xs
xsm
sm
md
lg

เร่งซ่อม“ดอนเมือง” เข้าข่ายคอรัปชั่นแจกกระจุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 เม.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวปาฐกถาเรื่องจริยธรรมกับทางรอดประเทศไทย : ปัญหาและทางออก ในงาน สัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอนหนึ่งว่า หากสังคมไทยไม่มีจริยธรรมประเทศไทย ไปไม่รอด ขอฝากให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เดินหน้าในเรื่องสร้างจิตสำนึกของประชาชนที่ไม่ยอมรับ การคอรัปชั่น และไม่ยอมรับคนที่ทำทุจริตผิดกฎหมาย
“ผมอยากสร้างกระแสความกดดัน แม้จะไม่ถึงขับไล่ แต่ต้องแสดงออกว่าให้บุคคลนั้นรู้ว่าสังคมไม่ยอมรับ เหมือนคนเมายาบ้า หรือเป็นโรค ที่สังคมรังเกียจ ผมอยากให้เอแบคโพลล์ เปลี่ยนคำถามระบุว่า ยอมรับได้หรือไม่หากรัฐบาลโกง แล้วประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติเจริญ เปลี่ยนให้เป็นเชื่อหรือไม่ว่าหากรัฐบาลโกง แล้วจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีหรือชาติเจริญ” นายกล้านรงค์ กล่าว
ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาคเอกชนจ่ายสินบนให้กับผู้มีอำนาจรัฐ กำลังระบาดอย่างกว้างขวางและสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ แยกเป็น“ได้กระจุกเสียกระจาย”คือการใช้หลักการที่ว่าเมื่อไม่มีผู้รู้สึกเสียหายย่อมไม่มีผู้ร้องเรียน เป็นการกระจายต้นทุนความเสียหายให้ทั่วๆกัน เช่นการทุจริตในงบประมาณ ถ้าทุจริต 6,500 ล้านบาทจากงบประมาณส่วนกลาง ทุกคนจะเสียหายเพียง 100 บาท ทำให้ทุกคนไม่มีความรู้สึกว่าตนเองเสียหาย
นอกจากนี้ยังมีวิธีแจกกระจุกเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เช่น การลงทุนขนาดใหญ่ในภาครัฐหรือวิสาหกิจที่มีการตัดค่าเสื่อมราคาในระยะยาว สามารถกล่าวอ้างถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยยากที่จะพิสูจน์ผลโดยระยะสั้น เป็นการผลักภาระต้นทุนความเสียหายให้แก่ผู้เสียภาษีในอนาคต บางครั้งก็ใช้วิธีการจ้างผู้เชี่ยวชาญกำมะลอมาช่วยยืนยันการศึกษาข้อมูลเป็นไปได้ เพื่อผลักดันโครงการที่ไม่มีความคุ้มค่าอย่างแท้จริง อย่างการอนุมัติงบประมาณซ่อมสนามบินดอนเมือง 1,000 ล้านบาท อย่างรีบด่วน ทั้งที่ไม่มีแผนใช้งานที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันขาดทุนเดือนกว่า 20 ล้านบาท และการกำเนิดกลไกตัวแทนตัวกลาง ผู้ประสานงานการทุจริตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะและเป็นการถาวรสามารถสนองต้อ ความต้องการในการคอรัปชั่นให้แก่ทุกขั้วอำนาจการเมือง ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่ขั้วอำนาจก็ตาม ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่รุนแรง เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก โดยไม่ได้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจขึ้นเลย แต่เอาส่วนแบ่งค่าตอบแทนในสัดส่วนที่สูง เช่นการจัดซื้อจัดจ้างด้านสารสนเทศ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน ยากต่อการประเมินคุณค่าได้ ทุกคนรู้ถึงความชั่วร้ายของการคอรัปชั่น แต่ก็มีการสร้างค่านิยมที่เชื่อว่าการแก้กรรมสามารถทำได้ เช่นการสร้างวัด สร้างพระ ก็หายได้ ซึ่งมหาเศรษฐีไทยจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่มนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น