xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดสับปะรดยอม!1.3พันล.แลกเปิดเพชรเกษม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ม็อบสับปะรดหลายจังหวัด ฮือปิดเพชรเกษม เท!สัปปะรดเกลือนถนน ทำจราจร 14 จังหวัดภาคใต้อัมพาต สุดท้ายยอมสลาย หลังทราบมติบอร์ดสัปปะรด ยอมเสนอครม.ของบ กลาง 1.3 พันล้านซื้อสัปปะรดแก้ไขราคาตกต่ำ

ตั้งแต่เวลา 08.00 น.วานนี้ (30 มี.ค.) ที่บริเวณลานศูนย์กลางการเกษตร เนินเขาช่อง 9 บ้านอ่าวน้อย ต.อ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ริมถนนเพชรเกษมฝั่งขาลงภาคใต้ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่สับปะรดจาก จ.ระยอง ชลบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ราชบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 3,000 คน พร้อมรถยนต์ส่วนตัว และมีการขนสับปะรดใส่รถยนต์ปิกอัพมาอีกเกือบ 40 คันมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาสับปะรดตก โดยส่วนใหญ่ยืนยันไม่ไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล เนื่องจากไม่มีความจำเป็น โดยยืนยันจะปักหลักรอฟังคำตอบจากรัฐบาลที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการฯ สับปะรดแห่งชาติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งหากมีการอนุมัติตามข้อเสนอจัดซื้อสับปะรด 1 แสนตัน ออกนอกระบบด้วยวงเงิน 800 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรก็จะสลายตัวไป แต่หากไม่เป็นไปตามที่เสนอก็จะมีการยกระดับการชุมนุมรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยการปิดถนนเพชรเกษมทันที

ด้านนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงการชุมนุมในครั้งนี้ว่า ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมอย่าได้เคลื่อนตัวออกมาปิดถนนเพชรเกษมโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้ถนน ขอให้รอฟังคำตอบในช่วงเย็นวันนี้ ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะอนุมัติการช่วยเหลือเกษตรกร

ขณะที่ พล.ต.ต.วิเชียร ตันตะวิริยะ ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งจังหวัดกว่า 400 นาย พร้อมชุดควบคุมฝูงชน กระจ่ายกำลังแยกย้ายประจำตามจุดต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์

**เทสับปะรดปิดถนนเพชรเกษม

เวลา 11.15 น.กลุ่มเกษตรกรผู้ชุมนุมได้ยกระดับการชุมนุมด้วยการตัดสินใจปิดถนนเพชรเกษม และนำสับปะรดมาเทลงบนถนนทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งขาลง 14 จังหวัดภาคใต้ และฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ บริเวณถนนเพรชเกษม ระหว่าง กม.ที่ 312 เนินเขาช่อง 9 ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ทำให้การจราจขาลงใต้ทั้ง 14 จังหวัด และฝั่งเข้ากรุงเทพฯ เป็นอัมพาต ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ และตำรวจภูธรประจวบคีรีขันธ์ ต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ และจัดเส้นทางเลียงม็อบทันที

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะ จะได้เข้าเจรจากับแกนนำม็อบเพื่อขอให้เปิดทาง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอม ทำให้บรรยากาศตึงเครียดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มีการเจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเส้นทางสำหรับรถฉุกเฉิน รถพยาบาล และผู้เจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งทางกลุ่มผุ้ชุมนุมก็ตอบรับสำหรับเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ เส้นทางเลี่ยงเมืองที่เข้ากรุงเทพฯ บริเวณบ้านนิคม ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบฯเพื่อไปออกเส้นทางบริเวณสี่แยกบ่อนอก ก็ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมแบ่งกำลังออกไปปิดถนนเช่นกัน เพื่อให้การจราจรทั้งขาเข้ากรุงเทพฯ และลงภาคใต้เป็นอัมพาตจริงๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทางจังหวัดได้พยายามเจรจากับแกนนำและผู้ชุมนุมแต่ก็ไม่เป็นผล

**สลายได้ครึ่ง ชม.ฮือชุมนุมต่ออีก

ต่อมาเวลา 13.00 น.ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้ง โดยแจ้งให้กับทางกลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อน ซึ่งมีผลผลิตมวลรวม 2 แสนตัน โดยจัดซื้อในราคากิโลกรัมละ 4 บาททั้งหมดออก ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ชุมนุมอยู่บริเวณถนนเพรชเกษม ระหว่าง กม.ที่ 312 เนินเขาช่อง 9 ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เห็นว่ามีผลเป็นที่น่าพอใจ จึงยอมสลายตัวและเปิดเล้นทางการจราจรทั้ง 2 ฝั่งให้รถสามารถวิ่งได้ตามปกติ

แต่หลังจากนั้นเพียงครึ่งชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมอีกส่วนได้นำรถยนต์ปิคอัพ และรถบรรทุกขนสับปะรดไปโยนทิ้งบนผิวการจราจรเพื่อปิดถนนบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง ส่งผลให้การจราจรทั้งฝั่งขาขึ้นและขาล่องติดขัดอย่างหนักอีกยาวกว่า 10 กว่า 10 กิโลเมตร โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ และ ผบก.ภ.จว.ประจวบฯ เดินทางไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกจุดหนึ่งที่ปิดถนนอยู่ที่บริเวณสี่แยกบ่อนอก

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่า "ถึงแม้รัฐบาลจะยอมช่วยเหลือแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรต้องการให้นายกรัฐมนตรี ลงมาเจรจาข้อตกลงด้วยตัวเอง โดยเห็นว่าต้องช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดทั้งหมด รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนด้วย และจะไม่เจรจากับผู้ที่ตัดสินใจไม่ได้อีกแล้ว" ทำให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความตรึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากประจวบฯ และ อส.หลายร้อยนายพร้อมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เข้ารักษาความสงบและกระจายกำลังอยู่โดยรอบพื้นที่การชุมนุมที่สี่แยกบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบฯ

**เสนอครม.ของบกลาง 1.3 พันล้าน

เวลา 15.00 น.นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติว่า ที่ประชุมมีมติเสนอคณะรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย.นี้ขอใช้งบกลางวงเงิน 1.3 พันล้านบาทเพื่อดำเนินการซื้อสับปะรดส่วนเกินที่คาดว่าจะมีประมาณ 2 แสนตันออกนอกระบบโดยมีเงื่อนไขการรับซื้อจากเกษตรกรที่ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัมใน 20 จังหวัดซึ่งเป็นแหล่งผลิต โดยการรับซื้อดังกล่าวจะนำไปใช้ผลิตเป็นปุ๋ย น้ำหมัดชีวภาพ และจ้างเอกชนผลิตเป็นสัปปะรดกระป๋องเพื่อรอการจำหน่ายเมื่อราคาดีขึ้น

“คาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะได้รับการพิจารณาจากครม.เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตร ซึ่งทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องเพราะจะเปิดโรงงานรับซื้อในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย.ด้วยเช่นกันเพื่อรับซื้อผลผลิต”นายชุมพลกล่าว

นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ นายกสมาคมอุตสากรรมสัปปะรดไทยกล่าวว่า ทางโรงงานพร้อมที่จะเปิดรับซื้อสัลปะรดเพื่อดำเนินการผลิตตามที่คณะกรรมการนดยบายมีมติ ซึ่งหลังจากข่าวนี้ออกไปก็คาดว่าจะทำให้ทางประเทศผู้ริโภคเช่นสหภาพยุโรปและสหรัฐมีคำสั่งซื้อเข้ามาเนื่องจากที่ผ่านมาผู้นำเข้าทราบว่าผลผลิตจะมีจำกัด

สำหรับโครงการดังกล่าวได้มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด(คพจ.)ทั้ง 20 จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสับปะรดไปดำเนินการรับซื้อ โดยจะดำเนินการใน 3 โครงการคือ 1. รับซื้อเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ และน้ำหมักชีวภาพโดยกรมปศุสัตว์และกรมพัฒนาที่ดิน 2. โครงการรับซื้อเพื่อแปรรูปเพื่อบริโภคโดยจะจ้างเอกชนผลิตเพื่อรอกจำหน่ายในช่วงที่ราคาผลผลิตดีขึ้นโดยเป็นการรับซื้อเนื้อสับปะรดจำนวน 800 ล้านบาทและงบสำหรับการดำเนินการประมาณ 400 ล้านบาท และ 3.โครงการเสริมสภาพคล่องโรงงานแปรรูป โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขยายเวลาการทำ Packing Credits ให้กับทางโรงงานไปจนถึงสิ้นปีด้วย

*ม๊อบยอมสลายทราบมติ

จนเวลา 16.00 น.หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับทราบมติของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ เพื่อรับซื้อผลผลิตออกนอกระบบจำนวน 2 แสนตัน ในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ชาวบ้านจึงยอมสสายการชุมนุม
กำลังโหลดความคิดเห็น