xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อนุดิษฐ์” ผิดคิว “แท็บเล็ต” เลือก “สโคป” ขัดใจ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในห้วงเวลานี้ มีข่าวทางด้านการจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยใช้ “เงินภาษีของประชาชน” ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 2 เรื่อง

เรื่องแรก เป็นความกระสันอยากจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทยที่ประกาศทุ่มเม็ดเงินถึง 50 ล้านบาทในการซื้อ “ไอโฟน” และ “ไอแพด” แจก “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และ “สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)” รวม 700 เครื่อง ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายถึงความเหมาะสม ความจำเป็นและความคุ้มค่าในการอนุมัติเงินภาษีประชาชนจำนวนมหาศาลเพื่อจัดซื้อ

และไม่ใช่เพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ “สภากรุงเทพมหานคร(กทม.)” โดยเฮียล้าน-นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร” ประธานสภากรุงเทพมหานคร ก็เห็นด้วยและมีความอยากได้ใคร่ดี อยากให้ สก.กทม.มีไว้ในครอบครองเช่นกัน

ขณะที่ เรื่องที่สอง เป็นเรื่องใหญ่ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อวงการศึกษาไทย นั่นก็คือการที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เตรียมอนุมัติงบประมาณร่วม 2,000 ล้านบาทในการจัดซื้อ “แท็บเล็ต” แจกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 860,000 คนภายใต้โครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายเช่นเดียวกัน

กระนั้นก็ดีสิ่งที่สังคมให้ความสนใจเป็นลำดับแรกเห็นจะหนีไม่พ้นกรณีการจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 ทั้งนี้ เนื่องเพราะมีข้อพิรุธให้ค้นหามากมาย

ยิ่งหลังจากที่คณะกรรมการที่นำโดยนายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) มีมติคัดเลือกให้ “บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์”(Shenzhen Scope Scientific Development,Ltd.) เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมาก่อนที่ครม.จะตีกลับและให้ไปศึกษารายละเอียดรวมถึงความเหมาะสมเพิ่มเติม ก็ยิ่งชวนให้ค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการนี้

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ทำไมโครงการนี้ถึงถูกเตะตัดขา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วควรจะราบรื่นเนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียง

ที่สำคัญคือการประกาศรายชื่อบริษัทผู้ผ่านการคัดเลือกก็เกิดขึ้นหลังจากที่ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ให้สัมภาษณ์ชัดเจนก่อนหน้านี้เพียงแค่ 1 วันถึงคุณสมบัติของผู้ที่ชนะการประมูลเอาไว้อย่างชัดแจ้งราวกับล่วงรู้ข้อมูลภายในมาก่อน

กล่าวคือ นช.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 255 เอาไว้ว่า “เท่าที่ได้พูดคุยและมีข้อมูลบริษัทรับจ้างผลิตแท็บเล็ตจากจีนบริษัทหนึ่งให้ราคาที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณ 2,000 บาทต่อเครื่อง ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้คือ 5,000 บาทต่อเครื่องและไม่ได้ลดทอนสเปกที่ต้องการลง ทำให้มีเงินเหลือขยายโครงการนี้ได้อีก”

พร้อมกันนั้น นช.ทักษิณยังได้ให้นโยบายล่วงหน้าเอาไว้เสร็จสรรพด้วยว่า “รัฐบาลไม่เพียงแต่จะแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1เท่านั้น แต่สามารถขยายโครงการ โดยแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ม.1 ทั่วประเทศได้พร้อมในคราวเดียวกันเลยในปีนี้ โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ”

แน่นอน คงไม่ต้องมีคำถามว่า นช.ทักษิณคือใคร ทำไมถึงล่วงรู้ข้อมูลการการจัดซื้อการจ้างและการประมูลในโครงการที่ทั้งสำคัญและมีมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือใบเสร็จยืนยันชัดเจนว่า แท้ที่จริงแล้ว นช.ทักษิณคือนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศไทย และอาจมีความเป็นไปได้สูงว่า เขาคือคนเคาะเลือกบริษัทผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้

แต่คำถามที่ชวนให้สงสัยมีอยู่ว่า ทำไมโครงการนี้ถึงถูกดึงกลับและไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหน้าตาเฉยเช่นนี้

จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ก่อนตัดสินใจให้สโคปเป็นผู้ชนะ คณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียนได้ประกาศรายชื่อบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่รัฐบาลจีนคัดเลือกเบื้องต้นมาให้ 4 บริษัทคือ

1.บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์(Shenzhen Scope Scientific Development,Ltd.)
2.บริษัท ทีซีแอล (TCL Corporation)
3.บริษัท ไฮเออร์(Hier Information Technology(Shenzhen) Co,Ltd.)
และ 4.บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี(Huawei Technology Co,Ltd.)

โดยเสปกที่คณะกรรมการกำหนดเอาไว้ก็คือ มีหน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว หน่วยบันทึกข้อมูล 16 กิกะไบต์ หน่วยประมวลผลกลางหรือซีพียู แบบดูอัลคอร์ไม่ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิรตซ์ และหน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 512 เมะกะไบต์ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.2 และรองรับแอนดรอยด์ 4.0 ได้

จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้เดินทางไปดูการผลิตของทั้ง 4 บริษัทที่เมืองเสิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน และในที่สุดก็ตัดสินใจเห็นชอบเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาจัดซื้อกับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ส่วนที่ลำดับถัดมาตกเป็นของบริษัท ทีซีแอล บริษัทไฮเออร์และบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี ตามลำดับ โดยบริษัทสโคปได้เสนอราคาเครื่องมาที่ 81 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2,400 บาท(ไม่รวมค่าขนส่ง) ซึ่งเป็นราคาที่ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ นช.ทักษิณอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะตรงกันได้ ขณะที่ทีซีแอล ไฮเออร์และหัวเหว่ย เสนอราคาที่ 89 เหรียญสหรัฐ 103 เหรียญสหรัฐและ 135 เหรียญสหรัฐตามลำดับ

ส่วนบริษัททีซีแอลเสนอราคาที่ 89 เหรียญสหรัฐ บริษัทไฮเออร์เสนอราคา 103 เหรียญสหรัฐ และบริษัทหัวเหว่ยเสนอราคาที่ 135 เหรียญสหรัฐ

ทว่า เรื่องดูเหมือนจะไม่ง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปากอย่างที่นายอนุดิษฐ์ต้องการ เพราะหลังจากกระทรวงไอซีทีตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงรายชื่อบริษัทผู้ชนะการประมูลและประกาศก้องว่าจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 255 แต่ท้ายที่สุดเรื่องนี้กลับไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

แน่นอน เรื่องนี้ย่อมมีเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา

ใช่หรือไม่ที่เบื้องหน้าเบื้องหลังในการหักดิบและตอกหน้ารัฐมนตรีอนุดิษฐ์ให้หน้าหงายกลับไปย่อมไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นผลมาจากผู้มีอำนาจตัวจริงที่อยู่แดนไกล“ไม่พอใจผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้”

ใช่หรือไม่ที่มีคำสั่งให้ดึงเกมเอาไว้ เนื่องจากตกลงใน “เรื่องบางประการ” ไม่ลงตัว

ใช่หรือไม่ว่าเป็นผลมาจากคนที่คุณก็รู้ว่าใครไม่พอใจนายอนุดิษฐ์ที่ด่วนประกาศตัดสินโดยที่ยังไม่ได้นำความมาปรึกษาหารือหรือรายงานให้รับทราบ

ทั้งนี้ การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ชี้แจงว่าเหตุที่คณะรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาเนื่องจากนายอนุดิษฐ์ขอดูรายละเอียดเพิ่มเติม และยืนยันว่า ไม่มีปัญหาอะไร เป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เพราะข้ออ้างเรื่องรัฐมนตรีไอซีทีขอดูรายละเอียดเพิ่มเติมไม่ใช่สิ่งที่สมเหตุสมผล เนื่องจากก่อนหน้านี้นายอนุดิษฐ์เป็นคนประกาศเองเรื่องให้บริษัทสโคปเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ดังนั้น จึงต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วบริษัทสโคปจะสามารถคว้าพุงปลาชิ้นโตนี้ไปครอบครองสำเร็จหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นบริษัทอื่น

ขณะเดียวกันสิ่งที่ผิดปกติอีกประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงเค้าลางของปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ในวันที่นายอนุดิษฐ์ประกาศให้บริษัทสโคปเป็นผู้ชนะและเตรียมนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กลับมิรู้เรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะอ้างว่าไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างก็ฟังไม่ขึ้น เพราะในฐานะผู้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายแท็บเล็ตย่อมต้องรับรู้

และความผิดปกติดังกล่าวจะสำแดงให้เห็นในการแถลงข่าวของนายอนุดิษฐ์เองที่ออกตัวอย่างแรงว่า “นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการจะเสนอที่ประชุมครม.อีกครั้งในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 13 มี.ค.” ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมนายอนุดิษฐ์ถึงไม่เป็นผู้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเหมือนเดิม

เสมือนหนึ่งถูกดึงเรื่องกลับไปให้ “คนของคุณก็รู้ว่าใคร” เป็นผู้เคาะในขั้นตอนสุดท้ายตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ใช่หรือไม่ที่นายอนุดิษฐ์ประกาศบริษัทผู้ชนะการคัดเลือกแบบผิดคิว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกรณีชักเข้าชักออกอย่างมีพิรุธแล้ว อีกประเด็นคำถามหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การนำแท็บเล็ตมาแจกให้เด็กนักเรียนไทยนั้นจะทำให้เกิดหลุมพรางและหลุมดำให้กับวงการศึกษาไทยอย่างไรบ้าง เนื่องเพราะต้องยอมรับว่า มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งส่งผลทำให้เด็กนักเรียนและนักศึกษาหลายสิบเปอร์เซ็นต์เขียนหนังสือไม่เป็น รวมถึงคำถามเรื่องการเตรียมความพร้อมในการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน

เช่นเดียวกับปัญหาในราคาของเครื่องจากประเทศจีนที่มีมูลค่า 2,400 บาทซึ่งถูกตั้งคำถามในเรื่องของคุณภาพว่า จะกลายเป็นภาระอันยืดเยื้อยาวนานต่องบประมาณของชาติหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า หากแท็บเล็ตมีปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ ทางออกก็คือจัดซื้อมาใหม่เท่านั้น เนื่องจากแท็บเล็ตไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับการซ่อมบำรุง

เหมือนดังที่ นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า “โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ไม่เห็นด้วยที่ซื้อแท็บเล็ตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะสินค้าที่ผลิตจากจีนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน รัฐบาลสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่าแท็บเล็ตดังกล่าวมีคุณภาพและจะไม่เกิดอันตรายต่อเด็กนักเรียนได้ รวมทั้งขอถามว่านอกจากตัวเครื่องแท็บเล็ตแล้ว รัฐบาลได้เตรียมแบตเตอรี่และจุดเสียบปลั๊กไฟไว้รองรับด้วยหรือไม่ เพราะถ้าหนึ่งห้องเรียนมีนักเรียน 50 คน มีแท็บเล็ต 50 เครื่องก็จะต้องมีจุดเสียบปลั๊กไว้สำหรับชาร์จไฟฟ้า 50 จุด”

หรือดังที่ นายภาณุวัฒน์ ขันธโมลีกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตพีซีโลคอลแบรนด์ในไทยให้วิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ว่า “สิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวังเมื่อเลือกแบรนด์ผู้ผลิตที่ไม่เคยทำตลาดในไทยมาก่อนคือคุณภาพและบริการหลังการขายสินค้า เนื่องจากสิ่งที่รัฐเลือกเป็นแค่การเลือกจากตัวอย่างสินค้าที่ผลิตเพียงไม่กี่เครื่องเท่านั้น ทั้งนี้ คุณสมบัติของแท็บเล็ตเมื่อเสียอาจต้องเป็นการเปลี่ยนเครื่องใหม่มากกว่าซ่อม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถถอดซ่อมได้เหมือนพีซีทั่วไป”

นี่ไม่นับรวมถึงประเด็นเก่าๆ ที่ว่า แล้วบุคลากรทางการศึกษาพร้อมแล้วที่จะตอบสนองนโยบายในการใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษาของรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น สุดท้ายแล้ว โครงการนี้อาจมิได้เกิดคุณูปการแก่วงการศึกษาไทยเลยแม้แต่น้อย หากเป็นเพียงแค่โครงการประชานิยมเพื่อหาเสียง และเป็นเพียงโครงการที่มิได้สนใจอะไรไปมากกว่าสิ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น