xs
xsm
sm
md
lg

พท.ปูดนักการเมือง ต.ยุค “มาร์ค” งาบงบฯ ภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร
“เพื่อไทย” ร้องนายกฯ ระงับจ่ายเงินทดรองราชการช่วยผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปูดนักการเมืองอักษรย่อ “ต.” สมัย รบ.มาร์ค งาบงบฯ ลงพื้นที่อีสาน-ใต้ ฐานเสียง ปชป.-ภท.เล็ง ยื่น ป.ป.ช-ดีเอสไอตามทุบย้อนหลัง

วันนี้ (27 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ระงับการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และให้มีการสอบสวนการจ่ายเงินทดรองราชการ งบประมาณปี 2554 ที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใส จำนวน 17,834 ล้านบาท โดยมีนายบัณฑูร สุภัควานิช เลขาธิการนายกฯ เป็นตัวแทนรับมอบ

ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวที่ส่อไปในทางทุจริต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกฯ โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช เป็น รมว.คลัง รับผิดชอบเงินทดรองข้าราชการ ซึ่งมีประกาศระเบียบกระทรวงการคลังในการให้หรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระหว่างที่ยังไม่ได้รับเงินงบประมาณรายจ่าย โดยนายกรณ์ได้แก้ไขระเบียบดังกล่าวให้อำนาจอยู่ที่กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2552 จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ได้ประกาศภัยพิบัติต่างขึ้นโดยอาศัยการชงเรื่องของ ปภ.จังหวัด แล้วเบิกเงินทดรองราชการมาจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษทั่วประเทศ ที่มีการแบ่งพื้นที่ในภาคใต้ และภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ในการจ่ายเงินทดรองราชการสำหรับพื้นที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีการแบ่งพื้นที่ในการใช้เงินทดรองราชการ ซึ่งภาคอีสานจะมีผู้ว่าเป็นสายของพรรคภูมิใจไทย และในพื้นที่ภาคใต้เป็นสายประชาธิปัตย์ ซึ่งในพื้นที่ภาคอีสานมีบริษัทที่เกี่ยวข้องและเป็นนายหน้ารับงาน 3-4 บริษัท เช่น บริษัทโชครับทรัพย์อนันต์ จำกัด หจก.ศ.ศุภฤกษ และหจก.นัติชดา เป็นต้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทั่วทั้งภาคอีสานจะมีแค่ 3-4 ห้างที่รับงาน นอกจากเป็นการล็อคเสปกตั้งแต่ตัน ที่สำคัญบริษัทเหล่านี้มีนักการเมืองใหญ่ระดับชาติ มีตำแหน่งบริหารระดับสูงในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ชื่อเล่นอักษรย่อ ต.เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ ตนจะนำเรื่องนี้ยื่นต่อกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของรัฐสภาก่อน หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการเพื่อยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น