xs
xsm
sm
md
lg

ตีกรอบแบงก์รัฐ เลิกแข่งสินเชื่อ “โต้ง” ฉุนบิ๊ก ธ.ก.ส. ให้ข่าวพักหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“โต้ง” เรียกถกผู้บริหารแบงก์รัฐตีกรอบดำเนินงานจะเดินไปในทิศทางใด หลังปล่อยให้แข่งขันกับแบงก์พาณิชย์มานาน จนสินเชื่อแบงก์รัฐโต 1 ใน 3 ของระบบแล้ว พร้อมหารือแนวทางตามนโยบายที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาประเทศและพักหนี้ลูกหนี้ชั้นดี แหล่งข่าวระบุ รมว.คลัง ฉุน ธ.ก.ส.หลังผู้บริหารระดับสูงให้ข่าวพักหนี้ถูกกันไม่ให้ร่วมประชุม

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเป็นประธานเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาว่า เป็นการหารือถึงบทบาทการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐในอนาคตว่าควรมีทิศทางอย่างไร หลังจากที่มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งการเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาประเทศ และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ ที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากขณะนี้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อรวมกันคิดเป็น 1 ใน 3 ของระบบจากที่เคยมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 4

“ยืนยันว่าเป็นการหารือถึงภาพกว้างของการเนินงานของแบงก์รัฐในอนาคตเท่านั้น ไม่ได้มีการมุ่งไปที่ประเด็นการพักหนี้ให้ลูกหนี้ที่ดีเท่านั้น แต่อาจมีการพูดถึงนโยบายดังกล่าวบ้างเล็กน้อยเพราะถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลประกาศไว้แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใดและยังไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้เพราะต้องหารือกันอีกหลายครั้ง” นายอารีพงศ์ กล่าวและว่าครั้งแรกเป็นเพียงการสนทนาธรรมเท่านั้น

ทั้งนี้ หากแบงก์รัฐต้องดำเนินตามนโยบายการพักหนี้ให้ลูกหนี้ที่ดีด้วยนั้นก็ต้องมาพิจารณารายละเอียดกันต่อไปว่าจะกำหนดกรอบของการพักหนี้หรือลดดอกเบี้ยก่อนว่าทำระดับไหน ในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมและไม่กระทบกับฐานะของแบงก์รัฐ เช่น อาจพักหนี้ให้เฉพาะลูกหนี้ที่กู้เงินไปประกอบอาชีพเท่านั้น ไม่รวมสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบอาชีพมีภาระลดลง ลูกหนี้ดีแข็งแกร่งขึ้นและมีเงินไปขยายกิจการมากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าจะไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาวด้วย

สำหรับแนวทางการเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาประเทศ 0.47% นั้นก็ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะเก็บในรูปแบบใด เพราะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับก่อน แต่ในเบื้องต้นมีความชัดเจนคือการเก็บจากฐานเงินฝาก โดยหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันเดือนก.ค.นี้ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร ส่วนเงินที่ส่งเข้ากองทุนก็จะต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะนำไปใช้ในด้านใดบ้าง เช่น การนำไปสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลทั้งหมดเพื่อลดภาระการใช้เงินงบประมาณเข้าไปอุดหนุนเหมือนที่ผ่านมา ส่วนหนี้เก่าที่รัฐยังไม่จ่ายคืนให้แบงก์รัฐบางแห่งนั้นทางรมว.คลังก็มีแนวคิดจะจัดสรรงบชำระคืนให้อยู่แล้ว

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว ถือเป็นการพบกันครั้งแรก ระหว่างรัฐมนตรีและผู้บริหารของแบงก์รัฐแต่ละแห่ง(SFI) หลังจากที่เปลี่ยนผู้กำกับดูแลใหม่ ซึ่ง SFIทั้งหมด ได้เล่าถึงปัญหาและอุปสรรคให้รมต.ทั้ง 3 คนได้รับทราบ และได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาอุปสรรค ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่เอสเอฟไอปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในภาพรวมโดยจะนัดประชุมกันครั้งต่อไปในเดือนเม.ย. หรือเดือนละครั้ง

“การหารือกันครั้งแรกนี้ เพื่อทำความรู้จักกันมากกว่าที่จะเจาะจงไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง และได้หารือกันถึงข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่กรณีลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ชั้นดีนั้น ไม่ได้หารือเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากผู้บริหารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามทีมงานของแต่ละธนาคารจะหารือรายละเอียดกับสศค.อีกครั้งก่อนที่จะเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป” นายเลอศักดิ์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่าเหตุที่ผุ้บริหารธ.ก.ส.ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากนายกิตติรัตน์ ในฐานะประธานบอร์ดธ.ก.ส.อยู่แล้วได้ขอเลื่อนการประชุมกับธ.ก.ส.ไปก่อนโดยขอหารือกับแบงก์รัฐอื่นๆ ก่อน เพราะเห็นว่ามีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธ.ก.ส.ค่อนข้างมากจึงอยากนำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดของธ.ก.ส.ก่อนปลายเดือนนี้ แต่ก็มีกระแสข่าวออกมาว่าจากการที่ผู้บริหารธ.ก.ส.ให้ข่าวเรื่องการพักหนี้ลูกหนี้ที่ดีก่อนการประชุมทำให้นายกิตติรัตน์ไม่พอใจจึงตีกันไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น