xs
xsm
sm
md
lg

ผวาขึ้นค่าแรง ขนส่งLPGโวย ขอขึ้นราคาอีกถังละ5บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ค้าแอลพีจีมึนราคาดีเซลพุ่งเกินพิกัดดันต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม 5 บาทต่อถัง (15 กก.) แถม 1 เม.ย. ค่าแรงขึ้น 300 บาทต่อวันถล่มซ้ำ เตรียมยื่นพาณิชย์ขอขยับค่าขนส่งแอลพีจีภายในเม.ย. 55 มากกว่า 5 บาทต่อถัง ขณะที่สัปดาห์นี้ถกแก้ราคาเอ็นจีวีเล็งยื่นรัฐปรับ 4 บาทต่อ กก. เอกชนชี้ "ปู" เอาไม่อยู่ค่าครองชีพสูง ด้าน ปชป.ตั้งวงเสนวนา อัดรัฐบาลทำของแพงทั้งแผ่นดิน

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนำร่อง 7 จังหวัดมีผล 1 เม.ย. 2555 นี้ทำให้สมาคมฯอยู่ระหว่างการรวบรวมถึงผลกระทบต่อต้นทุนของร้านค้าแอลพีจีทั่วประเทศในส่วนของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นรวมกับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงถึง 32.33บาทต่อลิตรเพื่อนำเสนอกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในการขอปรับเพิ่มค่าขนส่งแอลพีจีที่ปัจจุบันอยู่ที่ 10 บาทต่อถัง(15กิโลกรัม)ภายในไม่เกินเม.ย. 2555

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะตัวเลขผลกระทบจากน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นจาก 25 บาทต่อลิตรมาอยู่ที่ 32.33 บาทต่อลิตรหรือสูงกว่า 30 บาทต่อลิตรได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งแอลพีจีให้กับผู้ค้าแอลพีจีประมาณ 5 บาทต่อถัง 15 กก.หรือเฉลี่ยกก.ละ30 สตางค์ ดังนั้นเมื่อมีค่าแรงเข้ามาบวกเพิ่มอีกก็จะส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งให้เพิ่มมากกว่า 5บาทต่อกก.แต่ตัวเลขคงจะต้องรวบรวมอีกครั้ง

“แรงงานในร้านค้าแอลพีจีทั่วประเทศมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 40,000-50,000 คนซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยมีทั้งที่เกิน 300 บาทต่อวันและอยู่ที่ระดับ 220-250 บาทต่อวันเมื่อขั้นต่ำเพิ่มขึ้นก็ย่อมดันให้ค่าแรงทั้งระบบเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและปีแรกนำร่องแค่ 7 จังหวัดแต่ในปี 2556 ก็จะเป็นทั่วประเทศ และค่าขนส่งปัจจุบันที่อยู่ระดับ 10 บาทต่อถัง(15กก.)นั้นคำนวณจากฐานน้ำมันดีเซลที่ 25บาทเท่านั้นจะเห็นว่าการที่เราขอปรับขึ้นนั้นเราได้แบกรับภาระก่อนหน้านี้มามากแล้ว”นายชิษณุพงศ์กล่าว

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สัปดาห์นี้จะหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับกรอบเบื้องต้นในการพิจารณาแนวทางปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ เอ็นจีวีที่รัฐบาลได้กำหนดการทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกก.จนครบ 6บาทต่อกก.ในเดือนธ.ค.นี้ซึ่งทางผู้ประกอบการยืนยันที่จะให้ปรับเบื้องต้นไปก่อน 2 บาทต่อกก.และที่เหลือ 4 บาทต่อกก.จะขอหารือใน 3 ประเด็นหลักคือ 1. ต้นทุนปตท. 2.โครงสร้างภาษีต่างๆ และ 3.ความคุ้มทุนของผู้ประกอบการที่ใช้เอ็นจีวี

“เราต้องการให้รัฐบาลทำเรื่องนี้ให้จบไปเลยทีเดียวโดยต้องการให้คิดถึงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของเอ็นจีวีด้วยเพราะเชื่อว่าที่สุดอนาคตจะต้องมีซึ่งการทำทีหลังจะยุ่งยากอีก และจะได้รู้ว่าเอ็นจีวีขณะนี้ไม่มีภาษีฯจึงทำให้ดูเหมือนถูกกว่าดีเซลแต่ที่จริงไม่ใช่ดังนั้นถ้าการขึ้นเอ็นจีวี 6บาทต่อกก.แล้วเข้ากระเป๋าปตท.เพียงผู้เดียวเราไม่ยอมซึ่งเป็นไปได้ว่า 4 บาทต่อกก.ที่เหลืออาจเป็นรายได้ภาษีสรรพสามิตแทนก็คงต้องหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง”นายยูกล่าว

***เอกชนชี้ "ปู" เอาไม่อยู่ค่าครองชีพสูง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธ านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คาดว่ารัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้เพราะนอกจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะภาวะราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบราคาเพิ่มแล้วยังพบว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมทั่วโลกจะยิ่งทำให้ประเทศนั้นๆ มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เช่น นโยบายการขึ้นค่าแรงหรือนโยบายการเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน รวมถึงการลด แลก แจก แถม อื่นด้วย อย่างไตก็ตามแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการธงฟ้า ซึ่งจะจำหน่ายสินค้าราคาถูกๆ แต่เชื่อว่าคงทำได้ไม่นานและไม่สามารถครอบคลุมผู้เดือดร้อนทั้งหมดได้ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก

ทั้งนี้ ที่สุดรัฐควรปล่อยให้ราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือใกล้เคียงไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะขาดแคลน เพราะต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงเกือบทุกมิติ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาลเชื่อว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นในเดือน ก.ค. นี้ เฉลี่ยที่ 5-6% โดยเฉพาะกลุ่มอุปโภค บริโภค รองเท้า เครื่องหนัง อาหารกระป๋อง เสื้อผ้าคงจะปรับมากกว่า 6% เพราะในปัจจุบันราคาไม่ยังสูงและใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ คงไม่เพิ่มไม่มาก เนื่องจากราคาขายค่อนข้างสูงอยู่แล้วและส่วนใหญ่มีการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้กันมากในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

ด้านนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผอ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากที่ผ่านมาเรามีการตรึงราคาช่วยผู้บริโภค ซึ่งตนอยากเสนอให้มีการตั้งกระทรวงค้าขายแทน เป็นทางแก้ปัญหาจะดีกว่า นั่นคือ การนำเอากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ มารวมกัน เพราะถือเป็นหน่วยต้นทาง ทั้งหมดจะได้สามารถควบคุมการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าได้โดยตรง ซึ่งตนคิดว่าการตั้งกระทรวงแบบนี้ จะไม่ยุ่งยากในทางกลับกันทำให้เรากำหนดราคาได้เลย

***ปชป.ตั้งวงอัดแพงทั้งแผ่นดิน

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (18 มี.ค.) พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ "ฝ่าวิกฤต ข้าวของแพง" โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในหัวข้อ “สภาวะค่าครองชีพสูง และแนวทางการแก้ไขในทัศนะของผู้นำฝ่ายค้าน" ว่าปัญหาข้าวของแพง และปัญหาเงินเฟ้อ เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่ ซึ่งประชาชนสามารถรู้สึกได้เองที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อ ความจริงเป็นภาษีที่ร้ายกาจที่สุด คือเก็บจากทุกคน เงินหายไปดื้อๆ ตรงนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา ต้องเอาใจใส่ มองดูเหมือนไม่น่ามีอะไรก็ได้ แต่เป็นเรื่องที่ซับซ้อน รัฐบาลจะเนรมิตรราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกจริงๆ เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากราคาอุปสงค์ และอุปทาน จะเป็นตัวกำหนด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 1.รัฐบาลต้องยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระบวนการกองเชียร์รัฐบาล ที่ให้ข่าวว่า สินค้าไม่แพง เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านสร้างขึ้น ตนอยากจะบอกว่า ขณะนี้แพงทั้งแผ่นดินแล้ว การที่โฆษกส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ของไม่แพง แต่ทำไมนายกรัฐมนตรี จึงนัดประชุมเรื่องของแพง ถ้านายกรัฐมนตรียืนยันสิ่งที่กองเชียร์พูด ตนอยากให้นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศเลยว่าของไม่แพง และจะไม่แก้ไข แต่ถ้าแพงก็ขอให้บอกกองเชียร์ว่า หยุดพูดได้แล้ว และหันมาช่วยกันแก้ไข

2. หากยอมรับว่ามีปัญหา ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากจุดไหน กองเชียร์ตอนนี้พูดต่างๆ นานา ถ้านโยบายพลังงานของรัฐบาล ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นราคาน้ำมัน สภาพราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มีกองเชียร์รัฐบาลตอบโต้ว่า " ใครเอาน้ำมันดีเซลไปเจียวไข่" ตนอยากบอกว่า หากค่าขนส่งแพงขึ้น สินค้าทุกตัวก็ต้องแพงขึ้น ต้องทำความเข้าใจ ตนอยากถามว่า แล้วเงินเฟ้อ หมายความว่าอย่างไร ขณะนี้สิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือ นโยบายพลังงาน ต้องมีการทบทวน

3. รัฐบาลต้องเร่งทำความเข้าใจกับปัญหา และมีใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดมาเกี่ยวข้อง

"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เห็นได้ชัดว่า แนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาตอบนั้น จะเป็นการซ้ำเติมประชาชน มีการอ้างตัวเลขที่ไม่แท้จริง หากเอาราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มีสูงกว่าแน่นอน ท่านไม่มีหลักคิดเลยว่า ก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ทำแอลพีจี เอ็นจีวี เป็นทรัพย์สมบัติของประเทศ ท่านกลับคิดว่าก๊าซนี้ต้องไปอิงกับราคาส่งออก ผมไม่เคยเห็นในประเทศไหนเลยที่ผลิตก๊าซเอง แล้วขายคนในประเทศเท่ากับที่ขายตลาดโลก การที่รัฐมนตรีระบุว่า คนไทยเคยตัว ใช้ก๊าซถูกมานาน ต้องใช้แพงขึ้นบ้าง ถึงจะประหยัด ผมอยากจะบอกว่า อย่ามาพูดอย่างนี้ ก๊าซไม่ใช่นำมาจุดเล่น คนที่นำมาจุดเล่นคือ พวกเผาบ้านเผาเมือง ไม่ประหยัดเลย" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า มีการพูดว่า ของแพงครั้งนี้ เกิดขึ้นในภาวะที่ราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ กลายเป็นว่าขณะนี้เกิดปัญหาสองด้าน โครงการจำนำข้าวก็ไม่เป็นไปตามเป้ามหายของเกษตรกร และทำลายโอกาสการส่งออกข้าวอย่างรุนแรง ทั้งนี้ตนอยากให้ทุกคนจับตาดูน้ำมันปาล์ม เพราะขณะนี้มีแนวคิดนำเข้าน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากดูจากสถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ใช่อยู่ในสภาวะที่ขาดแคลน แต่จะมีการทำนโยบายเพื่อตรึงราคานำเข้า โดยจะอุดหนุนปตท. เรื่องไบโอดีเซล ตนอยากให้รัฐบาลทบทวน และพิจารณาให้ดี และขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข ใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องรัฐธรรมนูญค่อยแก้ทีหลังก็ได้

**แฉ ปตท.ฟันกำไรเยอะ

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหานั้น รัฐบาลคงต้องดูเป็นรายสินค้าไป ที่แพงเป็นเพราะอะไร และแก้ไขให้ถูกจุด เพราะไม่มีนโยบายอะไรที่ออกมาแล้วแก้ไขได้ทั้งหมด

สำหรับการขึ้นราคาสินค้านั้น ตนเห็นว่าเกษตรกรผู้ผลิต สมควรปรับขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับผู้ใช้ ตนอยากถามว่า เราจะมีโอกาสทำให้สูงขึ้นบ้างได้หรือไม่ แต่ต้องไม่สูงมากจนเกินไป กำไรต้องได้บ้าง แต่ไม่ใช่เกินเหตุ

ส่วน ปตท.กำไรเกินเหตุหรือไม่นั้น ตนเห็นว่ากำไรเยอะก็จริง แต่เป็นกำไรที่ได้จากปิโตรเคมี ได้จากการขายเนื้อแก๊สธรรมชาติ แต่ที่เขาขายแก๊สธรรมชาติรถยนต์นั้น ตนเห็นว่าเขาขาดทุนแน่นอน เนื่องจากค่าการขนส่งสูงมาก แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ควรปรับราคาให้สูงมากนัก

** อัดยับนโยบายจำนำข้าวจะทำพัง

ส่วน นายชัยวัฒน์ แสงชัย ที่ปรึกษาสมาคมตลาดสด กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ในสายตาผู้บริโภค ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน ไข่ ขยับราคาสูงขึ้น ตนเห็นว่าหนทางเลือกอาจจะหันไปใช้สินค้าอย่างอื่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันทนแทน อาทิเนื้อหมู ก็หันไปบริโภคกระดูกหมู เป็นต้น รัฐบาลควรจะวิเคราะห์ราคาสินค้า และกำลังซื้อของประชาชน ตามอุปสงค์ และอุปทานด้วย ซึ่งราคาสินค้าที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าเหล่านั้น จะมีความผันผวนตามฤดูกาล และวัฎจักร ขณะนี้กระเทียม หอมแดง ก็ถูกลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน พม่า มีผลทำให้ราคาตกต่ำพอสมควร ซึ่งตนเห็นว่าของแพงก็ควรจะแก้ไข

ส่วนนโยบายการรับจำนำข้าวนั้น ในที่สุดก็ขายสู้ประเทศอื่นๆไม่ได้ ตนคาดว่าอาจจะกลายเป็น องค์การค้าข้าวเสื่อม ก็ได้ เพราะข้าวจะถูกนำมาขายในลักษณะของข้าวเสีย เมื่อราคาต่ำรัฐบาลก็ขาดทุน และที่เป็นปัญหาที่สำคัญ คือ เราใช้เงินเกินตัว เอาเงินในอนาคตมาใช้มาก นโยบายประชานิยม อย่างรุนแรง ในที่สุดจะทำให้พฤติกรรมเหลวแหลก ขาดเงินออม ถ้าใครเห็นแก่ผลประโยชน์ อาทิ การตั้งกองทุนสตรี ตนอยากถามว่า พวกเราจะได้เงินทุนเหล่านั้นสักเท่าไรกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ควรประกาศขึ้นราคาค่าแรงในลักษณะก้าวกระโดดเช่นนี้ ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในอนาคตข้างหน้าไทยจะเข้าไปอยู่ในสมาคมอาเซียน การแก้ไขสินค้าราคาแพง จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานราคาสินค้า มาตรฐานการผลิต เพราะจะช่วยทำให้สินค้าที่ล้นตลาดออกขายสู่ตลาดนอกได้ การเคลื่อนไหวไปมาระหว่างประเทศได้ สินค้าจะนำเข้า ส่งออกได้อย่างเสรี

" ผมเป็นห่วงว่า ถ้ารัฐบาลปล่อยอยู่เช่นนี้ มุ่งแต่แก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาเราจะเกิดความยากลำบาก พฤติกรรมที่เป็นมากของคนไทย คือ พฤติกรรมการเลียนแบบการบริโภค กลไกการเมือง ทุนนิยมการเมือง เราเจอเผด็จการ ที่อันตรายกว่าทหารเอาปืนมาจ่อ และที่อันตรายกว่า คือเผด็จการในรัฐบาล รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างแท้จริง" นายชัยวัฒน์ กล่าว

** ขึ้นค่าแรงมากทำเอสเอ็มอีเจ๊ง

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เงา กล่าวว่า ตนอยากเสนอให้รัฐบาล 1.ทบทวนนโยบายพลังงาน 2. การแก้ไขปัญหาของรัฐบาล อย่าต่างคนต่างทำ เพราะขณะนี้มีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ควรจะทำงานร่วมกัน และแก้ไขอย่างเป็นระบบ นายกรัฐมนตรีต้องลงมากำกับดูแลด้วยตนเอง

3. รัฐบาลไม่ควรปรับเงินขึ้นค่าแรงในลักษณะก้าวกระโดด ตนอยากถามว่า เวลาท่านทำงานในบริษัท เคยปรับขึ้นเงินเดือนทีละ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ รัฐบาลกำลังจะบอกว่า ยกระดับให้กับผู้ใช้แรงงาน เงินเยอะก็จริง แต่ธุรกิจ เอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบ ตนยังไม่ได้ยินว่า รัฐบาลมีมาตรการลดผลกระทบกับ เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการ อย่างไร ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหา

4. ประชาชนเดือดร้อนจากน้ำท่วม รัฐบาลต้องเร่งเข้าไปฟื้นฟู จ่ายเงินชดเชย การทำงานของรัฐบาล อย่าแยกงานกันทำ อาทิ ผลักภาระให้แก่กระทรวงพาณิชย์อย่างเดียว รัฐบาลควรไปทำงานร่วมกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

5. ถ้ารัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุก ในเดือนมี.ค.-พ.ค. จะเป็นฤดูกาลของผลไม้ ถ้ารัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหา สินค้าเกษตรบางประเภท อาจได้รับผลกระทบโดยตรง ตนเห็นว่าหากนโยบายบางเรื่องรัฐบาลทำ และไม่เกิดประโยชน์จริง ขอให้ทบทวน มิเช่นนั้นประชาชนจะทบทวนว่า เขาเลือกท่านมาถูกหรือไม่

** พท.เล็งตั้งวอร์รูมแก้ของแพง

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โจมตีถึงภาวะข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน ว่าไม่เป็นความจริง เพราะจากการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบราคาสินค้าแล้ว พบว่าสินค้าบางอย่างไม่ได้แพงเสมอไป อีกทั้งราคาพืชผัก ยังมีราคาถูกอยู่ แต่สาเหตุที่สินค้าบางอย่างแพงนั้น เกิดจากปัญหาโรงงานน้ำท่วม และราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูง อีกทั้งสินค้าน้ำมันปาล์ม ที่จะขึ้นราคานั้นน่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง หรือเกี่ยวกับโรงงานในหลายพื้นที่ ในภาคใต้

ทั้งนี้ ตนไม่ต้องการให้ฝ่ายค้านมุ่งโจมตีทางการเมือง แต่ควรร่วมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อเรื่องนี้มากกว่า ขณะที่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยประสบกับปัญหาชั่งกิโลไข่ขาย และน้ำมันปาล์มขาดตลาดมาแล้ว

โดยในที่การประชุมพรรควันที่ 20 มี.ค.นี้ ตนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ตั้งวอร์รูมเพื่อแก้ปัญหาข้าวของแพงอย่างบูรณาการ โดยจะเชิญกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม มาร่วมหารือ ถึงแนวทางการแก้ไขด้วย

**ไม่แพงแล้วประชุมแก้ปัญหาทำไม

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ โฆษกส่วนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และอีกหลายคนในพรรคเพื่อไทย ระบุประเทศยังไม่เข้าสู่ภาวะสินค้าราคาแพงว่า ถือเป็นการสะกดจิตประชาชน หากไม่มีปัญหาสินค้าราคาแพงแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเรียกประชุมแก้ปัญหาทำไม อยากถามว่า ถ้าของไม่แพงแล้วเกิดปัญหาเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันขึ้นได้อย่างไร นายสุรนันท์ ไม่น่าลดตัวมาพูดจาไร้สาระ ทำไมจึงไม่เอาความสามารถไปแนะนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร แต่กลับมากล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ ปั่นกระแสเรื่องของแพง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะตอนนี้ประเทศเกิดภาวะแพงทั้งแผ่นดินไปแล้ว

" การออกมาพูดสะกดจิตหมู่ประชาชน จะทำให้รัฐบาลล่มจมแทนที่ นายสุรนันท์ จะเป็นตัวช่วย กลับกลายเป็นตัวถ่วง ทำให้รัฐบาลไปเร็วขึ้น เพราะมีการเลือกนำสินค้าบางตัวที่ราคาตกตามฤดูกาลมากล่าวอ้าง แสดงว่า ไม่ตั้งใจทำงานแต่ใช้โวหารมาแก้ตัว"

** จี้เร่งผลักดันพ.ร.บ.ประกันสังคม

ด้านนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่นายกรัฐมนตรี พูดว่าจะต่ออายุโครงการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ถือว่ามีคนจนอยู่ในหัวใจ แต่ควรแถลงให้ชัดเจนว่า จะต่ออายุโครงการนี้ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือไม่ เพราะโครงการนี้จะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย. นี้แล้ว อย่าต่อเพียงแค่ 3 หรือ 6 เดือน แต่ควรต่อไปถึงสิ้นปี เพื่อแสดงอกถึงความจริงใจที่มีต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนี้รัฐบาลควรผลักดันกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับของพี่น้องกรรมกรที่เสนอเข้ามาโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ตัวแทนองค์กรผู้ใช้แรงงาน ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภา เป็นเรื่องด่วนลำดับที่ 9 รัฐบาลควรหยิบมาพิจารณาก่อน เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อกรรมกร อย่างแท้จริง และควรทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน คือ ค่าแรงวันละ 300 บาท ให้ปรากฏเป็นจริง ของที่แพงอยู่ทุกวันนี้ เพราะรัฐบาลปั่นรายได้ว่าประชาชนมีรายได้มากขึ้น ทั้งที่ความจริงไม่เป็นอย่างที่รัฐบาลพูด ถือเป็นการหลอกประชาชน.
กำลังโหลดความคิดเห็น