นยังได้ทีมจากพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา นายอับดุลเลาะ ปูลา ผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิด นายมะซอเร ดือราแม ผู้ต้องหาลอบวางระเบิดในพื้นที่ จ.ปัตตานี เป็นเพื่อนกับนายอับดุลเลาะ ปูลา ซึ่งผู้ต้องสงสัยทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกันได้ และเชื่อว่ามีการประชุมวางแผนกันในพื้นที่บ้านไบท์ ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 อาทิตย์
แต่ในทางการเมือง แม้คนในรัฐบาลจะหยิบยกเหตุผลว่า การที่คนร้ายก่อเหตุครั้งใหญ่ชุดนี้อาจจะเป็นเพราะความกดดันและแสดงความไม่พอใจต่อการกวาดล้าง จับกุม และตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ แต่ทว่าเหยื่อผู้บริสุทธิ์ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่สังเวยไป 14 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 500 คนในครั้งนี้ แม้จะมีความไม่พอใจและโกรธเคืองการกระทำอันป่าเถื่อนของแนวร่วม รวมถึงหวังว่าประชาชนจะหันกลับมาให้ความร่วมมือภาครัฐนั้น ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว
เพราะนั่นเป็นภาพสะท้อนกลับในการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐว่า ไม่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบนั้น แม้จะมีการมอบเงิน แต่ก็เพียงบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในด้านจิตใจนั้นเล่า รัฐได้ให้ความมั่นใจในความปลอดภัยเพียงใดที่จะรักษาบาดแผลใจให้คลายความหวาดผวา
โดยเฉพาะผู้ประสบภัยในเขตเทศบาลนคร จ.ยะลา ซึ่งตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากสูญเสียเครื่องมือและโอกาสในการประกอบอาชีพ บางคนยังสูญเสียคนที่รักในครอบครัวอีก ดังกรณี น.ส.กฤษณพร คคนางค์พงศ์ แม่ค้าขายเสื้อผ้า ซึ่งเพิ่งรอดชีวิตจากระเบิดหน้าร้านเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 คล้อยหลังเพียง 5 เดือนก็ประสบเหตุเลวร้ายระเบิดซ้ำอีกครั้ง ทำให้ “น้องไอซ์” ด.ญ.ศุภาพิชญ์ ลูกสาววัย 6 ขวบได้รับบาดเจ็บ และสูญเสียคนในครอบครัวไปรวม 3 คนในเหตุการณ์ล่าสุด
หรือความอัดอั้นตันใจของ นายอุดม แซ่ตั้น อายุ 52 ปี ซึ่งเครียดจากเหตุร้ายที่ทำให้ร้านขายเสื้อผ้าของน้องสาวและลูกสาวเสียหายจากเหตุระเบิด จึงพยายามเข้าปรี่เข้าประชิดตัวเพื่อสอบถามนายยุงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ซึ่งเดินทางให้กำลังใจผู้ประสบเหตุใน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แม้ครั้งนี้จะโชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ลุงอุดมนั้นกลับถูกอดีตที่เลวร้ายกรีดซ้ำหัวใจ เนื่องจากเคยถูกกลุ่มแนวร่วมใช้อาวุธสงครามไล่ยิงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ระหว่างที่ไปหาสัตว์ป่าใน จ.ปัตตานี ทำให้น้องชายและหลานถูกยิงเสียชีวิตรวม 3 ศพ
หันมามองโครงสร้างและหน่วยงานรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่อยู่ในพื้นที่ 3 จชต.นั้น ที่ผ่านมาถูกรื้อๆ ยุบๆ ตามการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถืออำนาจรัฐมาตลอด และต้องยอมรับว่าลึกๆ แล้วในพื้นที่นี้เองมีการเมืองภายในที่แย่งชิงอำนาจไม่ด้อยไปกว่าการเมืองส่วนกลางเลยทีเดียว จึงมีความพยายามลดทอนอำนาจและการทำงานที่ยังบูรณาการทำงานไม่เข้าขากันดีนักจากของทุกหน่วยงานรัฐ
โดยเฉพาะการตั้ง ศอ.บต.ตามกฎหมายใหม่ที่ออกในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งให้อำนาจการบริหาร กฎหมาย งบประมาณและบุคลากรเป็นของตัวเอง พร้อมยกนายภานุ อุทัยรัตน์ ขึ้นไปนั่งกุมบังเหียนในฐานะเลขาธิการ ศอ.บต.คนแรกจากระดับ 10 เป็นระดับ 11 ก่อนจะถูกเป่าออกในรัฐบาลของระบอบทักษิณชุดนี้ โดยตั้ง “สายตรงทักษิณ” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาดำรงตำแหน่งแทน ว่ากันว่าให้มาขึ้นระดับ 11 เพื่อหวนกลับไปใหญ่ในเมืองหลวงกินตำแหน่งปลัดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
แต่ก็ไม่วายถูกฝ่ายทหารที่ต้องการเกลี่ยอำนาจที่ไม่ลงตัวทำการ “บอนไซ” ไม่ให้ ศอ.บต.ใหญ่ข้ามหน้าข้ามตาในพื้นที่ โดยเฉพาะกับ พ.ต.อ.ทวีที่เป็นระดับ 11 ต้องการให้ประจำฐานที่มั่นในกรุงเทพฯ ส่วนในชายแดนใต้ให้ตั้ง “ผอ.ศอ.บต.ส่วนหน้า” ที่ระดับไม่ใหญ่กว่าขึ้นมารับช่วงต่อ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสะเก็ดแผลลึกๆ ที่ทำให้การสอดประสานทำงานไม่ลงตัว เป็นอีกหนึ่งช่องโหว่ในการบูรณาการทำงานนั่นเอง
และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลความแตกแยก หรือผิดพลาดประการใด ประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้วนเป็นตกเป็นเหยื่อ และเหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มแต่จะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่เลือกศาสนาและเชื้อชาตินั่นเอง