xs
xsm
sm
md
lg

"กิตติรัตน์"ขวางรมช.คลัง ยันพักหนี้0.5%เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่าจะนัดหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในเร็วๆ นี้ถึงแนวทางการพักหนี้ให้ลูกหนี้ดี เนื่องจากถือเป็นลูกหนี้จำนวนมากของธนาคารจึงต้องประเมินภาพรวมว่าหากดำเนินการแล้วต้องไม่กระทบฐานะของธนาคาร ส่วนที่มีกระแสข่าวไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งการลดดอกเบี้ย 2% ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่จะบังคับใช้กับทุกธนาคารเพราะแต่ละแห่งมีเงื่อนไขและฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อนจะมีข้อสรุป เชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งและคงไม่สามารถออกมาเป็นนโยบายได้ในเร็วๆ นี้
"ผมเป็นประธานธ.ก.ส.ก็ถือเป็นคนของธ.ก.ส.จึงต้องดูว่าทำไปแล้วจะมีผลกระทบกับแบงก์หรือไม่ จึงต้องนัดหารือในรายละเอียดกันก่อน ส่วนแนวทางที่ธ.ก.ส.จะเสนอขอความช่วยเหลือนั้นยังไม่ทราบ โดยยืนยันว่าผมไม่เคยบอกว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลง 2%แต่อย่างใด" นายกิตติรัตน์กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้โครงการพักหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ดีของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ข้อสรุปในเบื้องต้น ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพและการอุปโภคบริโภคที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยจะไม่รวมสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อที่มีสลากออมสินเป็นทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น โครงการธนาคารประชาชน ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี ส่งผลให้มีธนาคารรัฐที่เข้าข่ายเพียง 4 แห่งเท่านั้น คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ส่วนของรายละเอียดการดำเนินโครงการยังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างรมว.คลังและรมช.คลัง
สำหรับแนวทางที่จะดำเนินการมีการพิจารณา 2 แนวทางคือให้ลูกหนี้สามารถเลือกได้ว่าจะขอหยุดพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปีโดยระหว่างนี้จะไม่สามารถกู้เงินได้เพิ่มเติมหรือจะใช้สิทธิลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลังต้องการให้ปรับลด 2% เป็นเวลา 3 ปี และระหว่างนี้ยังสามารถกู้เงินได้อีก 30% ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง มองว่าการปรับลดดอกเบี้ย 2% อาจส่งผลกระทบต่อสถานะของธนาคาร จึงเสนอให้ปรับลดลง 0.50% แต่นายทนุศักดิ์มองว่าหากปรับลดระดับดังกล่าวจะไม่มีผลในทางการเมือง และยืนยันว่าหากพักหนี้หรือลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ดีดังกล่าวจะทำให้รายย่อยสามารถนำเงินดังกล่าวไปขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มได้และมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อีก 0.3%
"ขณะนี้มีความชดเจนเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่เข้าข่ายได้พักหนี้หรือลดดอกเบี้ยแนวทางใดแนวทางหนึ่งแล้วแต่อัตราดอกเบี้ยที่จะปรับลดยังอยู่ระหว่างถกเถียงกัน โดยประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการรายย่อยที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาทของออมสินที่เข้าข่ายมีจำนวน 9 แสนราย มูลหนี้ 1.7 แสนล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์ 7 พันกว่าราย มูลหนี้ 1.3 พันล้านบาท ไอแบงก์ มี 8 พันราย มูลหนี้ 6.5 พันล้านบาท ขณะที่ธ.ก.ส.นั้นลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยจึงเข้าข่ายมากถึงเกือบ 3 ล้านรายมูลหนี้ 4 แสนล้านบาท ทางนายกิตติรัตน์จึงรับไปหารือในที่ประชุมบอร์ดของธ.ก.ส.ก่อนเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับธ.ก.ส.ต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตามการในส่วนของแบงก์ออมสิน ไอแบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์นั้นน่าจะยอมรับแนวทางการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวได้ เพราะตีกรอบเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงๆ เช่น ธนาคารประชาชนที่คิดในอัตรา 12% หากปรับลดลงเหลือ 10% ก็ยังไม่กระทบฐานะของธนาคารเพราะต้นทุนจริงจะอยู่ที่ระดับ 6% เท่านั้น ส่วนของไอแบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์ก็จะเป็นกลุ่มที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงไม่ใช่ดอกเบี้ยผ่อนปรนตามนโยบายของรัฐ
ทั้งนี้ นโนบายการพักหนี้ให้ลูกหนี้ที่ดีนั้นเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ในช่วงของการหาเสียง หลังจากที่นายทนุศักดิ์ เข้ามาเป็นรมช.คลังจึงได้รับมอบหมายให้ผลักดันเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะของแบงก์รัฐอย่างมากหากจะพักหนี้ให้ลูกหนี้ดีทุกรายจึงเสนอให้ปรับลดดอกเบี้ยเป็นการให้รางวัลแทนซึ่งนายทนุศักดิ์ยืนยันให้ปรับลดลง 2 %แต่นายกิตติรัตน์และแบงก์รัฐส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย โดยอยากให้มีการให้รางวัลลูกหนี้อย่างอื่นเช่น หากส่งเงินค่างวดตรงเวลาอาจยกเว้นค่างวด 2-3 เดือนสุดท้ายให้น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น