xs
xsm
sm
md
lg

คนกทม.กว่าครึ่ง ไม่มั่นใจ3.5แสนล.เอาน้ำอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คนกทม.กว่าครึ่ง ไม่มั่นใจ มาตรการบริหารน้ำอย่างเป็นรูปธรรม หวั่นใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านไม่โปร่งใส สอดคล้อง “มาร์ค” จี้ ปู พบ รบ.ญี่ปุ่น ควรเน้นความเชื่อมโยงการแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำ เกรงหลงทาง ชู 3.5 แสนล้านเป็นยาวิเศษ ไม่ตอบโจทย์นักธุรกิจ ส่วนภารกิจนายกฯหารือกับกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่น - ไทย หวังให้ช่วยเรียกความเชื่อมั่น

วานนี้ (8 มี.ค.55) ที่สภาวิชาชีพการบัญชี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการปฏิบัติภารกิจ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการน้ำ ว่า การกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อยืนยันหลักการสำคัญตามแผนของรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมีคำชี้แจงที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับแผนและการบริหารแผนที่ชัดเจนควบคู่ไปด้วย เพราะประเด็นที่นายกฯ ไปกล่าวสุนทรพจน์นั้น เป็นสิ่งที่ทางญี่ปุ่นรับทราบจากการติดตามผ่านสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว

ดังนั้นนายกฯหรือบุคคลในคณะควรจะได้ไปตอบข้อซักถามที่เป็นความสงสัยของนักลงทุนหรือผู้เกี่ยวข้องด้วย และไม่แปลกใจที่มีข่าวว่า ประธานเจโทร ยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อแผนของรัฐบาล เนื่องจากยังขาดความชัดเจน เพราะยังมีหลายอย่างที่ต้องติดตาม และไม่ว่าจะมีแผนดีอย่างไร ก็ต้องติดตามการบริหารแผนด้วยว่า

เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ รัฐบาลจึงต้องทำงานต่อเนื่องในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ เห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีนำเรื่องงบประมาณ 3.5 แสนล้าน เป็นประเด็นหลักการเรียก ความเชื่อมั่นนักลงทุน จะเป็นคำตอบทั้งหมดในการสร้างความเชื่อมั่น เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนไม่ได้ติดใจสงสัย ว่า ประเทศไทยจะมีเงินมาดำเนินโครงการต่างๆ. หรือไม่ เพราะมีความมั่นใจว่าสถานะการเงินของไทยมีความ

เข้มแข็ง ซึ่งในการพบกับนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ก็ไม่เคยมีใครสงสัยในเรื่องนี้ ดังนั้นเงินจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักเพราะนักลงทุนเชื่อว่ารัฐบาลไทยมีขีดความสามารถที่จะหาเงินได้อยู่แล้ว

“ความสำคัญอยู่ที่ตัวโครงการมีความสอดคล้องในการแก้ปัญหาหรือไม่ และสามารถบริหารได้ตามแผนหรือเปล่า เพราะหากไม่มีการเชื่อมโยงในภาพรวมและทิศทางการบริหารจัดการสนการระบายน้ำ ก็จะเกิดปัญหา ว่าต่างคนต่างทำในการกั้นน้ำ เช่นเดียวกับที่เกิดปัญหาในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น มากที่สุดคือปัญหามวลชนกดดันและรัฐบาลต้องยอมจำนนต่อมวลชนในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งหากยังมี ปัญหานี้เกิดขึ้นแม้จะทุ่มเงินจำนวนมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถบริหารได้ ทังนี้เห็นว่าในเรื่องของโครงการไม่น่าจะมี ปัญหาแต่ยังห่วงเรื่องพื้นที่รับน้ำ เพราะเกี่ยวข้องกับมวลชน ตนจึงเตือนมาโดยตลอดว่ารัฐบาลมักพูดว่ามีการ เตรียม พื้นที่รับน้ำไว้แล้ว ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงจะทำให้บริหารจัดการลำบาก”

วันเดียวกัน ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจเรื่อง "การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในสายตาคนกรุงเทพฯ" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,165 คน พบว่าประชาชน 52.3% ระบุว่า การสร้างความเข้าใจและชี้แจงรายละเอียดถึงแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลให้กับประชาชน ยังไม่ชัดเจน ส่วน 21.6% ระบุว่าชัดเจนแล้ว และ 26.1% ระบุว่ารัฐบาลยังไม่มีการสร้างความเข้าใจและชี้แจงรายละเอียดเลย

นอกจากนี้ ประชาชน 68.2% เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการ แผนการบริหารจัดการน้ำให้เห็นเป็นรูปธรรม ขณะที่ 31.8% เห็นว่ามีการดำเนินการ แผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเรื่องที่ประชาชนเป็นห่วงกังวลมากที่สุดเมื่อรัฐบาลเริ่มใช้เงินกู้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและการสร้างอนาคตประเทศของรัฐบาล คือ ความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ 31.9% รองลงมาคือ ดำเนินการล่าช้า ไม่ทันกับน้ำที่จะมารอบใหม่ 15.9% และยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน 11.1%

สำหรับความเชื่อมั่นที่มีต่อความสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาล หากเกิดภาวะน้ำท่วมขึ้นอีกในปีนี้ พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับค่อนข้างน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย 69.1% และมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด 30.9%

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อความสามารถบริหารจัดการภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาล หากเกิดภาวะภัยแล้งขึ้นในปีนี้ พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับค่อนข้างน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย 74.6% และมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด 25.4%

ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีเรื่องที่อยากบอกกับพี่น้องชาวต่างจังหวัดที่อาจจะต้องอยู่ในบริเวณพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) หรือ อยู่ตาม แนวทางไหล ของน้ำ (FLOODWAY) เพื่อป้องกันไม่ให้ น้ำท่วมกรุงเทพฯ มากที่สุด คือ เห็นใจ ขอให้อดทน สู้ต่อไป จะเป็นกำลังใจให้ 25.3% รองลงมาคือ ขอบคุณที่ต้องรองรับน้ำและเสียสละเพื่อคนกรุงเทพฯ 21.3% และขอให้เตรียมความพร้อมไว้ก่อนเช่น ยกบ้านให้สูง ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วม เตรียมช่องทางอพยพ และหาทางช่วยตนเองให้มากที่สุด ไม่ควรหวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว 13.8%

ขณะที่ภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เวลา 08.00 น.เวลาท้องถิ่น นายกฯและคณะพบหารือกับกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่น - ไทย ณ พระราชวัง Akasaka กรุงโตเกียว โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรี มีความรู้สึกยินดีที่นักการเมืองของไทยและญี่ปุ่นมีความใกล้ชิด อีกทั้งยังได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน และแนวคิดทางการเมืองกันอย่างสม่ำเสมอตลอดมา และเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์เช่นนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสามารถช่วยกันทำให้เกิดประโยชน์ เพื่อก่อให้เกิดเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคโดยรวมอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวว่า จะเดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว และจะไปเยี่ยม แรงงานไทย โดยหวังว่าการเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ดังกล่าวจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยและประชาคมโลกทราบถึงความสามารถในการฟื้นฟูประเทศของญี่ปุ่น ที่สามารถฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความพร้อมของญี่ปุ่นในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย

โดยหวังว่ากลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่น - ไทยจะช่วยสนับสนุน และเป็นกำลังใจแก่ประเทศไทย ด้วยการให้ความมั่นใจแก่ภาคส่วนต่าง ๆของญี่ปุ่นว่ารัฐบาลไทยมีแผนการดำเนินงานชัดเจนในการป้องกันอุทกภัย รวมทั้งขอขอเชิญชวนให้นักธุรกิจญี่ปุ่นไปลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

จากนั้นเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ที่พระราชวัง Imperial เพื่อถวายรายงานสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ความช่วยเหลือของญี่ปุ่นต่อเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย มาตรการป้องกันอุทกภัย และมาตรการฟื้นฟูเยียวยาภาคธุรกิจของรัฐบาลไทย ต่อมาเวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางโดยเครื่องบิน ไปเมืองเซนได จ.มิยากิ เพื่อเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ติดตามดูมาตรการฟื้นฟูความเสียหาย พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้ประสบภัย และแรงงานไทย ซึ่งไปทำงานโดย Visa ชั่วคราวประมาณ 100 ราย ในพื้นที่โรงงาน Nikon จากนั้น จะไปเยี่ยมศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้กำลังใจเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก

ส่วนช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงาน Thai Night เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเชิญชวนนักธุรกิจชั้นนำ และผู้ประกอบการนักธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ของญี่ปุ่น ให้เข้าลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน

ที่กระทรวงมหาดไทย นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวกรณีที่นาย ชวนนท์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาตั้งข้อสังเกตในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นและภารกิจของนายกเสร็จ สิ้นเวลา10โมงเช้าของวันศุกร์ แต่เหตุใดกำหนดการเดินทางกลับของนายกรัฐมนตรีมาถึงตอนตีสอง มีการพูดกระแนะกระแหนว่าไม่ทราบว่านายกเดินทางอ้อมไปอเมริกาก่อนหรืออย่างไรดูเหมือนว่า พรรคนี้จะว่างงานจัดถึงแม้นจะว่างงานอย่างไรก็ไม่น่าจะถึงขั้นฟุ้งซ่าน นั่งจับผิดนายกฯได้ทุกเรื่องต่อไปคงถึงขั้นต้องนั่งจับเวลาในเรื่องส่วนตัวของนายกฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น