xs
xsm
sm
md
lg

ปูดแก๊งงาบฟื้นฟูน้ำท่วม สตง.ท้วงทางหลวงใช้งบสูงเกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้( 11 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กรณีเงินฟื้นฟูอุทกภัยนั้น ตนได้รับข้อมูลมาว่ากระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือไปในหลายจังหวัดที่ประสบภัยหาอุทกภัย โดยเปิดช่องให้มีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษในกรณีเร่งด่วนได้ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเลือกผู้รับเหมารายใดก็ได้ เพราะฉะนั้นคำสั่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า 1.จะมีการปรับระบบจากการที่ต้องประมูลผ่านระบบอีออกชั่น ไปเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ 2. มีการโอนอำนาจกลับไปที่หน่วยงานกลาง คนที่ได้ผลประโยชน์คือ ส.ส.ในพื้นที่ หรือผวจ. จะทำให้จัดซื้อหรือจัดจ้างใครก็ได้เพราะระเบียบเปิดช่องให้หมดแล้ว ซึ่งตนเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต และจากการศึกษายังพบว่าในแต่ละจังหวัดที่ประสบอุทกภัยจะได้รับการจัดสรรงบฟื้นฟูในวงเงินที่สูงมาก เช่น จ.ปทุมธานี ได้งบประมาณสูงถึง 1.2 พันล้านบาท
อีกด้านสำนักงานการ ตรวจเงินแผ่นดิน โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ ตผ 0014/0209 ลงวันที่ 18 มกราคม 2555 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยในหนังสือระบุว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ศึกษาข้อมูลโครงการบูรณะ ฟื้นฟูเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายที่สำคัญที่ได้รับความเสียหายจาก อุทกภัย ปี 2555 ของกรมทางหลวง จำนวน 33 โครงการ พบว่าเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งรีบและมีจำนวนมาก วงเงินงบประมาณสูง อาจไม่มีการสำรวจอย่างละเอียดรอบคอบเพียงพอ
ในหนังสือระบุว่าจากการสุ่มทดสอบบางสายทางของโครงการดังกล่าว พบว่ามิได้เสียหายอันเกิดจากผลกระทบจากอุทกภัย ที่ต้องบูรณะฟื้นฟูเร่งด่วนตามวัตถุประสงศ์ของงบประมาณ หรือเสียหายน้อยกว่าปริมาณที่ของบประมาณ อันอาจมีลักษณะเป็นการใช้งบประมาณโดยไม่คุ้มค่าหรือไม่สมประโยชน์ตามวัตถุ ประสงศ์ของงบประมาณจึงแจ้งให้มีการทบทวนการดำเนินการ
นอกจากนั้นในหนังสือยังระบุด้วยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนมีวงเงินสูงและมีผู้เกี่ยวข้อง หลายฝ่ายอันอาจมีการผลักดันให้มีการดำเนินการอย่างเร่งรีบจนเกิดความเสียหาย แก่การใช้จ่ายเงินงบประมาณได้
นายเจือ ราชสีห์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการเคยทักท้วงถึงแผนงานโครงการว่า จะต้องดำเนินการให้ตรงตามวัตถุประสงศ์ เพื่อให้ประชาชนเจ้าของภาษีที่ใช้สัญจรไปมาได้รับประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเงินงบประมาณที่กรมทางหลวงเสนอมาก็สูงกว่าปกติจึงจำเป็นที่ทุกฝ่าย ร่วมตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นเม็ดเงินงบประมาณที่นำไปใช้จะไม่คุ้มค่าและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
“ขนาดว่ามีแผนงานโครงการ ยังเสนองบประมาณกว่า1,800ล้าน ตัวเลขหมกเม็ดมากถึงขนาดนี้เจ้ากระทรวง และอธิบดีกรมทางหลวงต้องชี้แจง ไม่เช่นนั้นประชาชนจะรู้สึกได้ว่า รัฐบาลนำเงินภาษีมาผลาญกันเล่น ขณะที่ปัจจุบันชาวบ้านต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ขณะเดียวกันเงินกู้ตามพรก.กว่า 350,000ล้าน ซึ่งยอดนั้นไม่มีแผนงานโครงการเสนอมาให้สภาร่วมพิจารณา ยิ่งจะเป็นอันตรายต่อวินัยทางงบประมาณและการคลังมากๆอีก’
ทั้งนี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ ทางคณะกรรมาธิการซึ่งมีสส.ทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาล จำเป็นที่จะต้องเกาะติดศึกษาอย่างละเอียด รวมถึงจะต้องลงพื้นที่สุ่มสำรวจ เพื่อให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหารวมทั้งตัวงบประมาณ ที่ต้องลดลงไปอีกอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ให้หน่วยงานอื่นได้ปฏิบัติตามในเรื่องที่ไม่สมควรมากขึ้นไปอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ ( 12 มี.ค.) เวลา 13.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังกลับจากการสร้างความเชื่อมั่นให้กับญี่ปุ่น
ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการกำหนดวันขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติว่าอยู่ระหว่างรอหารือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานพิธีในวันเปิดขายกรมธรรม์ ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ 21 มีนาคม 2555 และทางคณะกรรมการกองทุนฯ ได้เชิญ 66 บริษัทประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัย รวมถึงผู้ประกอบการ มาร่วมงานในวันดังกล่าวด้วย
ทางกองทุนฯ เห็นว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดปัญหาอุทกภัยแบบปีที่แล้ว จึงได้ทำเรื่องอัตราเบี้ยประกันออกมา ขั้นตอนต่อไปก็อยู่ที่การขายผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของบริษัทประกันภัย โดยปกติผู้ประกอบการขนาดกลางถึงรายใหญ่ จะมีการซื้อความคุ้มครองแบบ All Risk ประกันความเสี่ยงทั้งหมด เพียงแต่เพิ่มในเรื่องของภัยพิบัติร่วมเข้าไป ส่วนในภาคครัวเรือนคาดว่าเข้าร่วมโครงการที่ประมาณ 1.3 ล้านราย
ทั้งนี้ ในกรณีที่อนาคต หากมีมูลค่าความเสียหายเกิน 300,000 ล้านบาท แล้วรัฐบาล หรือกองทุนฯ จะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบแทนบริษัทประกันภัยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ และหลักการทำประกันภัยที่กล่าวถึงเป็นเรื่องของทุนประกัน ยกตัวอย่าง น้ำท่วมปีที่ผ่านมา มีความเสียหายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้โดยรวม จะมีผู้สนใจซื้อความคุ้มครองเต็มที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องหาเงินทุนจำนวนดังกล่าว หากเข้าใจแล้วจะเห็นว่า ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือบริษัทประกันแต่อย่างใด เพราะทางกองทุนฯ เองนั้น จะต้องมีแผนที่จะไปทำประกันภัยต่อในต่างประเทศเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น